การทำงานร่วมกับผู้อื่น
โดย ผึ้งหวาน  22 ต.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21947

การทำงานร่วมกับผู้อื่นเราควรยึดหลักอะไรเวลาเจอปัญหา



ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 23 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ครับ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูล เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่ใช่อกุศลธรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตราบใดที่ยังเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสอยู่ อกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และเป็นไปได้ในทุกเรื่อง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย บางครั้งเกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดขัดแย้งกัน ซึ่งก็คือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมนั่นเอง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ควรที่จะมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน ให้อภัยกัน เพราะต่างคนต่างก็มากไปด้วยอกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ พูดกันด้วยเหตุด้วยผล มีความอดทน และยอมรับตามความเป็นจริงในสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมที่จะแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป และควรที่จะได้พิจารณาว่าในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการมีชีวิต คือ เพื่อสะสมความดี และ อบรมเจริญปัญญา ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากที่ไม่เคยเข้าใจความจริง จากที่เต็มไปด้วยความมืดคือ อวิชชา ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้นก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี เปลี่ยนจากที่เคยอยู่ด้วยกิเลสประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นผู้อยู่ด้วยปัญญา และกุศลที่เพิ่มขึ้น ชีวิตเป็นสุขขึ้นด้วยปัญญา ปัญหาจะค่อยๆ น้อยลงเมื่อปัญญาเจริญขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว กิเลสเป็นต้นเหตุของทุกข์ เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง ปัญหามาจากจิตซึ่งเป็นไปกับด้วยกิเลสทั้งนั้น ปัญหาไม่ได้มาจากกุศลจิตเลย ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ใช้ธรรมะอะไรแก้ปัญหาความขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 23 ต.ค. 2555

ทาน การให้ พูดอ่อนหวาน ช่วยเหลือการงาน มีตนเสมอ ไม่แบ่งแยก ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 23 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจครับว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป จึงบัญญัติ สมมติเอาว่า เป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล เป็นคนนั้น คนนี้ เพราะฉะนั้น ใครที่ทำงาน เรา หรือ ธรรม เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ ขณะที่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ในชีวิตประจำวัน และในขณะที่ทำงาน ก็เป็นแต่เพียง จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น ขณะที่คิดนึก ในเรื่องราวของการทำงาน เรื่องราวของคนอื่น และเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญว่าเป็นปัญหา ก็เป็นการคิดนึกที่ไม่ใช่เราที่คิดนึก แต่เป็นจิตที่ทำหน้าที่คิดนึก

ดังนั้น การทำงาน ก็ไม่พ้นจากการทำหน้าที่ของจิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเป็นกุศลจิต มีความเมตตา มีความเข้าใจถูก เป็นต้น ขณะนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหามีเมื่ออกุศลเกิด ดังนั้น เพราะไม่เข้าใจความจริง ไม่มีปัญญา ปัญหาจึงมี เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ใคร หรือ คนอื่น แต่อยู่ที่จิต จิตเป็นอกุศล ปัญหาจึงเกิดขึ้น แต่ถ้าจิตเป็นกุศล ไม่ว่า คนอื่น สิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร มากระทบอย่างไร ก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวไปด้วยจิตที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะที่ทำงาน และแม้ไม่ได้ทำงาน ก็มีการทำงานของสภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นปกติ แต่จะเป็น กุศลจิต หรือ อกุศลจิต เท่านั้น

การอยู่ร่วมกับคนอื่น ดูเหมือนมีคนอื่นให้อยู่ร่วมด้วย แต่ในความเป็นจริง อยู่ร่วมกับใจของตนเองในแต่ละขณะจิต และปกติในชีวิตประจำวัน อยู่ร่วมกับจิตประเภทอะไร ก็ด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก ธรรมที่อยู่ร่วมกับจิต คือ เจตสิก ซึ่งส่วนมากก็อยู่ร่วมกับเจตสิกที่ไม่ดี มี ความโกรธ ความโลภ ความไม่รู้ โดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหา ไม่ได้แก้ที่คนอื่น แต่แก้ที่ใจของตนเอง เพราะอยู่ร่วมด้วยกับกิเลส แล้วธรรมที่จะแก้ปัญหาที่เป็นอกุศลได้ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเป็นสำคัญ ซึ่งความเข้าใจถูก คือ ปัญญาที่คิดถูกต้องเมื่อเจอปัญหา คือ เป็นกุศลแทนอกุศล ปัญหาก็หมดไปในขณะนั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอย่างยาวนานและกว้างขวาง เพราะฉะนั้น พระธรรมทุกบท ไม่ว่าพระธรรมบทใด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลและปัญญาและละคลายกิเลส ก็ควรศึกษาทั้งนั้น ครับ จึงไม่ได้จำกัด ที่บทใด ส่วนใด ที่อ่าน ศึกษา ฟังเข้าใจ ก็ควรศึกษาส่วนนั้น

