สนทนาปัญหาสารพัน : สหายธรรมต่างชาติกับการปฏิบัติธรรม
คุณแอน มาแชล (Ann Marshall) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๙๒๙ คุณโรดริโก้ (คุณโรตี) อัลดาน่า (Rodrigo Aldana) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๔๑๘๑ และคุณสุขิน นฤหล้า (Sukinderpal Singh Narula) สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๑๐๙๘ ทั้ง ๓ ท่านมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในมุมมองของชาวต่างชาติ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนและหลังที่ได้พบกับพระธรรมคำสอนที่ถูกต้องตามที่ทรงแสดงไว้ ในรายการสนทนาปัญหาสารพัน ตอน สหายธรรมต่างชาติกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เต็มไปด้วยข้อคิดที่น่าพิจารณา เพื่อความเข้าใจที่มั่นคงในหนทางของการศึกษาของตน ของตน เป็นอย่างยิ่ง โปรดคลิกชมได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้...
ข้อความบางตอนจากการสนทนา :
ผศ.อรรณพ วันนี้ รายการสนทนาปัญหาสารพัน มีชาวต่างชาติ ซึ่งท่านได้ศึกษา ได้ผ่านประสบการณ์ เกี่ยวกับความสนใจพระพุทธศาสนา จนได้พบกับพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ท่านจะมาร่วมสนทนาในรายการ ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อธรรมะที่ท่านได้ไตร่ตรองและอยากจะนำมาสนทนากัน ซึ่งในวันนี้ก็มีคุณแอน มาแชล (Ann Marshall) จากแคนานดา คุณโรดริโก้ (คุณโรตี) อัลดาน่า (Rodrigo Aldana) จากเม็กซิโก และคุณสุขิน นฤหล้า (Sukinderpal Singh Narula) ซึ่งท่านก็อยู่เมืองไทยแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่ได้เคยมาสนทนากับเรา และได้ให้ความเข้าใจในหลายๆ ประเด็น ซึ่งตอนนี้ก็เป็นโอกาสของสหายธรรมชาวต่างชาติ ที่จะได้ร่วมสนทนากัน คุณสุขินคิดว่า เราจะสนทนาอะไรกันดีครับ ที่จะเป็นประโยชน์
คุณสุขิน ความต่างระหว่างการเข้าใจผิด กับเข้าใจถูก ปฏิบัติผิด กับปฏิบัติถูก ผมว่าสำคัญมาก
ผศ.อรรณพ ความต่างกัน ระหว่างความเข้าใจถูก กับความเข้าใจผิด การปฏิบัติถูก กับแนวทางปฏิบัติที่ผิด เป็นประเด็นสำคัญที่สุด
คุณสุขิน ใช่ครับ เพราะมันง่ายมากที่จะเข้าใจผิด แล้วก็ปฏิบัติผิดๆ แต่ยากมากที่จะเข้าใจถูก แล้วปฏิบัติถูก
ผศ.อรรณพ เป็นการกล่าวเกริ่นเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก คุณสุขินทำไมถึงกล่าวว่า การเข้าใจผิดและปฏิบัติผิด จึงง่าย แล้ว การเข้าใจถูก และจะนำไปสู่การ ปฏิปัตติ หรือ ปฏิบัติที่ถูก จึงยาก
คุณสุขิน ก็ธรรมะลึกซึ้งมาก ความจริง ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถรู้เองได้ ไม่รู้เองก็มีแต่อวิชชาและตัณหา และมีความเห็นผิด ที่เข้าใจผิด เรื่องชีวิต เรื่องสภาพธรรม แล้วเวลาที่ได้ยินธรรมะ เพราะความสะสมของความไม่รู้มีเยอะมาก การที่จะเข้าใจนี่ ก็ต้องค่อยๆ เป็นไป เป็นอะไรที่ฟังครั้งหนึ่งไม่พอ สองครั้งไม่พอ ต้องฟังไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ชาติเดียว ไม่ใช่สองชาติ แต่ว่าเป็นตามที่พระอานนท์ถามพระผู้มีพระภาคฯ ว่า ความสำคัญของการฟังคือมากน้อยแค่ไหน ก็คือ จิรกาลภาวนา หมายถึง เป็นเวลายาวนานมากๆ ไม่ต้องนับเลยว่านานแค่ไหน
ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น คุณสุขินก็ทั้ง ตั้งประเด็น แล้วก็ให้แนวคิด ว่าการที่จะเข้าใจผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด ไปทำผิด นั้นง่าย เพราะว่าสะสมความไม่รู้ ความเห็นผิด และความติดข้องต้องการมานานมาก จึงเป็นไปเช่นนั้น
