นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
มักกฏสูตร ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร
จาก ... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 389
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 389
มักกฏสูตร ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร
[๗๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยากขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ภูมิภาคแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง. ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้น เห็นตังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง ส่วนลิงใดโง่ลอกแลก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ทั้งนั้นเอามือจับ มือก็ติดตัง
มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือออก มือข้างที่สองติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออก เท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ถึงความฉิบหายแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา. พรานแทงลิงตัวนั้นแล้ว จึงดึงออกทิ้งไว้ในที่นั้นเอง ไม่ปล่อยไป หลีกไปตามความปรารถนา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไปย่อมเป็นเช่นนี้แหละ.
[๗๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย อย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์. ก็อารมณ์อื่น อันมิใช่โคจรของภิกษุ คือ อะไร? คือกามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยโสตะ ... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ คือ อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ.
[๗๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ คืออะไร? คือ สติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ.
จบมักกฏสูตรที่ ๗.
อรรถกถามักกฏสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในมักกฏสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทุคฺคา แปลว่า ไปยาก.
บทว่า จารี แปลว่า เป็นที่เที่ยว.
บทว่า เลป โอฑฺเฑนฺติ ความว่า พวกพรานทำตังผสมด้วยยางต้นไทรย้อยเป็นต้น กำหนดว่า ที่นั้นๆ เป็นที่เดินประจำของพวกลิง ดังนี้ แล้ววางไว้ที่กิ่งต้นไม้เป็นต้น.
บทว่า ปญฺโจฑฺฑิโต ความว่า ลิงถูกตรึงในที่ทั้ง ๕ เหมือนสาแหรกอันตนสอดไม้คานเข้าไปแล้ว จับไว้ฉะนั้น.
บทว่า ถุน เสติ ได้แก่ นอนถอนใจอยู่.
จบอรรถกถามักกฏสูตรที่ ๗.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
มักกฏสูตร *
(ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภูมิภาคแห่งขุนเขา หิมพานต์ ที่ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ อันเป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิง และ มนุษย์ ณ ที่นี้เอง นายพรานนำตังมาดักลิง ลิงตัวที่ฉลาด ไม่ลอกแลก ก็ไม่ไปติดตังที่นายพรานวางไว้ หลีกหนีไปทางอื่น แต่ลิงที่โง่ ลอกแลก ก็ติดตัง ติดทั้งมือทั้งเท้าและปาก พยายาม จะออกจากตังที่ตนเองติด ก็ไม่สามารถออกไปได้ นอนทอดถอนใจ และในที่สุด ก็ถูกนายพรานฆ่าตาย นี้คือ ลิงที่เที่ยวไปในที่ที่ไม่ควรเที่ยวไป ย่อมประสบกับ ความพินาศเช่นนี้
เพราะฉะนั้น ภิกษุ จึง ไม่ควรเที่ยวไปในอารมณ์อันมิใช่โคจร (คือไม่ควรเที่ยวไป) ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเมื่อเที่ยวไปในอารมณ์เหล่านี้ มาร คือ กิเลส ย่อมได้โอกาสที่จะครอบงำกระทำอันตรายต่างๆ ได้ เพราะในขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ปล่อยให้เป็นกุศล แต่ควรเที่ยวไปในอารมณ์ที่เป็นโคจร คือ สติปัฏฐาน ๔ (ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม) ซึ่งเป็นอารมณ์ของบิดาตน [บิดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า] เพราะเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ มาร คือ กิเลส ย่อมครอบงำไม่ได้.
หมายเหตุ คำว่า มักกฏะ (มัก - กะ - ตะ) แปลว่า ลิง
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ
กามคุณ ๕
มาร ๕ [กิเลสมาร ... ตอนที่ ๒]
โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด
การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญขึ้นของกุศล
สภาพธรรมะต่างๆ เป็นสติปัฏฐาน
ก่อนจะถึง ... สติ-ปัฏฐาน !
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
โลภะ มีความยึดอารมณ์ ดุจลิงติดตัง จากมักกฏสูตร
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบาย มักกฏสูตร
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน และที่สำคัญ ไม่พ้นจาก ชีวิตของแต่ละคน ดังนั้น ลิงที่ไม่ฉลาด เป็นใคร ก็ไม่พ้นจากเราๆ ท่านๆ ที่ คือ ลิงที่ไม่ฉลาด ที่ถูกนายพราน คือ กิเลสมาร และ อวิชชา ความไม่รู้ ที่สร้างเครื่องล่อ ให้ลิง ติดตัง ทั้ง มือ เท้า และ ปาก ขยับไม่ได้ จนถูกนายพรานฆ่าตาย สัตว์โลกผู้ไม่มีปัญญา ถูก อวิชชาและกิเลสมาร ให้ติดใน กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ ติดข้องแล้วในชีวิตประจำวัน ถูกฆ่าแล้วในขณะนั้น ถูกฆ่าจากคุณความดี ให้เป็นอกุศล ในขณะนั้น ถูกกิเลสมาร ฆ่าคุณความดีไป และ ทำปัญญาให้ตกไปในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ทำให้เกิดความติดข้อง คือ ไม่เกิดปัญญาในขณะนั้น อารมณ์นั้น ก็ชื่อว่าไม่ควรเที่ยวไป แต่ แม้เป็น รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นกามคุณ ๕ แต่ สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงในสภาพธรรม ในขณะนั้น แม้จะเป็นกามคุณ ๕ แต่รู้ตัวกามคุณ ๕ ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็ชื่อว่า เป็นอารมณ์ที่ควรเที่ยวไป เพราะ เที่ยวไปในอารมณ์นั้นด้วยปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงครับ ดังนั้น เมื่ออ่านพระสูตรนี้ จึงไม่ใช่ การที่จะไม่ให้เห็น ได้ยิน หรือ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ในกามคุณ ๕ เพราะ เป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะเที่ยวไปในอารมณ์เหล่านี้และเกิดกิเลส เป็นธรรมดา แต่หนทางที่ถูกต้อง คือ การอบรม การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐาน ก็จะทำให้เข้าใจถูก และ เกิดสติปัฏฐาน ระลึกรู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่อารมณ์ที่เคยติดข้องที่เคยเป็นลิงติดตัง และถูกฆ่า แต่ก็อารมณ์เดียวกันนั้นนั่นแหละที่จากติดข้อง ในรูป เสียง .. สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นการรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็ไม่ใช่ลิงที่โง่ แต่เป็นลิงที่ฉลาดที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ติดกับดักของนายพราน เพราะ มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การติดตัง เป็นลิงโง่ก็เป็นธรรมดา แต่ก็สามารถเปลี่ยนจากลิงที่โง่ เป็นลิงที่ค่อยๆ ฉลาดได้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะเห็น เครื่องล่อของนายพรานตามความเป็นจริงและหลีกเลี่ยงด้วยปัญญา ด้วยการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ท่านที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ ขอเชิญร่วมสนทนา "มักกฏสูตร"
ร่วมกับ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.นี้ ตั้งแต่ 10.30น. - 16.00น.
ที่สุริวงค์บุ๊คเซ็นเตอร์เชียงใหม่ ครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ...
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