(ญาติปลิโพธ)
พระวินัยปิฎกก็ได้กล่าวถึงองค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยากไว้ ๕ อย่าง และองค์ของภิกษุผู้อาพาธที่พยาบาลได้ง่าย ๕ อย่าง นอกจากนั้นก็ยังมีข้อความถึงภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง และผู้เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง
ซึ่งถ้าท่านทราบไว้บ้าง ก็จะเห็นได้ว่าสามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้
สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลผู้ป่วยไข้ ๕ อย่างนั้นก็คือ
ประการที่ ๑ ไม่สามารถเพื่อประกอบยา คือ ไม่ทราบว่าจะให้ยาอะไรแก่โรคอะไร
ประการที่ ๒ ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง ก็อาจจะเอาของแสลงไปให้ และเอาของที่ไม่แสลงกลับไป ซึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อาพาธ หรือว่าผู้ป่วยไข้
ประการที่ ๓ ผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลนั้น เป็นผู้ที่เห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา
มีความมุ่งหวังเพื่อสิ่งหนึ่งประการใดแล้ว ก็ย่อมจะไม่พยาบาลด้วยความเต็มอกเต็มใจ หรือว่าไม่ใช่ด้วยความเมตตาจิตอย่างแท้จริง การพยาบาลนั้นก็พยาบาลอย่างไม่เต็มที่
ประการที่ ๔ ผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลนั้น ย่อมเกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ อาเจียนออกไป
ประการที่ ๕ ไม่สามารถชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ
นี่เป็นสิ่งสำคัญในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าสิ่งที่จะมีประโยชน์ยิ่ง คือ ธรรมีกถา คำพูดในธรรมที่จะอุปการะให้คนไข้มีจิตใจที่สบาย เกิดเป็นกุศลจิต ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ได้ประโยชน์ทั้งร่างกายและจิตใจด้วย การเจริญสติปัฏฐานย่อมเจริญได้ทั้งผู้ที่อาพาธเป็นไข้และผู้ที่พยาบาลด้วย มีการกล่าวธรรมหรือแสดงธรรมีกถาให้บุคคลผู้อาพาธนั้นมีใจอาจหาญร่าเริงในธรรม ไม่ใช่แต่รักษากาย แต่ว่ารักษาใจด้วย
อย่าให้ความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไขว้เขว ละเลยการที่จะพิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ และก็มุ่งหวังคอยว่า เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจ เพราะว่าอริยสัจ คือ การรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในขณะที่กำลังเจริญเหตุ เพื่อให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ตรงต่อเหตุและผล เวลาที่ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ท่านเป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ท่านเป็นผู้ที่ละอคติได้ ท่านไม่หวั่นไหวไปเพราะฉันทาคติ เพราะโทสาคติ เพราะโมหาคติ เพราะภยาคติ ท่านไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ที่ละอคติ แต่ท่านก็มีการสงเคราะห์ญาติตามควร ซึ่งถ้าท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจ อาจจะอ่านพระไตรปิฎก แล้วก็คิดเข้าใจผิด ว่า ท่านยังมีอคติ คือ ยังมีความลำเอียงเพราะฉันทาคติบ้าง ในความเป็นญาติ หรือเพราะโทสาคติ เพราะโมหาคติ เพราะภยาคติ
แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านจะไม่หวั่นไหว และผู้ที่ศึกษาธรรมจะต้องเข้าใจเหตุผลให้ถูกต้องด้วย ที่กล่าวเรื่องนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า บางท่านอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคเองทรงมีอคติ ฉันทาคติในหมู่พระญาติ แต่ถ้าท่านเข้าใจว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านละอคติ ท่านเป็นผู้ตรงต่อเหตุต่อผล ต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าบุคคลที่เป็นญาติมีอุปการะกัน ก็จะต้องสงเคราะห์ตามควรแก่หน้าที่ด้วย แต่ไม่ใช่เพราะอคติ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา 59