๒. เสตเกตุชาดก ว่าด้วยคนที่ได้ชื่อว่าเป็นทิศ
โดย บ้านธัมมะ  24 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35833

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 13

๒. เสตเกตุชาดก

ว่าด้วยคนที่ได้ชื่อว่า เป็นทิศ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 13

๒. เสตเกตุชาดก

ว่าด้วยคนที่ได้ชื่อว่า เป็นทิศ

[๘๓๗] พ่อเอ๋ย พ่ออย่าโกรธเลย เพราะความโกรธไม่ดี ทิศที่เจ้ายังไม่เห็น และยังไม่ได้ยิน มีเป็นอันมาก พ่อเสตเกตุเอ๋ย มารดาบิดาก็เป็นทิศๆ หนึ่ง บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญอาจารย์ เรียกว่า เป็นทิศๆ หนึ่ง.

[๘๓๘] คฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นผู้ถวายข้าว น้ำ และผ้านุ่งห่ม ส่วนสมณะ พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้เรียกร้อง บัณฑิตทั้งหลายเรียก สมณะ และพราหมณ์ แม้นั้นว่า เป็นทิศๆ หนึ่ง พ่อเสตเกตุเอ๋ย ทิศนี้เป็นยอดทิศ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีทุกข์ไปถึงแล้ว จะมีความสุข.

[๘๓๙] ชฎิลเหล่าใด ผู้นุ่งหนังสัตว์ที่แข็งกระด้าง มีฟันสกปรก มีรูปร่างเศร้าหมอง ร่ายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้น ดำรงอยู่ในความเพียรของมนุษย์ รู้โลกนี้แล้ว จะพ้นจากอบาย หรือไม่หนอ?


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 14

[๘๔๐] ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ใดเป็นพหูสูต คงแก่เรียน แต่ทำบาปธรรมไว้ ไม่ประพฤติธรรมเลย ผู้นั้นถึงจะมีเวทมนต์ตั้งพัน อาศัยเวทมนต์นั้น แต่ไม่ถึงจรณะ ก็ไม่พ้นทุกข์.

[๘๔๑] คนแม้มีเวทมนต์ตั้งพัน อาศัยเวทมนต์นั้น แต่ยังไม่ถึงจรณะ ก็ยังไม่พ้นทุกข์ อาตมาภาพเข้าใจว่า พระเวททั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไร้ผล จรณะ คือ การสำรวมอย่างดี เท่านั้นแหละ เป็นของจริง.

[๘๔๒] พระเวท ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีผลเลย จรณะ คือ การสำรวมระวังเท่านั้น เป็นของจริงก็หามิได้ คนอาศัยพระเวทแล้ว ได้รับเกียรติก็มี ผู้ฝึกตนแล้วด้วยจรณะ จะบรรลุความสงบได้.

จบ เสตเกตุชาดกที่ ๒

อรรถกถาเสตเกตุชาดกที่ ๒

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้โกหก จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า มา ตาต กุชฺฌิ น หิ สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 15

โกโธ ดังนี้. เรื่องปัจจุบันจักมีชัด ในกุททาลชาดก.

ได้ยินว่า เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในนครพาราณสี สอนมนต์มาณพ ๕๐๐ คน. หัวหน้ามาณพเหล่านั้น ชื่อว่า เสตเกตุ เป็นมาณพเกิดในสกุล อุททิจพราหมณ์. เขาได้มีมานะมาก เพราะอาศัยชาติตระกูล. อยู่มาวันหนึ่ง เขาออกจากพระนคร ไปพร้อมกับมาณพอื่นๆ ได้เห็นจัณฑาลคนหนึ่ง กำลังเข้าพระนคร จึงถามว่า เจ้าเป็นใคร? เมื่อเขาตอบว่า เป็นจัณฑาล จึงพูดว่า ฉิบหาย ไอ้จัณฑาล กาลกิณี เอ็งจงไปใต้ลม ดังนี้ เพราะกลัวลมที่พัดผ่านตัวของเขา จะมากระทบร่างของตน แล้วได้ไปเหนือลมโดยเร็ว. แต่คนจัณฑาลเดินเร็วกว่า จึงได้ไปยืนเหนือลมเขา. เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนั้น มาณพนั้น ก็ได้ด่าแช่ง เขาอย่างหนักว่า ฉิบหาย ไอ้ถ่อย กาลกิณี. คนจัณฑาล ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงถามว่า คุณเป็นใคร?