ปัญญา ความเห็นถูก จึงเป็นธรรมที่จะเป็นเครื่องดำเนินชีวิตที่ดี ที่จะทำให้ คิดถูก แก้ปัญหาถูก คือ ขณะเป็นกุศล ก็แก้ปัญหาไม่ให้เป็นอกุศลในขณะนั้นด้วยปัญญา ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอย่างยาวนาน จึงไม่มีใครที่จะสามารถบังคับที่จะให้เลือกเอาธรรมบทใดมาใช้ เพราะหากปราศจากความเข้าใจถูก ปัญญา ก็ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ เพราะกุศลจิตไม่เกิด ครับ ดังนั้น แทนที่จะหาหลักธรรมบทใดมาใช้ ก็ควรสะสมการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้มาก เพราะเมื่อได้มีโอกาสได้ฟังในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะทำให้คิดถูกต้องเพิ่มมากขึ้น เมื่อเจอเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาพระธรรม ย่อมระลึกไปในทางที่ถูก ย่อมแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เพราะปัญหา คือ อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในใจแต่ละคน การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 24 ต.ค. 2555

ถ้าพิจารณาว่าทุกอย่างล้วนเกิดตามเหตุปัจจัย ... แม้แต่ปัญหา จะเกิดก็เกิดเป็นธรรมดา เกิดแล้วดับ ที่ปัญหาไม่ดับเพราะยังคิดถึงปัญหานั้นอยู่ ... เพื่อนร่วมงานและตัวเราเป็นเพียงปุถุชน ผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ... การกระทบกระทั่งเป็นเรื่องธรรมดา ... เวลาเราทำผิด ก็ต้องการให้เขาให้อภัย ... ถ้าเขาทำผิดก็ต้องการ การให้อภัยเช่นกัน


ความคิดเห็น 6    โดย pornchai.s  วันที่ 24 ต.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21947 โดย ผึ้งหวาน

การทำงานร่วมกับผู้อื่นเราควรยึดหลักอะไรเวลาเจอปัญหา

ขันติ - วิริยะ - สติ - ปัญญา ... ฯลฯ


ความคิดเห็น 7    โดย khundong  วันที่ 27 ต.ค. 2555

เป็นการยากเหมือนกันครับ เพราะเหตุว่าไม่เกิดกับตัวเอง คงไม่เข้าใจเท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเอง ดั่งเช่น การเข้าใจธรรม อธิบายเท่าไหร่ก็ ไม่อิน ไม่เก็ท ต้องค่อยๆ ศึกษาเข้าใจด้วยตนเองตามลำดับขั้นจริงๆ

ผมก็เจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ครับ ถึงขนาดเป็นจำเลยสังคมเลย ... แต่กว่าจะเข้าใจและผ่านพ้นเวลาขณะนั้นมาได้ก็แสนสาหัส ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปและได้ศึกษาพระธรรมมาตลอด (ดีนะครับ ความทุกข์เกิดเร็ว ก็จะมีเวลาเข้าใจธรรมเร็ว แต่ถ้าเราได้ศึกษาธรรมไว้ล่วงหน้าน่าจะดีกว่าครับเมื่อเจอเหตุการณ์คับขันก็สามารถรู้เท่าทันและดับได้เร็ว)

วิธีที่ผมใช้คือ การละ และไม่สำคัญตน โดยศึกษาธรรมที่บ้านธรรมะให้เข้าใจอย่างไม่คาดหวัง ศึกษาอย่างสบายๆ เราหนีไปไหนไม่ได้ ถ้าเราหนีไปหรือย้ายสถานที่ ถามว่ามันเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือเปล่าครับ เราก็จะไปเจอกับปัญหาเดิมๆ อย่างแน่นอน เพราะเราสะสมสันดานที่จะไม่แก้ปัญหาไว้ และที่สำคัญมันก็เป็นอย่างนี้ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ควรศึกษา ทำความเข้าใจให้เห็นถูกตามความเป็นจริง ว่าทุกขณะไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรเลยจริงๆ แก้ปัญหาที่เกิดให้ได้ตามธรรมะ เรื่องของผมหลังจากนั้นสบายมากครับ พบใคร เจอใครเราก็ไม่โกรธเขาเลยแม้เขาจะทำอะไรกับเราไว้อย่างมากมาย อยู่เป็นปกติ ทำหน้าที่ของมนุษย์ในชาตินี้ให้สมบูรณ์โดยไม่ทำร้ายตัวเองให้มีกิเลส คือรักตัวเองนั่นเองครับ

การละตามพระธรรม ให้ละอกุศล ๑๒ ให้ได้ครับ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ (ไม่ง่ายจริงๆ )

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย tookta  วันที่ 27 ต.ค. 2555

เรารู้สึกชอบความคิดเห็นที่ 7 จังเลย อ่านแล้วมันรู้สึกถูกใจจังเลย ขอขอบคุณนะคะที่แสดงความคิดเห็นที่ดีๆ นี้มา


ความคิดเห็น 9    โดย tookta  วันที่ 1 พ.ย. 2555

เราคิดว่าในการทำงานร่วมกับคนอื่น ก็จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะคนเรามีนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นก็ทำงานตามหน้าที่ให้ดี และก็ต้องไตร่ตรองให้ดีในการงานที่เราทำ จะได้ไม่มีผลกระทบกับผู้อื่น แต่ถ้าเราตั้งใจทำงานได้ดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดก็ต้องทำใจนะคะ (เพราะว่าเราทำดีที่สุดแล้ว)