ขอเรียนสอบถาม เรื่องตั้งมั่น และการตัดขาดของกุศล อกุศล
โดย เข้าใจ  19 ก.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21433

ขณะฟังพระธรรมกุศลเกิดบ้าง อกุศลเกิดบ้างทุกๆ ครั้งก็มักจะมีอย่างอื่นเกิดแทรกเสมอๆ เพราะห้ามไม่ได้เลย เมื่อถูกแทรกโดยเสียงหรืออารมณ์อื่นๆ นั้น จะถือได้ว่าไม่ตั้งมั่นได้ไหมครับ เพราะอารมณ์แล่นไปในอารมณ์อื่น อย่างเช่นเกิดได้ยินเสียงของสัตว์ต่างๆ แทรกขึ้นมาบ้าง และขณะนั้นตาก็เกิดเห็นรูปของสัตว์นั้นเกิดขึ้นอีก อย่างนี้จะถือได้ว่าเห็น ได้ยิน ขณะนั้นเป็นวิบากของจิตในขณะนั้้นใช่ไหมครับ เพราะมีเหตุให้ได้ยิน ตามความเป็นจริงแล้วสัตว์ สิ่งของนั้นไม่มีเพราะเป็นบัญญัติ แต่โดยความชำนาญของการสะสมความเห็นผิดมีอยู่มาก จึงทำให้คิดเป็นไปในกุศลอกุศลสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์ครับ ในเมื่อทุกๆ ขณะที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นการสืบต่อของกุศลและอกุศลอย่างนี้ มีการเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีขาดสาย แล้วจะมีการตัดขาดของกุศลและอกุศลได้อย่างไรครับ เพราะความไม่รู้และความหลงลืมมีอยู่มาก จึงมีปัญหามาก

ขออาจารย์อย่าพึ่งเบื่อหน่ายนะครับ จึงเรียนสอบถามมาด้วยความเคารพ

ขอขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย เข้าใจ  วันที่ 19 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ อาจารย์อย่างสูงยิ่งครับผมจะตั้งใจศึกษาธรรมและฟังพระธรรมให้มากครับ

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

กราบขอบพระคุณครับ ด้วยความเคารพ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 20 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ขอกล่าวถึงประเด็นความตั้งมั่นก่อนครับว่า คือ อะไร

ความตั้งมั่น คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกประเภท และ ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตประเภทอะไรเกิดขึ้น ทุกๆ ประเภท แม้แต่อกุศลจิต ก็มีความตั้งมั่นชั่วขณะที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ

เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นกุศล แล้วเกิดจิตเห็น จิตได้ยินต่อ ขณะนั้นก็มีความตั้งมั่นชั่วขณะแล้วที่เป็นขณิกสมาธิ แม้จิตเห็น จิตได้ยินก็มีเอกัคคตาเตสิก คามตั้งมั่นของจิตที่เกิดชั่วขณะ ครับ แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นก็มีความตั้งมั่นของจิตชั่วขณะเช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ว่า ในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดมากๆ บ่อยๆ แทรกกุศล จะดับกิเลส ดับอกุศลได้อย่างไร

- ในความเป็นจริง กิเลสมีมาก เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของปุถุชน ซึ่งโดยมากอกุศลจะเกิดบ่อย แต่เมื่อมีการอบรมปัญญา การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ยังน้อยมาก แต่ก็ค่อยเจริญเติบโต จึงยังไม่สามารถต้านทานกำลังกิเลสที่สะสมมานับชาติไม่ถ้วนได้ แต่เมื่อมีการอบรมปัญญาอย่างยาวนานที่เรียกว่า จิรกาลภาวนา คือนับชาติไม่ถ้วนเช่นกัน เป็นกัปๆ ปัญญาก็เจริญสะสม เหมือนการจับด้ามมีดนานๆ ย่อมสึก หรือฝนที่ตกทีละหยดลงสู่หิน หินย่อมกร่อนได้ แต่ต้องเวลายาวนาน

ปัญญาก็เช่นกัน ค่อยๆ อบรมไป อย่างยาวนาน เมื่ออบรมมากนับชาติไม่ถ้วน ปัญญาก็ถึงความแก่กล้า จนสามารถบรรลุธรรม ดับกิเลสที่สะสมมาทั้งหมดได้ ครับ เปรียบเหมือน ทหารเลวแม้มีมาก แต่ฝีมือไม่ดี ต่างกับ ทหารฝีมือดี แม้มีน้อยกว่า แต่ก็สามารถชนะทหารเลวที่มีมากได้ ฉันใด ปัญญาที่สะสมามา แต่เมื่อปัญญามีกำลัง แม้อกุศลที่เคยสะสมมามีมาก ก็สามารถประหารดับกิเลสได้จนหมดสิ้น ครับ

พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านอบรมปัญญามาอย่างยาวนาน เป็นแสนกัป กว่าจะถึงการดับกิเลส แม้เราทั้งหลายก็ต้องดำเนินตามหนทาง คือ การอบรมปัญญาอย่างยาวนานเช่นกันครับ หากเริ่มจากก้าวแรกที่ถูก อดทนที่จะไม่ถูกโลภะที่จะหลอกให้เปลี่ยนไป หนทางที่หลอกว่าง่าย ก็ย่อมถึงเป้าหมายได้ ครับ เพราะเริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง และเดินไปในหนทางที่ถูก ไม่แวะไปทางอื่น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย เข้าใจ  วันที่ 20 ก.ค. 2555

ครับผมพึ่งเข้าใจครับว่า ทุกๆ ขณะมีเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิเกิดอยู่แล้วพึ่งรู้จริงๆ ครับ

ขอเรียนถามอีกหน่อยครับ

คือ มิฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนี่ครับ มีความหมายกินความกว้างขว้างขนาดไหนครับ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เกิดบ่อยๆ จะรวมความในมิฉาทิฏฐิไหมครับ

แล้วผู้ที่เข้าใจธรรมได้ช้า จะถือว่าเป็นผู้ว่ายากสอนยากหรือเปล่าครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 20 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

มิจฉาทิฏฐิ เป็น ทิฏฐิเจตสิกที่เป็นความเห็นผิด เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลจิตเท่านั้น ครับ แต่ ความเห็นผิด ไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโทสมูลจิตและโมหมูลจิต ดังนั้น ขณะที่เห็นผิด เกิดกับจิตที่เป็นโลภะ ยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้น ขณะที่โกรธ ไม่ได้เห็นผิด และที่สำคัญที่สุด มีโมหเจตสิก ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น คือ ความไม่รู้ หรือ อวิชชา เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น หัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ความไม่รู้ เพราะ มีความไม่รู้ จึงทำให้อกุศลธรรมต่างๆ เจริญ แม้ความเห็นผิดก็เจริญ เพราะ มีความไม่รู้เป็นสำคัญ ครับ

ซึ่งความเห็นผิด ก็มีทั้งระดับเล็กน้อย จนถึงมีกำลัง เช่น การยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ก็เป็นความเห็นผิดได้ และจนมีกำลัง เช่น ไม่เชื่อว่ากรรมมี ผลของกรรมมี ก็เป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า

แล้วผู้ที่เข้าใจธรรมได้ช้า จะถือว่าเป็นผู้ว่ายากสอนยากหรือเปล่าครับ

- ผู้ว่ายาก ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่เข้าใจช้า แต่หมายถึง ผู้ที่ไม่น้อมรับฟังคำว่าสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือ แม้คำเตือนของกัลยาณมิตร ด้วยความหวังดี ชื่อว่าเป้นผู้ว่ายาก

แต่ ผู้ใด มีใจที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม แต่เพราะ สะสมปัญญามาน้อย ไม่มาก ก็ทำให้เข้าใจได้ช้า ก็เป็นเรื่องของการสะสมมาที่ไม่มาก ทำให้เข้าใจได้ช้า แต่ไม่ใช่เพราะอกุศลที่เป็นผู้ว่ายาก จึงทำให้เข้าใจไ้ดช้า ครับ

เพราะ ความเป็นผู้ว่ายาก เป็นอกุศลธรรม ตามที่กล่าวมาครับ

ดังนั้น ผู้มีจิตที่ใฝ่ในการศึกษาธรรม และ เมื่อเข้าใจก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามตามกำลังปัญญาของตน ชื่อว่า เป็นผู้ว่าง่าย ครับ แม้จะเข้าใจช้า แต่เข้าใจถูก และประพฤติปฏิบัติตาม

ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น แม้แต่ในเรื่องของความตั้งมั่น ที่เป็นสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่า จะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิต ก็ตั้งมั่นในทางที่เป็นกุศล แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดร่วมกับอกุศล ก็ตั้งมั่นในทางที่เป็นอกุศล เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีโทษมาก กาย วาจา ใจ เป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น ก็จะสามารถดำเนินไปถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด

แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็คงไม่ต้องพูดถึงเลยว่าอกุศลจะเพิ่มพูนมากสักแค่ไหน เรื่องการดับกิเลสจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

บุคคลผู้ที่สนใจในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมเป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้น ที่จะสามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย เรื่องของการหมดกิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญต่อไปอีก จนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า พระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้เป็นเครื่องเกื้อกูล เป็นเครื่องส่องทางให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่สามารถจะดับกิเลสได้ นอกจากปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย เข้าใจ  วันที่ 20 ก.ค. 2555

อาจารย์ครับผมมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งครับ

ขณะฟังพระธรรมทุกๆ ครั้งครับ ถ้าฟังได้สักชั่วโมงโดยประมาณก็มักจะเกิดง่วงขึ้นครับ อาจารย์มีอุบายในการฟังธรรมให้หายง่วงไหมครับ และอาการง่วงเป็นสาธาณะไหมครับ

กราบขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 20 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ถ้าเราเข้าใจความเป็นธรรมดาของสภาพธรรม คือ ความเป็นอนัตตา คือ เราไม่สามารถบังคับบัญชาสภาพธรรมให้เป็นไปตามใจเราได้ ความง่วงมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เมื่อมีเหตุปัจจัย ความง่วงก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อฟังธรรม แม้ในขณะอื่นๆ ในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ได้ฟังธรรม เราก็ง่วงใช่ไหมครับ ซึ่งความง่วงเวลาอื่น เราก็ไม่ได้ใส่ใจว่าจะทำให้หายง่วง เพราะในความเป็นจริง ความง่วงย่อมเกิดเป็นธรรมดาอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญอาการง่วงสาธารณะกับปุถุชนทุกๆ คน เพราะ ยังมีอกุศลอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความง่วง ซึ่งผู้ที่อบรมปัญญา ควรเข้าใจความจริงว่า ความง่วงเป็นธรรมะและเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น เมื่อเข้าใจดังนี้ ก็ไม่ได้เดือดร้อนว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ง่วง เพราะ ความง่วงเกิดแล้วใช่ไหมครับ เมื่อเกิดความง่วงแล้ว ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน แต่ละเหตุการณ์ในตอนนั้นว่าจะเป็นอย่างไร หรือจะให้ทำอย่างไรในตอนนั้น

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้แนะนำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า เมื่อเกิดความง่วงก็ให้นึกถึงธรรมที่ได้เรียนมา ให้หยอดตา ให้น้ำยอนช่องหู เป็นต้น ซึ่งพระองค์แนะนำตามแต่ละบุคคลจะทำได้ไหม เพราะ เมื่อถึงเวลานั้น แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลจะทำอย่างไร ตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ครับ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะทำอย่างไรเมื่อง่วง ก็เข้าใจความจริงในตอนนี้เลยครับว่า ความง่วงเป็นธรรมที่มีจริง เข้าใจความง่วง แทนที่จะทำอย่างไรให้หายง่วง เพราะ การจะทำในเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ สำคัญที่ความเข้าใจในขณะนี้ว่า ง่วงเป็นธรรมดา และ ความง่วงเกิดขึ้นแล้ว เมื่อรู้ว่าเกิดแล้วก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ใช่เราที่ง่วง และ เมื่อไหร่พร้อมที่จะฟังพระธรรมเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น การอบรมปัญญาจึงเป็นเรื่องที่เบาสบาย ตามที่กล่าวมาครับ เพราะเบาสบายด้วยความเข้าใจว่าเป็นไปตามธรรม ตามเหตุปัจจัย แต่จะหนักทันทีเมื่อจะทำ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 8    โดย เข้าใจ  วันที่ 20 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูง ที่เกื้อกูลในธรรมเป็นอย่างดียิ่งครับ

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย เซจาน้อย  วันที่ 21 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"การอบรมปัญญา จึงเป็นเรื่องที่เบาสบาย ตามที่กล่าวมาครับ เพราะเบาสบาย ด้วยความเข้าใจว่าเป็นไปตามธรรม ตามเหตุปัจจัย แต่จะหนักทันทีเมื่อจะทำ ครับ"

" สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ครับ"

"ง่วงก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 10    โดย nong  วันที่ 22 ก.ค. 2555

... การอบรมปัญญาจึงเป็นเรื่องที่เบาสบาย เพราะเบาสบายด้วยความเข้าใจว่า เป็นไปตามธรรม ตามเหตุปัจจัย แต่จะหนักทันทีเมื่อจะทำ ...

ขออนุโมทนาค่ะ