พ. ฉันเป็นพราหมณมาณพสิ

จ. เป็นพราหมณ์ ก็เป็นไม่ว่า แต่คุณสามารถจะตอบปัญหา ที่ผมถามได้ไหม?

พ. เออได้ซิ

จ. ถ้าแม้ว่าคุณ ไม่สามารถตอบได้ไซร้ ผมจะให้คุณลอดหว่างขาผม


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 16

เขาตรึกตรองดูตัวเองแล้ว พูดว่า แกถามได้

บุตรคนจัณฑาล ให้บริษัทเพื่อนของมาณพนั้น. ยึดถือถ้อยคำ สัญญานั้นแล้ว ถามปัญหาว่า ข้าแต่ท่านมาณพ ธรรมดาทิศมีเท่าไร?

พ. ธรรมดาทิศมี ๔ มีทิศตะวันออก เป็นต้น.

คนจัณฑาลพูดว่า ผมไม่ได้ถามคุณถึงทิศนั้น แม้เท่านี้ คุณก็ไม่รู้ ยังรังเกียจลมที่พัดผ่านตัวผม. แล้วจับคอเขาโน้มลงมา ลอดหว่างขาของตน. มาณพทั้งหลาย ได้บอกพฤติการณ์นั้น แก่อาจารย์. อาจารย์ครั้นได้ ฟังคำนั้นแล้ว จึงถามเขาว่า พ่อเสตเกตุ จริงไหม? ได้ทราบว่าเจ้า ถูกคนจัณฑาลให้ลอดหว่างขา.

มาณพตอบว่า จริงอาจารย์ ลูกของอีทาสีจัณฑาลนั้นว่า ผมว่า แม้เพียงแต่ทิศ คุณก็ไม่รู้ แล้วให้ผมลอดหว่างขาของตน ทีนี้ผมเห็นมันแล้ว จักแก้แค้นมัน. โกรธแล้ว ด่า แช่ง ลูกคนจัณฑาล. ครั้งนั้นอาจารย์ เมื่อโอวาทเขาว่า พ่อเสตเกตุเอ๋ย เจ้าอย่าโกรธเขา ลูกคนจัณฑาลเป็นบัณฑิต เขาไม่ได้ถามเจ้าถึงทิศนั้น แต่เขาถามถึงทิศอื่น ก็ทิศที่เจ้ายังไม่เห็น ไม่ได้ยิน และยังไม่รู้ นั่นแหละ มีมากกว่าทิศที่เจ้าได้เห็น ได้ยิน และได้รู้มาแล้ว. ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาไว้ว่า:-

พ่อเอ๋ย พ่ออย่าโกรธเลย เพราะความโกรธไม่ดี ที่เจ้ายังไม่เห็น และยังไม่ได้ยิน มีเป็นอันมาก พ่อเสตเกตุเอ๋ย มารดาบิดาก็เป็น


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 17

ทิศๆ หนึ่ง บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญอาจารย์ เรียกว่า เป็นทิศๆ หนึ่ง คฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นผู้ถวายข้าว น้ำ และผ้านุ่งห่ม ส่วนสมณะ พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้เรียกร้อง บัณฑิตทั้งหลายเรียกสมณะ และพราหมณ์ แม้นั้นว่า เป็นทิศๆ หนึ่ง พ่อเสตเกตุเอ๋ย ทิศนี้เป็นยอดทิศ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีทุกข์ไปถึงแล้ว จะมีความสุข.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ สาธุ โกโธ ความว่า ธรรมดาความโกรธ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้รู้ คำสุภาษิตและพุทธภาษิต ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ความเกื้อกูลและไม่เกื้อกูล เพราะฉะนั้น ความโกรธ จึงไม่ดีเลย. บทว่า พหุมฺปิ เต อทิฏฺํ ความว่า อาจารย์กล่าวว่า ทิศที่เจ้ายังไม่เห็นด้วยตา และยังไม่ได้ยินด้วยหู ยังมีมากกว่า. ทิศเหล่านั้น คือ มารดาบิดา ผู้ชื่อว่า กลายเป็นทิศเบื้องหน้า คือ ตะวันออก เพราะเกิดก่อนกว่าบุตรทั้งหลาย. บทว่า อาจริยมาหุ ทิสตํ ปสฏฺา ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น กล่าวแล้วคือบอก ได้แก่แสดง หรือพูดว่า แต่อาจารย์ทั้งหลาย ผู้ถูกสรรเสริญว่า เป็นทิศๆ หนึ่ง คือ เป็นทิศเบื้องขวา เพราะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา คือ การเคารพ. บทว่า อคาริโน


