[คำที่ ๑๗o] วิญญาน
โดย Sudhipong.U  27 พ.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 32290

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  วิญฺญาณ

คำว่า วิญฺญาณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง (อ่านตามภาษาบาลีว่า วิน - ยา - นะ) เขียนเป็นไทย ว่า วิญญาณ (อ่านตามภาษาไทยว่า วิน - ยาน) หมายถึง สภาพธรรมที่รู้แจ้ง กล่าวคือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้), วิญญาณ เป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ลักษณะของวิญญาณ คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะเท่านั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่พ้นจากวิญญาณเลย และในที่สุดเมื่อถึงขณะสุดท้ายของชาตินี้ วิญญาณขณะสุดท้าย คือ จุติจิต  ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาตินี้ (และเมื่อยังมีกิเลสอยู่  วิญญาณ ในชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น) ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า ไม่นานหนอ กายนี้ จักนอนทับบนแผ่นดิน, กายนี้  มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว ราวกับท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น


วิญญาณ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ มีพยัญชนะหลายคำที่หมายถึงนามธรรมประเภทนี้ เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิต   ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น พยัญชนะหนึ่งในนั้น คือ วิญญาณ ดังนั้น จิตกับวิญญาณจึงเป็นธรรมอย่างเดียวกัน วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง ไม่มีการร่อนเร่ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตหรือวิญญาณประเภทนั้นๆ เช่น จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) ก็รู้สี โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) ก็รู้เสียง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน จึงไม่ปราศจากวิญญาณเลยแม้แต่ขณะเดียว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส  รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก จิตเกิดเป็นอกุศล จิตเกิดเป็นกุศล ล้วนแล้วแต่เป็นวิญญาณ แต่ละชนิดๆ โดยไม่ปะปนกัน วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่ควรจะได้ศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา  ไม่มีเราแทรกอยู่ในวิญญาณ เพื่อขัดเกลาการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะสิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังคำสอนของบุคคลผู้ทรงตรัสรู้ความจริง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้ที่ยังมีตัณหา ความติดข้องต้องการ ยังมีวิชชา ความไม่รู้ อยู่ เมื่อตายแล้ว (คือ วิญญาณขณะสุดท้ายในชาตินี้ เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้อีก) ต้องเกิดทันที มีปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณเกิดสืบต่อในชาติใหม่ทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น การที่จะเกิดเป็นอะไร ในภูมิ (ที่เกิดของหมู่สัตว์) ไหน นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนเองได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิต่างๆ กล่าวคือ เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ตามควรแก่อกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ยังอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ยังพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ยังเต็มไปด้วยทุกข์ จนกว่าจะเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะเป็นผู้พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง และเมื่อดับขันธปริ-นิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกเลย สังสารวัฏฏ์เป็นอันจบสิ้น ไม่มีวิญญาณ พร้อมทั้งสภาพธรรมอื่นๆ เกิดขึ้นอีกเลย

หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอวิชชา และกิเลสทั้งหลายทั้งปวงให้เบาบางลงได้ คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ โอกาสแห่งการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไป.  


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