คุณสุขิน และแต่ละคนที่คิดว่า ไม่ต้องฟัง ไปปฏิบัติ (เลย) ก็เพราะความไม่รู้ กับความติดข้องนี้แหละ คนที่รู้ จะเห็นคุณค่าของการฟัง และฟังต่อ ไม่สิ้นสุด
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ว่า ถ้าไม่รู้ความต่างของความเห็นถูก กับความเห็นผิด ไม่รู้ความต่างของการไปปฏิบัติผิด กับการปฏิบัติถูก ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่ได้มาพบพระพุทธศาสนาเลย เพราะไม่เข้าใจ ก็เป็นประเด็นที่ควรอย่างยิ่งที่จะได้สนทนากัน
ท่านอาจารย์ครับ นอกจากที่คุณสุขินได้กล่าวว่า เพราะสะสมความไม่รู้ ความเห็นผิด และความติดข้องมา จึงไหลไปที่จะเป็นเช่นนั้น การที่คนส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะไปปฏิบัติที่ผิด เลย ไปปฏิบัติอย่างนี้มากกว่าที่จะสนใจที่จะเข้าใจ ก็เป็นปัญหามานาน แล้วก็กำลังเป็นปัญหาอยู่ แล้วก็จะขยายวงกว้างต่อไปเรื่อยๆ เช่น จำนวนสำนักปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ก็กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ยากมาก ที่คุณสุขินบอกว่าพระพุทธศาสนายากและลึกซึ้ง แล้วจะเกื้อกูลกันได้เพียงใดครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ก็ "ต้องเข้าใจถูกตั้งแต่คำแรก" พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา คือ อะไร?
ผศ.อรรณพ คุณแอนช่วยสนทนาตรงนี้ด้วยนะครับ ว่า ก่อนที่จะได้เข้าใจ ในทรรศนะ หรือในความเห็น หรือในมุมมองของชาวต่างชาติ เรามองพระพุทธศาสนา ว่าอย่างไร โดยเฉพาะต่างชาติที่สนใจศาสนา อย่างเช่น คุณแอน มองไหมว่า พุทธศาสนาคือการที่ต้องไปสำนักปฏิบัติ เป็นส่วนสำคัญอย่างนั้นเลยหรืออย่างไร?
คุณแอน ตอนก่อนที่ดิฉันจะมาที่นี่ ไม่เคยคิดว่า ศาสนาพุทธคืออะไร ไม่เคยคิด ตอนที่รู้ว่าจะมาเมืองไทย เป็นอาสาสมัคร ต้องไปดูแผนที่ ว่าเมืองไทยอยู่ไหน? ดิฉันไม่รู้เรื่องจริงๆ ค่ะ
ผศ.อรรณพ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเมืองไทยอยู่ตรงไหน อยู่ในส่วนไหนของโลก?
คุณแอน รู้ว่าอยู่เอเซียค่ะ แต่ต้องไปดูแผนที่ค่ะ แต่สนใจ (ที่จะ) ไป เพราะว่าเคยดูรูปคนไทย รูปกรุงเทพฯ มีรูปคนไหว้พระ มีพระหลายองค์ มาที่นี่ จริงๆ ก็ไม่รู้เรื่องว่าศาสนาพุทธคืออะไร เคยได้ยินว่ามีคนนั่งปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้เรื่อง ก็อาจจะรู้ว่าคนที่นับถือศาสนาพุทธทำ แต่ไม่แน่ใจ เห็นมีคนเยอะไปวัดบ่อยๆ แต่ก็ได้ยินว่าเมืองไทยมีคนนั่งปฏิบัติธรรมเยอะ แต่ไม่ได้ยินคำว่า อภิธรรม หรือ อนัตตา อนิจจา ทุกข์ อยู่ที่นี่เกือบสองปีก็ไม่เคยได้ยิน ตอนนั้นดิฉันอายุ ๒๑ ปี ที่มาที่นี่ ที่แคนาดา ที่อเมริกา มีคนน้อยที่สนใจศาสนาพุทธ เดี๋ยวนี้มีคนมาสนใจ เพราะว่ามีสำนักปฏิบัติธรรม มีเยอะที่โน่น ตอนนี้เขาคิดว่า (การปฏิบัติธรรม) เป็นศาสนาพุทธ แต่เขาไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ศาสนาพุทธคืออย่างไร
ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ตอนที่ชาวต่างชาติ เอาเฉพาะชาวต่างชาติที่สนใจพุทธศาสนา ที่เขาไม่สนใจก็ไม่กล่าวถึง แม้ชาวต่างชาติที่สนใจพุทธศาสนา ก็จะมองว่าพุทธศาสนา คือการไปสำนักปฏิบัติ พูดอย่างนี้จะถูกไหม? เพราะเขายังไม่ได้เข้าใจ
คุณแอน คิดว่าเขาไปสำนักปฏิบัติก่อน ตอนไปสำนักปฏิบัติก็คิดว่าจะรู้จักศาสนาพุทธได้
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ไปสำนักปฏิบัติ รู้พระพุทธศาสนา?