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 18

ได้แก่ คฤหัสถ์นั่นเอง บทว่า อนฺนปานวตฺถทา ได้แก่ เป็นผู้ให้ข้าว เป็นผู้ให้น้ำ และเป็นผู้ให้ผ้านุ่งห่ม. บทว่า อวฺหายิกา ได้แก่ เป็นผู้ร้องนิมนต์ว่า นิมนต์มาเถิด นิมนต์รับไทยธรรม. บทว่า ตมฺปิ ทิสํ วทนฺติ ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เรียกแม้ผู้นั้นว่า เป็นทิศนั้น ทิศหนึ่ง. ด้วยบทนี้ อาจารย์แสดงว่า คฤหัสถ์ทั้งหลายผู้ถวาย ปัจจัย ๔ ชื่อว่า เป็นทิศนั้น เพราะเป็นผู้ที่สมณะ พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ทรงธรรม จะต้องเข้าไปหา โดยเรียกร้องปัจจัย ๔. อีกนัยหนึ่ง สมณะ พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ทรงธรรม ชื่อว่า ผู้เรียกร้องคืออวหายิกะ เพราะเรียกร้องคุณความดีสูงๆ ขึ้นไปมาให้ โดยความหมายว่า เป็นผู้ให้ซึ่งสวรรค์สมบัติ ในกามาวจรแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายเหล่านั้น ผู้ถวายข้าว น้ำ และผ้านุ่งห่ม. ด้วยบทว่า ตมฺปิ ทิสํ วทนฺติ ท่านอาจารย์แสดงว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เรียกแม้สมณะ พราหมณ์ ผู้ทรงธรรมนั้นว่า ชื่อว่า เป็นทิศเบื้องบน. สมจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า :-

มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า-ตะวันออก อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา-ใต้ บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง-ตะวันตก มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย-เหนือ ทาสและกรรมกรเป็นทิศ


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 19

เบื้องล่าง สมณะพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ในตระกูลผู้ไม่ประมาท ควรนมัสการ ทิศเหล่านี้.

ก็คำว่า เอสา ทิสา นี้ อาจารย์กล่าว หมายเอาพระนิพพาน. เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นทุกข์ เพราะทุกข์นานัปปการมีความเกิด เป็นต้น บรรลุพระนิพพานนั้นแล้ว จะหมดทุกข์ คือ เป็นผู้มีความสุข. และทิศนั่นเอง คือพระนิพพาน ชื่อว่า เป็นทิศที่สัตว์ทั้งหลาย ไม่เคยไปแล้ว. อนึ่ง ด้วยคำว่า เอสา ทิสา นั้นนั่นเอง อาจารย์จึงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นทิศชั้นยอด. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า :-

บุคคลผู้ประสงค์ จะไปสู่ทิศ ที่ไม่เคยไป คือ พระนิพพาน ต้องตามรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองภาชนะน้ำมัน ที่เต็มเสมอขอบปาก ไม่มีพร่องไว้ ฉะนั้น.

พระมหาสัตว์ บอกทิศทั้งหลาย แก่มาณพ ด้วยอาการอย่างนี้. แต่มาณพคิดเสียใจว่า เราถูกคนจัณฑาล ให้ลอดหว่างขา ละอายเพื่อน จึงไม่อยู่ในที่นั้น ไปยังเมืองตักกศิลา เรียนศิลปทุกอย่าง ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จบแล้วอาจารย์อนุญาตให้ไป จึงออกจากเมือง ตักกศิลา เที่ยวหาเรียนศิลปะของทุกลัทธิ. เข้าไปถึงบ้านชายแดนแห่ง


