ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๐
โดย khampan.a  15 พ.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 43113

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๐


~ พระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อายุเท่าไหร่ เป็นเถระหรือไม่เป็นเถระ ทั้งหมด จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ใครที่ประพฤติผิดจากที่ทรงบัญญัติไว้ ก็มีโทษ
~ คำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้โลกซึ่งมืดด้วยความไม่รู้ ได้เข้าใจความจริงทั้งหมดทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคำของพระองค์สำหรับศึกษา สำหรับฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะลึกซึ้ง ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน
~ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในกิจทั้งปวงที่เจริญ ที่เป็นกุศล ที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเราสามารถบังคับตัวเองให้เราเป็นคนดีได้ แต่ว่าความเข้าใจธรรมต่างหากที่ค่อยๆ ขัดเกลาความไม่ดีและความไม่รู้
~ อันตรายที่มองไม่เห็นยิ่งกว่าอันตรายอื่น ก็คือ ชาวพุทธที่เข้าใจว่าตัวเองนับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เข้าใจธรรมก็คล้อยตามสิ่งที่ผิดทั้งหมด โดยไม่เห็นว่านั่นเป็นภัยที่ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา
~ สำหรับผู้มีปัญญา จะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำในคำพูดของบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์
~ ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทน ดีไหม? แต่ถ้าอดทนได้ ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น
~ การฟังธรรม ก็คือ การเริ่มเห็นความจริงว่า กว่าจะหมดความไม่รู้และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่หวัง แต่ต้องด้วยการเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นการละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความไม่รู้นั้นจะหมด
~ ต้องอดทน และเห็นประโยชน์ของการฟัง และอาจหาญร่าเริง ไม่ใช่พอฟังแล้วอกุศลจิตเกิดก็เดือดร้อน ทำอย่างไรกับอกุศลนั้น อกุศลจิตเกิดแล้ว อย่าลืม เพราะอะไร? ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิด จะเกิดได้ไหม
~ แต่ละคนไม่มีใครจะไปจัดการชีวิตของคนอื่นได้ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนจิตของแต่ละคนที่สะสมอกุศลมามากๆ ไม่ให้กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดในที่ต่างๆ กัน ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย เพียงแต่ว่า เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม ซึ่งผู้ที่สะสมบุญมาแล้วมีโอกาสได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจธรรมว่า ไม่ใช่ใครเลย เป็นจิตซึ่งเกิดแต่ละขณะ และแต่ละขณะสะสมอกุศลมามากแค่ไหน ถ้าขณะนี้ไม่สะสมปัญญาที่เริ่มเห็นถูก ก็ไม่มีทางที่อกุศลที่สะสมมาเบาบางลงไปได้
~ ในพระไตรปิฎกไม่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกับใคร ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม หรือการอ่าน หรือการสนทนาธรรม ก็เป็นการเตือนให้เข้าใจถูก ให้ระลึกได้ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ และในขณะที่ฟังจะมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม คุ้นเคยกับธรรมแต่ละลักษณะหรือยัง หรือกำลังฟังเพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้รู้จักสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ค่อยๆ อบรมไป
~ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะบังคับไม่ให้สุข ไม่ให้ทุกข์ก็ไม่ได้ จากไม่รู้ จะบังคับให้รู้ ให้เข้าใจ ให้รู้แจ้งสภาพธรรม ก็ไม่ได้ แต่เวลาที่เริ่มเข้าใจขึ้นจะเปลี่ยนความเข้าใจที่เริ่มจะเข้าใจให้ไม่รู้เหมือนเดิมก็ไม่ได้
~
ขณะนี้มีธรรม แล้วธรรมซึ่งเป็นธรรม ก็มีลักษณะจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่าง จึงเป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้เลย เมื่อกล่าวถึงปรมัตถธรรม ต้องเป็นสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ แล้วใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้
~ ข้อความที่ว่า “อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง” เพียงเท่านี้ก็เตือนแล้ว ถ้าอนุโมทนาไม่ได้หรือไม่อนุโมทนา ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ต้องเป็นอกุศลแน่นอน จึงอนุโมทนาไม่ได้ แต่ขณะใดที่เห็นใครทำกุศลหรือเป็นกุศล แล้วอนุโมทนา ขณะนั้นเป็นความจริงใจที่ยินดีด้วยในกุศลของคนอื่น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำกุศลนั้นเองก็ตาม
~ ความโกรธ ทุกคน ก็มี มีตั้งแต่ความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ ไม่สบายใจ ก็โกรธ แต่ยังไม่ถึงกับพูด แต่พอพูดออกมา เสียงก็มีหลายเสียง จากระดับของความโกรธ ถ้าขุ่นใจนิดหน่อย เสียงก็พอฟังได้แต่ ถ้ามากๆ เสียงน่าฟังไหม? ไม่มีใครอยากได้ยินเลย แต่อะไรเป็นปัจจัยทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้น ธรรมแต่ละหนึ่ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงเป็นปรมัตถธรรม
~ ไม่มีเรา แต่มีธรรม ทุกอย่างที่มี เป็นธรรมแต่หนึ่ง ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย นี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ก็เป็นความเห็นผิด แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง ความเข้าใจนั้น มาจากไหน? มาจากการฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ รู้ว่ามีกิเลสมากๆ รู้ว่ามีความไม่รู้มากๆ จะได้ไม่ประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะประมาณไม่ได้เลยว่าอกุศลมากแค่ไหน แต่ว่าจากการฟังพระธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ก็สะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้น
~ สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม มีจริงๆ ในขณะนี้ ศึกษาธรรมเพื่ออะไร? เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อคำชม แต่ว่าเพื่อเข้าใจถูก ว่า เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ แล้วจะหลงผิดอยู่ทำไม แล้วจะหลงไม่รู้อยู่ทำไม เห็น เกิดแล้วก็ดับ บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็จะไปเข้าใจผิดว่าเป็นเราเห็น มีเราจริงๆ ได้อย่างไร
~ ควรเจริญกุศลทุกทางทุกโอกาส เพราะเมื่อเป็นโอกาสของกุศลแล้วไม่ทำกุศล โอกาสของกุศลก็หมดไป โอกาสทำกุศลเป็นโอกาสที่หายากในชีวิต ในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาว่าอกุศลมากหรือกุศลมาก เมื่อมีโอกาสที่จะเจริญกุศลทางใด ก็ไม่ควรให้โอกาสนั้นผ่านไป เพราะเมื่อกุศลไม่เกิด อกุศลก็เกิด
~ คนกิเลสมากเป็นอย่างไร พฤติกรรมทางกายทางวาจาเกิดจากใจซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสมากเท่าไหร่ การกระทำทางกาย ทางวาจา ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ากิเลสน้อยลง ความดีก็เพิ่มขึ้นจน กระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น
~ อกุศลธรรมก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดปรากฏ และเมื่ออบรมธรรมที่เป็นกุศลมากขึ้น ธรรมที่เป็นกุศลนั่นแหละ จะขัดเกลาบรรเทาธรรมที่เป็นอกุศลให้น้อยลงได้