คุณแอน ยังไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้เลย ได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนา ที่ไปสำนักปฏิบัตินี่ รู้จักพระพุทธศาสนาก่อน หรือเปล่า?
คุณแอน ดิฉันหรือคะ? ไม่ค่ะ ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ได้ยินคำว่า พระพุทธศาสนาหรือเปล่า?
คุณแอน ค่ะ ได้ยินค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้อะไรเลย แล้วไปสำนักปฏิบัติ
คุณแอน ค่ะ ใช่คะ
ผศ.อรรณพ ถึงได้กล่าวเรียนสนทนาเกริ่นนำครับท่านอาจารย์ ว่าไม่ใช่แค่คนไทย แม้กระทั่งเป็นชาวต่างชาติ ที่เขาได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนา แล้วเขาก็คิด เขาก็ต้องคิดว่า ไปสำนักปฏิบัติ คือ ให้เห็นถึงการแพร่หลายของความเข้าใจไม่ถูกต้อง แม้แต่ชาวต่างชาติก็มองว่า พุทธศาสนาก็คือการไปสำนักปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ค่ะ สำหรับชาวต่างชาติซึ่งไม่รู้จักพระพุทธศาสนา แต่สำหรับคนไทย ที่ว่ารู้จักพระพุทธศาสนา แต่ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ก็ไปสำนักปฏิบัติ ก็เหมือนกันใช่ไหม?
ผศ.อรรณพ ใช่ครับ ก็คือ ใครก็ตามที่สนใจพุทธศาสนา แต่ไม่เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร ก็จะคิดว่าพุทธศาสนาคือการไปสำนักปฏิบัติ ไปเริ่มต้น เป็นอย่างนี้
คุณสุขิน ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะ แล้วเกิดมาในศาสนาใดก็ตาม เราก็มีความเชื่อของเราอยู่แล้ว ตามที่เกิดมา แล้วก็ตามศาสนานั้นสอนอย่างไร บอกว่าอย่างนี้เป็นทางที่ถูก เราก็คล้อยตามอยู่แล้ว เพราะเราไม่รู้ และเราสะสมความเชื่อผิดๆ มาเยอะ เพราะฉะนั้น เราจะต้องคล้อยตามอยู่แล้ว ในเมื่อเราไม่รู้จักความจริง มันเป็นเรื่องธรรมดา
เพราะฉะนั้น ศาสนาอื่นนี่จะไปแนวนี้หมด เพราะว่าไม่ได้เป็นคำสอนจากผู้รู้ ผู้ตรัสรู้ ตรงนั้นเราไม่ว่า แต่กลายเป็นว่า คนที่อ้างว่าเป็นพุทธ ซึ่งคำสอนมีอยู่แล้ว ให้เราศึกษา อุตส่าห์ตรัสรู้และสอนมา และมีครบเลย ตอนนี้ ใครจะไปเปิดดู จะดูอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ มีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ศึกษา และมีความต้องการที่จะทำอะไร เพื่อผล เพื่อความสุข ตัวเองก็เหมือนกับเขา ก็เท่ากับว่า ไม่รู้เหมือนเขา ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ หรือว่าเรียกตัวเองว่าเป็นศาสนาอื่น ก็เหมือนกัน สำคัญว่า "ไม่รู้ความจริง"
ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ที่คุณสุขินเริ่มต้นไว้ว่า ถ้าไม่รู้ความต่างกันของความเข้าใจถูก กับความเข้าใจผิด ซึ่งก็จะนำไปสู่การปฏิบัติถูกกับการปฏิบัติผิด ทุกคนก็บอกว่าของตัวเองถูกหมด ใช่ไหม? คนที่เขาไปสำนักปฏิบัติ หรือเขาสนับสนุนเรื่องสำนักปฏิบัติ เขาก็คิดว่าเขาถูก ใช่ไหม? เขาไม่รู้หรอกว่าอย่างไร เพราะฉะนั้น เป็นประเด็นสำคัญมากครับท่านอาจารย์ ที่ว่า ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วก็คิดว่าสิ่งที่เราคิด