[คำที่ ๑๒๑] กรณียกิจฺจ
โดย Sudhipong.U  19 ธ.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 32241

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กรณียกิจฺจ

คำว่า กรณียกิจฺจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า กะ - ระ - นี - ยะ - กิด - จะ เขียนเป็นไทยได้ว่า กรณียกิจ แปลว่า กิจที่ควรทำ, สิ่งที่ควรทำ ในทางธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจากความดีทุกอย่าง ความประพฤติสุจริต ทางกาย  ทางวาจา และทางใจ เป็นกิจที่ควรคทำ  สรุปให้สั้นที่สุด คือ การสะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ เป็นกิจที่ควรทำ แต่ถ้าเป็นความชั่วหรือทุจริตประการต่างๆ แล้ว ไม่ควรทำเลยโดยประการทั้งปวง แม้จะเล็กน้อยเพียงใด หรือแม้จะไม่มีคนอื่นเห็น ก็ตาม ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

“ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อย บุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า 'ชนพวกอื่น ย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา' ส่วน สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ก็ควรทำ, เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, ส่วน สุจริตย่อมยังความปราโมทย์ (เอิบอิ่ม) อย่างเดียว ให้เกิดขึ้น”


ชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละคน ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ โดยที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมใด จะให้ผลในขณะใด เพราะเหตุว่ากุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว และกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และที่สำคัญกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เวลาที่มีเหตุมีปัจจัยถึงกาลที่ควรจะให้ผลเกิดขึ้น ผลนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะดับขันธปรินิพพาน (ดับโดยรอบซึ่งขันธ์ อันเป็นการตายของพระอรหันต์) เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าบุคคลที่ได้สะสมบุญกุศลจนสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังไม่สามารถจะพ้นจากผลของอดีตกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว และชีวิตอีกส่วนหนึ่ง เป็นการสะสมเหตุ คือ กุศล และ อกุศล ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า

เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีความทุกข์ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ก็ให้ทราบว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว และตราบใดที่มีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด เห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูก ลิ้มรสที่ไม่ดีทางลิ้น กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่สบายทางกาย โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้

ยกตัวอย่างบุคคลท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระปูติคัตตติสสเถระ ซึ่งท่านเป็นโรคฝีทั่วตัว จนกระทั่งร่างกายเน่า และจีวรเปื้อนด้วยเลือดและน้ำหนอง เป็นผลมาจากอกุศลกรรมที่ท่านเคยกระทำไว้แล้วในอดีต เมื่อภิกษุทั้งหลายทอดทิ้งท่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบก็เสด็จไปอนุเคราะห์ ซึ่งเมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไป ก็ได้ช่วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยาบาลท่านพระปูติคัตต-ติสสเถระ โดยให้ท่านสรงน้ำร้อน และเปลี่ยนจีวรให้สะอาดกาย สบายใจ ตามพระดำรัสรับสั่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อท่านพระปูติคัตตติสสเถระพร้อมที่จะได้ฟังพระธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรม เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์  และดับขันธปรินิพพาน การที่ท่านพระปูติคัตตติสสเถระ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผลมาจากการได้อบรมเจริญปัญญา มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนถึงความสมบูรณ์พร้อม ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการกระทำอกุศลกรรม ไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด

เมื่อได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่า เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของกิเลส โดยละเอียดนั้น ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า  กิเลสนั้นมีมากมายทีเดียว ไม่ใช่น้อยเลย เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะดับกิเลสจริงๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าผู้ที่จะเจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง แล้วก็รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปํญญา เพื่อรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยิ่งรู้ละเอียด รู้ทั่ว รู้ชัดเจน ก็ยิ่งจะละคลาย และสามารถที่จะแทงตลอด แล้วก็รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ตนเองได้คลายความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลงไปมากน้อยเท่าไรแล้ว ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ จึงสามารถที่จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้

เพราะฉะนั้น จากข้อความทั้งหมดก็ประมวลได้ว่า สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ควรทำเฉพาะกุศล ความดีประการต่างๆ พร้อมกับการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เท่านั้น ไม่ควรทำอกุศลกรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต ก็ยังพร้อมที่จะให้ผลได้ เมื่อถึงกาลที่จะให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