~ ถ้าผิดตั้งแต่ต้น ก็ผิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถูก ก็จะถูกขึ้น และเห็นความละเอียดลึกซึ้งในคำทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส บูชาสูงสุดที่ว่าไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย แต่พอเริ่มฟัง เริ่มมีความเห็นถูก ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ควรบูชาไหมในผู้ให้ความรู้จริงๆ ที่สามารถที่จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูก ได้



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๕๙


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย เจียมจิต สุขอินทร์  วันที่ 15 พ.ค. 2565

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย petsin.90  วันที่ 15 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เข้าใจ  วันที่ 15 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 15 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Sea  วันที่ 15 พ.ค. 2565

กรสบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพยิ่ง กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย mammam929  วันที่ 15 พ.ค. 2565

น้อมกราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย Pornkamol  วันที่ 16 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาสาธุด้วยเจ้าค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย jaturong  วันที่ 16 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย Jans  วันที่ 16 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย เมตตา  วันที่ 16 พ.ค. 2565

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง และกราบยินดีในความดีทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย เมตตา  วันที่ 16 พ.ค. 2565

กราบยินดีในความดี อ.คําปั่น อักษรวิลัย และทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย มังกรทอง  วันที่ 16 พ.ค. 2565

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 13    โดย Lai  วันที่ 16 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