และเราทำ ตามๆ กัน แล้วถ้าทิ้งนานไปกว่านี้ พระพุทธศาสนาที่เป็นความคิดของคนที่ไม่ได้ศึกษาเข้าใจ ก็จะมองว่า ก็คือเรื่องของการไปทำ ที่ใช้คำว่าปฏิบัติในสำนักปฏิบัติต่างๆ ถ้าไม่สนทนาให้เข้าใจตรงนี้ อย่างที่คุณสุขินได้ยกประเด็นมา พระพุทธศาสนาก็คงต้องลบเลือนไปอย่างแน่นอนที่สุด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกันหมด ใช่ไหม? คือ ที่คุณสุขินว่า เกิดมาก็ไม่รู้อะไร แต่มีความเชื่อในตัวเอง หรือว่า ในสิ่งที่ตัวเองได้ยินได้ฟัง ไม่ต้องฟังเราก็อาจจะมีความเชื่อของเราส่วนตัว ใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้เข้าใจคำสอนเลย ก็เหมือนกับคนที่เกิดมาก็ไม่รู้อะไรเหมือนกัน แต่คนหนึ่งบอกว่า เชื่อว่าเขานับถือพระพุทธศาสนา แต่อีกคนหนึ่งเขาไม่รู้อะไรเลย ก็เหมือนกัน!!
เพราะฉะนั้น จะมีความต่างอะไรกับคนที่บอกว่าเขานับถือพระพุทธศาสนากับคนที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วก็ไปปฏิบัติเหมือนกันด้วย ใช่ไหม คนที่ไม่รู้ธรรมะ ไม่เข้าใจเลย ก็ไปปฏิบัติ ชาวต่างประเทศซึ่งไม่รู้จักอะไรเลย แต่เข้าใจว่านั่นเป็นพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ที่ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ไม่ว่าคนไทย หรือชาวต่างประเทศก็ตามแต่ ปฏิบัติด้วยความไม่รู้ และเข้าใจผิดว่า นั่นคือพระพุทธศาสนา
เพราะอย่างคุณแอนมา คุณแอนก็ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วก็ไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้น คนไทยหรือใครก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ที่บอกว่าเขานับถือพระพุทธศาสนา แต่เขาก็ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วเขาก็ไปปฏิบัติ ก็ต้องเหมือนกัน
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ เมื่อรายการที่แล้วได้คุยกับคุณโรตี (คุณโรดริโก้) ก็เช่นกัน เมื่อกี้เราได้ความเข้าใจชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด คนไทย หรือคนต่างชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่เข้าใจก็คิดว่าต้องไปสำนักปฏิบัติ คุณโรตีก็เคยผ่านมาเยอะ แต่ก็อยากจะคุยต่อนิดหนึ่ง คือ คุณโรตีก็มีความมุ่งมั่นในการไปปฏิบัติอย่างเต็มที่เลย ไปพม่ามาเป็นปี แล้วก็มองว่า (พระพุทธศาสนา) จะต้องไปทำอย่างนั้น จนกระทั่งสร้างสำนักปฏิบัติ แต่ทราบว่า คุณโรตีได้เลิกสำนักปฏิบัติ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมะเข้าใจจากท่านอาจารย์ด้วย ทำไมตอนนั้นถึงเลิก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ขอทบทวนนิดหน่อยนะคะ คุณโรตีมาเมืองไทย ตอนนั้น ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาหรือว่ารู้จักแบบที่เคยรู้จัก ตอนที่ไปญี่ปุ่น (ไปอยู่วัดนิกายเซ็น) หรือว่าได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนา ได้ยินคำว่าสำนักปฏิบัติด้วยหรือเปล่าคะ?
