ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๘๑] สุพฺพจ
โดย Sudhipong.U  19 ก.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 48509

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สุพฺพจ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สุพฺพจ อ่านตามภาษาบาลีว่า สุบ - พะ - จะ มาจากคำว่า สุ (โดยง่าย) วจ (ว่ากล่าว) แปลง เป็น แล้ว ซ้อน พฺ หลัง สุ จึงรวมกันเป็น สุพฺพจ เขียนเป็นไทยได้ว่า สุพพจะ แปลว่า บุคคลผู้ว่าง่าย, บุคคลผู้ที่ผู้อื่นว่ากล่าวโดยง่าย แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี ที่เห็นคุณของความดี น้อมไปในทางที่ถูกที่ควรและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่าง่ายต่อการที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม น้อมรับคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว ย่อมไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เพราะมีธรรมฝ่ายดี คือกุศลธรรมเกิดขึ้น น้อมรับในคำพร่ำสอนด้วยความเคารพ จึงหมายรู้ได้ว่า เป็นบุคคลผู้ว่าง่าย

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปุสสเถรคาถา แสดงความเป็นจริงของคำว่า สุพฺพจ (บุคคลผู้ว่าง่าย) ดังนี้

บทว่า สุพฺพจา ได้แก่ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ คือประกอบพร้อมด้วยธรรมอันกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อธิบายว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในคำสั่งสอนของครูทั้งหลาย คือมีปกติรับโอวาทโดยเบื้องขวา


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง พระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ ด้วยทรงมีพระมหากรุณา เพื่อให้สัตว์โลกได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เพื่อที่สัตว์โลกจะได้ขัดเกลากิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ และอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นเป็นปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศคำสอนของพระองค์นั้น เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกโดยตลอด แม้ว่าผู้นั้นจะอยู่แสนไกลเพียงใด แต่ถ้าเขาสามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ ก็เสด็จไปโปรดแม้จะมีเพียงบุคคลเดียวก็ตาม นี้ก็แสดงถึงพระมหากรุณาของพระองค์ที่ทรงมีต่อสัตว์โลก เพราะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างสูงสุด คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก

ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปตามใจชอบได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แม้แต่ความเป็นบุคคลผู้ว่าง่าย ก็เป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งต้องเป็นธรรมฝ่ายดีเท่านั้น ในขณะที่มีการใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาด้วยปัญญาเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก ละเว้นในสิ่งที่ผิด เป็นผู้ว่าง่ายต่อพระธรรมคำสอน ว่าง่ายต่อการที่จะเป็นกุศล และเมื่อได้รับคำพร่ำสอนเป็นประโยชน์เกื้อกูล เตือนให้เห็นโทษของอกุศล เตือนให้เห็นคุณของกุศล ก็น้อมรับในคำพร่ำสอนนั้น แล้วน้อมประพฤติตาม

ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะยากสำหรับความเป็นบุคคลผู้ว่าง่าย แต่ต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ท่านเป็นผู้ว่าง่าย หรือ ว่ายาก? ถ้าเป็นผู้ว่าง่าย ก็ต้องว่าง่ายต่อการเจริญกุศล แต่ถ้าว่ายากก็ยากเหลือเกินที่จะเห็นคุณของกุศล เพราะเหตุว่าถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ประกอบด้วยโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ประกอบด้วยมานะ คือความถือตน ความสำคัญตน หรือประกอบด้วยความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่มีเหตุผลอย่างไรก็ยังเป็นผู้ว่ายากไม่สามารถที่จะกระทำตามได้ นั่นก็เพราะอกุศลธรรมที่ได้สะสมมา ซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป การที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จะต้องรู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง อกุศลแรกที่จะต้องดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ว่าในวันหนึ่งๆ อกุศลธรรมอื่นก็เกิดปรากฏมากมาย ซึ่งควรที่จะได้เห็นชัดว่าอกุศลธรรมทั้งหลายจะต้องถูกขัดเกลาจนกว่าจะสามารถดับได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เริ่มเป็นผู้ว่าง่ายขัดเกลาตั้งแต่ในขณะนี้ นับวันก็จะว่ายาก แต่ถ้าเริ่มอ่อนโยนเป็นผู้ที่ว่าง่ายน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ก็จะทำให้เป็นผู้ที่พร้อมในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น

บุคคลผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมจะเป็นผู้มีความเจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ เป็นต้น ล้วนเป็นผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วทั้งนั้น จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย บุคคลผู้ว่าง่ายย่อมเป็นผู้มีที่พึ่ง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก เป็นผู้ที่ไม่รับฟังคำสอน และจะมีความโกรธขัดเคืองไม่พอใจ จะทำให้เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไปจากพระธรรม หรือว่าอาจจะจากไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ ซึ่งก็จะไม่เป็นเหตุให้ขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่าไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่กล่าวสอนหรือพร่ำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่เห็นคุณของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลทุกคำ ขณะที่เป็นผู้ว่ายากนั้น ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมประการต่างๆ นั่นเอง บุคคลผู้ว่ายาก จะไม่มีที่พึ่งเลย

เพราะฉะนั้นแล้ว ขณะนี้พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยังดำรงอยู่ ยังไม่อันตรธานไป ก็เป็นโอกาสดีที่บุคคลผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของความเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่จะได้ฟังได้ศึกษา ได้สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป การมีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และอยู่ในช่วงที่มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีศรัทธาที่จะฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เป็นโอกาสที่หายาก ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะ เป็นบุคคลผู้ว่าง่ายที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ มีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วย เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะกิเลสมีมาก ถ้าไม่ขัดเกลาด้วยกุศลธรรม นับวันกิเลสมีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะประคับประครองให้ตนเองเป็นผู้มีความมั่นคงในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาต่อไป พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิต เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งหลายทั้งปวง

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