มีคนบอกว่า ไม่ควรกล่าวสอนธรรมะใครเพราะเราไม่ได้เป็นพระ
โดย Biggy  7 ก.พ. 2557
หัวข้อหมายเลข 24431

พอดีนำไฟล์ธรรมะของบ้านธัมมะไปแชร์ให้เพื่อนๆ ฟัง แต่เขาชอบบอกว่า ทำไมไม่ฟังธรรมจากพระสงฆ์โดยตรง ทำไมมาฟังจากฆราวาส แล้วยังเป็นผู้หญิงอีกด้วย ดูไม่น่าเชื่อถือเท่าพระสงฆ์ที่สอนธรรม ดิฉันควรจะชี้แจงอย่างไรดีคะ ขอความกรุณาช่วยอธิบายทีค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นธรรมกถึก และ ความน่าเชื่อถือไม่ใช่อยู่ที่ชื่อเสียงโด่งดัง และ ความมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็ไม่ได้วัด คุณธรรม และ ความถูกต้อง หากแต่คำสอนที่ออกจากการกล่าว นั้น เป็นสำคัญ หากแสดงพระธรรมได้ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยดี และ เป็นไปตามลำดับ พร้อมๆ กับการมีคุณธรรม ปัญญาที่เกิดจากความเห็นถูก ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมกถึกได้ และ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะ การมีเหตุผล มีผลแสดงธรรม ธรรมที่ถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่เพศบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็น เพศชาย และ เพศหญิง ดังนั้น เรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ เรื่องที่สำคัญ คือปัญญา เพราะ ปัญญาไม่ได้เลือกเกิดว่าจะเป็นเพศชาย และ เพศหญิง และ ความน่าเชื่อถือ ก็ไมได้อยู่ที่สมมติว่า ชาย หรือ หญิง แต่ อยู่ที่คำสอน และคุณธรรม ของผู้นั้นเป็นสำคัญ ความเป็นชายจะทำอะไรได้และ เพศ บรรพชิตจะทำอะไรได้ หากไม่มีปัญญา และ ไม่ได้มีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง และ ความเป็นหญิงย่อมประเสริฐ หากมีปัญญา เป็นสำคัญ ครับ ดังนั้น ก็สามารถอ่าน ศึกษาพระธรรม จากใครก็ได้ ที่กล่าวธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

และที่น่าพิจารณา คือ เราฟังอะไร ฟังบุคคล เลือกบุคคลที่กล่าว หรือ ฟังเนื้อหาสาระที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาที่เนื้อหาสาระว่า ถูกต้อง ได้รับประโยชน์หรือไม่ หรือ พิจารณาคนที่พูด แล้ว จึงไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพราะฉะนั้น พระธรรมจึงเป็นเรื่องของเหตุผล ที่ควรรับฟังสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ใช่ พิจารณาตัวบุคคลที่พูด ก็จะไม่ได้รับประโยชน์เพราะ ไม่ฟัง เพราะ คนพูดไม่น่าเชื่อถือ

ซึ่งหากได้อ่านประวัติ ในสมัยพุทธกาล มี คฤหัสถ์ที่เป็นสตรีมากมาย และเป็นธรรมกถึกด้วย ที่เชี่ยวชาญ มีปัญญา และเป็นพระอริยบุคคล ทั้ง คฤหัสถ์ และ บรรพชิตก็ฟังธรรมจากท่าน คือ ท่านขุขชุตตราอุบาสิกา ผู้เป็นเลิศในทางการแสดงธรรมเป็นธรรมกถึก ครับ

จะเห็นนะครับว่า ผู้ที่พิจารณาธรรมเป็นหลัก ย่อมพิจารณาเนื้อหาที่ฟัง ไม่ใช่คนที่กล่าว ในปัจจุบัน สำหรับกระผมแล้ว ก็ได้ มีโอกาสศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงดีแล้ว โดยได้ผู้ที่ถ่ายทอด อธิบาย จากผู้มีปัญญามากคือ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่กล่าวธรรมได้ถูกต้อง ตามลำดับสมควรที่จะกล่าวได้ว่าเป็นธรรมกถึก ส่วนชื่อเสียงนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญว่าผู้ใดทำให้เกิดปัญญา ความเห็นถูกเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ครับ

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 439

หญิงผู้มีปัญญาก็เป็นบัณฑิตได้

เทวดาผู้สถิตอยู่บนยอดเขาที่ทิ้งโจร เห็นกิริยาแม้ของชนทั้งสองนั้น จึงให้สาธุการแก่หญิงนั้น แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

"บุรุษนั่น เป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน ก็หาไม่,

แม้สตรี ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้

ในที่นั้นๆ ."

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เรื่อง ปัญญา กับความเป็นสตรี

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 88

ข้อความบางตอนจาก โสมาสูตร

เชิญคลิกอ่านที่นี่

[ปัญญา กับความเป็นสตรี สคาถวรรค]

จาก ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่า ผู้ที่ยังยึดถือว่ามีเรา มีชาย มีหญิง ย่อมไม่ได้ประโยชน์ ย่อมไม่ได้ปัญญา เพราะ สำคัญผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล มีชายและหญิง แต่ ปัญญาเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่ว่า ชาย หรือ หญิง ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 7 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ความเป็นจริงของธรรม ไม่เคยเปลี่ยน ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ควรที่จะได้กล่าวความเป็นจริงของธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ยิ่งเปิดเผย ยิ่งกล่าวความจริง ความจริงก็ยิ่งเปิดเผย เป็นประโยชน์ คือความเข้าใจถูกเห็นถูก ของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ควรที่จะกล่าว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะไม่มีประโยชน์เลย มีแต่จะเบียดเบียนคำจริงให้หมดสิ้นไป และเพิ่มความเห็นผิดให้มีมากขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 7 ก.พ. 2557

ปัญญาไม่จำกัดเพศ ผู้หญิงก็มีปัญญาได้ มีสาวกผู้หญิงมากมายที่มีปัญญาในพุทธกาล ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย j.jim  วันที่ 7 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ขอนอบน้อม  วันที่ 7 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย nopwong  วันที่ 8 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย swanjariya  วันที่ 31 มี.ค. 2557

อนุโมทนาขอบคุณมากค่ะ