คุณโรตี ครับผม
ท่านอาจารย์ ได้ยินทั้งสองคำ?
คุณโรตี ครับผม
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเข้าใจธรรมะหรือเปล่า?
คุณโรตี ก็ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจ แต่พอได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนากับสำนักปฏิบัติ ก็ไปปฏิบัติ โดยไม่เข้าใจธรรมะ ทั้งหมดเป็นอย่างนี้ใช่ไหม?
คุณโรตี ครับ ใช่ครับ
ผศ.อรรณพ ที่น่ามาสนทนาก็คือว่า ทราบว่าคุณโรตีนี่ ก่อนที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคืออย่างไร ที่ได้ศึกษาพระธรรมที่ทางมูลนิธิฯ และท่านอาจารย์สุจินต์ ได้แสดงและเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ ทราบว่าคุณโรตีรับฟังทางอินเทอร์เน็ตจนเข้าใจ อันนี้ทีหลัง แต่ก่อนที่จะได้เข้าใจ ทำไมถึงเลิกสำนักปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
คุณโรตี เพราะว่าผมพิจารณาเองว่า เมื่อปฏิบัติอยู่ อะไรที่ผมเรียกว่าปฏิบัติอยู่ ผมพิจารณาว่าเกี่ยวกับความต้องการ ต้องการได้ผล
ผศ.อรรณพ อันนั้นคิดได้เอง อย่างนั้นเลย หลังจากที่ปฏิบัติมานาน และหลังจากที่ลงทุนตั้งสำนักปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ แต่ระหว่างนั้นคิดว่าเป็นพระพุทธศาสนาใช่ไหม? ขณะที่กำลังปฏิบัติ หรือคิดว่าไม่ใช่ หรือคิดว่าอะไรก็ไม่รู้
คุณโรตี ตอนนั้นคิดว่า เพราะว่าผมเข้าใจว่าพุทธศาสนา คือ ละความต้องการ เลิกความต้องการ แล้วผมเห็นว่า ที่ปฏิบัติอยู่ ไม่ได้ "ละ" อะไรเลย (ในทาง) ตรงกันข้าม "กลับเจริญความอยาก"
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นไหม? พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีการได้ฟัง ได้สนทนากัน จะรู้ไหม? ว่าขณะนี้ ไม่มีเรา มีธรรมะซึ่งมี เกิดแล้ว แล้วดับแล้ว แล้วไม่กลับมาอีกเลย ในสังสารวัฏฏ์
คุณสุขิน พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังมีโอกาสได้ศึกษาอยู่ ยังอยู่ ธรรมะยังอยู่ แต่ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เห็นความสำคัญ เหมือนกับไม่มีความเคารพ ที่จะมาเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมะ (พระองค์) อุตส่าห์ทำเพื่อเรามาขนาดนี้ เราไม่เห็นคุณค่าเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำลังทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยความเข้าใจผิด ทำให้คนคิดว่า นี่คือพระพุทธศาสนา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้น คำของพระองค์ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ก็อันตรธาน จากคนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จนกว่าจะหมด
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ขอโอกาสกราบเรียนท่านอาจารย์ในสองประเด็น คือเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสองอย่าง เพราะว่า ถ้าไม่เข้าใจ จะดูเหมือนค้านกัน คือ คำหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ "ธรรมะไม่สาธารณะกับทุกคน" แต่อีกคำหนึ่งในพระไตรปิฎกก็แสดงว่า "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง" ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง แสดงว่าต้องเปิดเผย ต้องเปิดเผยคำจริง ถึงจะรุ่งเรือง แต่ธรรมะก็ไม่เป็นสาธารณะ คืออย่างไรครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครเปิดเผย จึงจะทำให้รุ่งเรือง?
ผศ.อรรณพ ผู้ที่ฟังเข้าใจ และเป็นผู้ที่กล่าวตามพระธรรมวินัย
ท่านอาจารย์ เท่านั้น!!! เพราะฉะนั้น มีกี่คน? ที่จะสาธารณะทั่วไปหมดเลย ที่จะเข้าใจอย่างนี้?