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 20

หนึ่ง อาศัยบ้านนั้นอยู่ เห็นดาบส ๕๐๐ รูป จึงบวชในสำนักของท่าน แล้วเรียนศิลปะบ้าง มนต์บ้าง จรณะบ้าง ที่ท่านเหล่านั้นรู้ ได้เป็นหัวหน้าคณะ มีดาบสเหล่านั้น ห้อมล้อม ไปยังนครพาราณสี รุ่งขึ้นไป เที่ยวภิกขาจาร ได้ไปถึงพระลานหลวง. พระราชาทรงเลื่อมใส ในอิริยาบถของดาบสทั้งหลาย นิมนต์ให้ฉัน ภายในพระนิเวศน์ แล้วทรงให้ท่านเหล่านี้ พำนักอยู่ในพระราชอุทยานของพระองค์. อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงอังคาส ดาบสทั้งหลาย แล้วตรัสว่า วันนี้เวลาเย็น โยมจะไปพระราชอุทยาน ไหว้พระคุณเจ้าทั้งหลาย. เสตเกตุดาบส ไปยังพระราชอุทยานแล้ว ประชุมดาบสพูดว่า ดูก่อนสหายร่วมชีวิตทั้งหลาย วันนี้ พระราชาจักเสด็จมา. ท่านชี้แจงว่า ธรรมดา พระราชาทั้งหลาย ทรงโปรดปรานครั้งเดียว ก็สามารถให้คนดำรงชีพอยู่ เป็นได้ชั่วอายุ วันนี้ขอให้ พวกเราบางพวกเดินเป็นกลุ่มๆ ไป บางพวกนอนบนหนาม บางพวกบำเพ็ญตบะ ๕ อย่าง บางพวกประกอบความเพียร วิธีกระโหย่งเท้า บางพวกลงน้ำ บางพวกสาธยายมนต์ ดังนี้แล้วตัวท่านเอง นั่งบนตั่งที่ไม่มีพนักพิง ที่ประตูบรรณศาลา วางคัมภีร์ ๑ คัมภีร์ ที่รุ่งเรือง ด้วยรงคเบญจวรรณ แวววาว ไว้บนกากะเยียที่มีสีงดงาม แล้วแก้ปัญหาที่มาณพ สี่ ห้า คนซักถามมา. ขณะนั้นพระราชาเสด็จมา ทอดพระเนตรเห็น ดาบสเหล่านั้น บำเพ็ญมิจคฉาตบะ คือ ตบะผิด พอพระราชหฤทัย จึงเสด็จเข้าไปหาเสตเกตุดาบส ทรงไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 21

เมื่อทรงปราศัยกับท่านปุโรหิต จึงได้ตรัสคาถาที่ ๓ ว่า :-

ชฎิลเหล่าใด ผู้นุ่งหนังสัตว์ที่แข็งกระด้าง มีฟันสกปรก มีรูปร่างเศร้าหมอง ร่ายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้น ดำรงอยู่ในความเพียรของมนุษย์ รู้โลกนี้แล้ว จะพ้นจากอบาย หรือไม่หนอ?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขราชินา ได้แก่ ผู้นุ่งห่มหนังสัตว์ ที่มีกีบเล็บ. บทว่า ปงฺกทนฺตา ได้แก่ มีฟัน มีขี้ฟันเขลอะ เพราะไม่ได้สีฟัน. บทว่า ทุมุกฺขรูปา ได้แก่ มีผ้านุ่ง ผ้าห่มปอน ไม่ได้ซัก ไม่ได้ตกแต่ง คือ เว้นจากระเบียบของหอม และเครื่องลูบไล้. มีอธิบายว่า ได้แก่ มีรูปร่างมอมแมม. บทว่า เยเม ชปนฺติ ความว่า ชฎิลเหล่านี้ ได้ร่ายมนต์อยู่. บทว่า มานุสิเก ปโยเค ความว่า ดำรงอยู่แล้ว ความเพียรที่คนทั้งหลาย ต้องทำกัน. บทว่า อิทํ วิทู ปริมุตฺตา อปายา ความว่า ถามว่า ฤาษีเหล่านั้น ครั้นตั้งอยู่ในความเพียร รู้โลกนี้แล้ว คือ ทำให้ปรากฏแล้ว จะพ้นจากอบายทั้ง ๔ ได้หรือไม่หนอ?

ปุโรหิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ได้ทูลคาถาที่ ๔ ว่า :-

ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ใดเป็นพหูสูต คงแก่เรียน แต่ทำบาปกรรมไว้ ไม่ประพฤติธรรมเลย


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 22

ผู้นั้นถึงจะมีเวทมนต์ตั้งพัน อาศัยเวทมนต์นั้น แต่ไม่ถึงจรณะ ก็ไม่พ้นทุกข์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กริตฺวา ได้แก่ กตฺวา แปลว่าทำแล้ว บทว่า จรณํ ได้แก่สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยศีล. มีคำอธิบายไว้ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ใดสำคัญว่า เราเป็นพหูสูต แม้มีความรู้ตั้งพัน แต่ไม่ประพฤติสุจริต ๓ อย่าง ทำแต่บาปอย่างเดียว ผู้นั้น ครั้นทำบาปกรรมเหล่านั้นแล้ว อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น แต่ไม่บรรลุจรณะ กล่าวคือ ศีล และสมาบัติ ก็คงไม่พ้นทุกข์ คือ ไม่พ้นจากอบายทุกข์ไปได้เลย.

พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงนำไปแล้ว ซึ่งความเลื่อมใส ในดาบสทั้งหลาย ลำดับนั้น เสตเกตุดาบส จึงคิดว่าพระราชานี้ ได้เกิดความเลื่อมใส ในดาบสทั้งหลายแล้ว. แต่ปุโรหิตคนนี้บั่นทอน ความเลื่อมใสนั้น เหมือนเอามีดฟัน เราควรจะทูลกับพระราชานั้น.

ท่านเมื่อทูลกับพระราชา ได้ถวายพระพรคาถาที่ ๕ ว่า :-

คนแม้มีเวทมนต์ตั้งพัน อาศัยเวทมนต์นั้น แต่ยังไม่ถึงจรณะ ยังไม่พ้นทุกข์ อาตมภาพ เข้าใจว่า พระเวททั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไร้ผล จรณะ คือ การสำรวมอย่างดี เท่านั้นแหละ เป็นของจริง.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 23

คาถานั้นมีเนื้อความ ดังต่อไปนี้ว่า แม้ผู้มีเวทมนต์ตั้งพันบท อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น แต่ยังไม่บรรลุจรณะ ก็จะเปลื้องตนออกจากทุกข์ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมภาพจึงเข้าใจว่า พระเวท ๓ คัมภีร์ เป็นสิ่งที่ไร้ผล จรณะที่มีศีลอิงสมาบัติ ๘ เท่านั้น เป็นของจริง.

ปุโรหิตได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

พระเวทไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีผลเลย จรณะ คือ การสำรวมระวังเท่านั้น เป็นของจริงก็หามิได้ คนอาศัยพระเวทแล้ว ได้รับเกียรติก็มี ผู้ฝึกตนแล้ว ด้วยจรณะ จะบรรลุความสงบได้.

คาถานั้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้ คือ ไม่ใช่พระเวท ๓ อย่าง ไม่มีผล ไม่เฉพาะจรณะ คือ การสำรวมระวังเท่านั้น เป็นของจริง คือ ดีกว่า ได้แก่ สูงสุด หมายความว่า ประเสริฐ. เพราะเหตุไร? เพราะคนอาศัยพระเวท คือ อาศัยพระเวท ๓ อย่าง ได้รับเพียงเกียรติ เพียงยศ เพียงลาภเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น พระเวทเหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่มีผล. บทว่า สนฺตํ ปุเนติ จรเณน ทนฺโต ได้แก่ ผู้ฝึกตน ด้วยจรณะแล้ว จะบรรลุความสงบได้ ความว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้ว ให้ สมาบัติเกิดขึ้น เจริญวิปัสสนา มีสมาบัติเป็นปทัฏฐาน ย่อมบรรลุ ความสงบโดยส่วนเดียว คือ ธรรมอย่างเอก ที่มีชื่อว่า พระนิพพาน.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 24

ปุโรหิตหักล้างคำของท่านเสตเกตุดาบส อย่างนี้แล้ว ได้ทำดาบสเหล่านั้นทั้งหมด ให้เป็นคฤหัสถ์ คือ ให้สึก ให้ถือโล่ และอาวุธ จักให้เป็นการกชน เป็นทหารหมู่ใหญ่ ให้ทำการบำรุงพระราชา. ได้ทราบว่า นี้คือ วงศ์ของการกชนหมู่ใหญ่.

พระศาสดา ครั้นทรงนำ พระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า เสตเกตุดาบสในครั้งนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้โกหกในบัดนี้ บุตรของคนจัณฑาลในครั้งนั้น ได้แก่ พระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนปุโรหิต ได้แก่ เราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถา เสตเกตุชาดกที่ ๒