ผศ.อรรณพ ไม่มาก
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผศ.อรรณพ เหมือนอย่างที่คุณสุขินเคยมาสนทนาในรายการนานแล้ว ที่ท่านอาจารย์ถามว่า พระพุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นอย่างไร คุณสุขินตอบสั้นๆ ว่า หายาก ในโลก
คุณสุขิน ก็ไม่มีใครเปิดเผยได้ เปิดเผยอย่างไร? เปิดเผยก็มีแต่ (ผู้ที่มี) ปัญญา (จึงจะ) เปิดเผยได้ และ "ไม่สาธารณะ" ตรงนี้หมายถึงว่า เราก็รู้ว่า ตามความจริงแล้วน้อยคนที่จะเข้าใจ เพราะธรรมะนี้ลึกซึ้ง ที่จะไม่เข้าใจนี่ มากกว่าคนที่จะเข้าใจ เยอะ เยอะ เยอะ มาก แต่เวลาเดียวกัน ที่เราเปิดเผย เปิดเผยเท่าที่ทำได้ ก็เพราะเราไม่รู้ว่าใครสะสมมา แล้วก็ไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้แล้ว คือ การแชร์ (เผยแพร่) ความเข้าใจกับคนอื่น เพราะฉะนั้น ใครที่มีปัจจัยพร้อมที่จะเข้าใจ ก็ให้เขารู้ ก็พยายามช่วย
.........
ขอเชิญคลิกชมรายการสนทนาปัญหาสารพันตอนอื่นๆ ได้ที่นี่.........
- รายการสนทนาปัญหาสารพัน รายการใหม่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
- สนทนาปัญหาสารพัน : แรงงานพม่า สะท้อนปัญหาชาวพุทธ
- สนทนาปัญหาสารพัน : ๑๐ ปีที่เสียไป เปิดใจอดีตแม่ชี พญ.ธิดา คงจรรักษ์
- แม่ชีคือใคร?
- สนทนาปัญหาสารพัน : เกือบจะหย่า กว่าจะเข้าใจพุทธวจน ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
- สนทนาปัญหาสารพัน : รู้ความจริง ทิ้งสิ่งที่ผิด
- สนทนาปัญหาสารพัน : อดีตแม่ชีวิปัสสนาจารย์เผยวิกฤตการณ์ชาวพุทธ
- อาจารย์สุจินต์ เป็น คริสต์หรือ?
- สนทนาปัญหาสารพัน : ที่พึ่งที่แท้จริง
- สนทนาปัญหาสารพัน : แสงธรรมส่องถึง L.A. [ตอนแรก]
- สนทนาปัญหาสารพัน : เข้าใจโลกธรรม
- สนทนาปัญหาสารพัน : พบพระธรรมเพราะถูกห้าม
- สนทนาปัญหาสารพัน : แสงธรรมส่องถึง L.A. [ตอนจบ]
- สนทนาปัญหาสารพัน : ชาวใต้ใฝ่ความจริง
- สนทนาปัญหาสารพัน : อีกมุมหนึ่งของ นก ศิขรินธาร
- สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 1
- สนทนาปัญหาสารพัน : สาระ ใต้ร่มสาละ
- สนทนาปัญหาสารพัน : พุทธศาสนาในแคลิฟอร์เนีย
- สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 2
- สนทนาปัญหาสารพัน : กลุ่มศึกษาธรรมชาวต่างชาติ [Dhamma study group]
- สนทนาปัญหาสารพัน : พระพุทธศาสนากับการพัฒนาบทบาทสตรี
.........
ท่านที่สนใจฟังเสียงการสนทนาภาคภาษาอังกฤษที่คุณซาราห์และคุณโจนาธาน บันทึกและนำลงเวปไซต์ไว้ สามารถติดตามฟังโดยคลิกที่นี่....
- DhammaStudyGroup
- AUDIO FILES
- Discussions with Acharn Sujin
.........
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง โปรดคลิกที่นี่...
- คุณอลัน ไดร์เวอร์ [Alan Driver]
- คุณซาราห์ แอบบ๊อท (Sarah Abbott)
- คุณแอนน์ มาแชล และคุณไพน่า [Mrs. Ann Marshall & Ms. Pinna Indorf]
- สัมภาษณ์คุณโรเบิร์ต (Robert Kirkpatrick)
- ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๑]
- ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๒]
- คุณอีฟ [ Ms. Eve. ]
- สัมภาษณ์คุณสุขิน นฤหล้า (Sukin Narula)
- คุณ Tam Bach (อาจารย์สุจินต์เวียดนาม)
- คุณ Azita Gill
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ [รวมลิงค์ ๘ กระทู้]
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณและอนุโมทนายิ่งค่ะ