[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 279
เวรัญชกัณฑวรรณนา
กถาว่าด้วยปุพเพนิวาสญาณ หน้า 279
จิตประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ฯ หน้า 280
อรรถาธิบายวิเคราะห์ ปุพเพนิวาสศัพท์ หน้า 282
อรรถาธิบายเรื่องกัป หน้า 284
พุทธเขต ๓ พร้อมทั้งอรรถาธิบาย หน้า 285
พระอสีติมหาสาวกระลึกชาติได้แสนกัป หน้า 289
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 279
กถาว่าด้วยปุพเพนิวาสญาณ
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเอกเทศแห่งคุณทั้งหลาย ที่จตุตถฌานเป็นเหตุอํานวยให้เหล่านั้น จึงตรัสว่า เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ดังนี้เป็นต้น.
ในคําว่า โส เอวํ เป็นต้นเหล่านั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โส คือ โส อหํ แปลว่า เรานั้น. บทว่า เอวํ นั่นเป็นบทแสดงลําดับแห่งจตุตถฌาน. มีอธิบายว่า เราได้เฉพาะจตุตถฌาน ด้วยลําดับนี้.
บทว่า สมาหิเต ความว่า (เมื่อจิตของเรา) ตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิในจตุตถฌานนี้.
ส่วนในคําว่า ปริสุทฺเธ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่า บริสุทธิ์ เพราะมีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ อันอุเบกขาให้เกิดแล้ว. มีคําอธิบายไว้ว่า ชื่อว่า ผุดผ่อง คือใสสว่าง เพราะความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์นั่นเอง.
ชื่อว่า ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะความที่กิเลสเพียงดังเนินมีราคะเป็นต้น อันมรรคกําจัดแล้ว เพราะฆ่าซึ่งปัจจัยมีสุขเป็นต้นเสียได้. ชื่อว่ามีอุปกิเลสปราศไปแล้ว เพราะความไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนั่นเอง. จริงอยู่ จิตย่อมเศร้าหมอง เพราะกิเลสเพียงดังเนิน.
ชื่อว่า เป็นธรรมชาติอ่อน เพราะอบรมดีแล้ว มีคําอธิบายว่า ถึงความชํานาญ. แท้จริง จิตที่เป็นไปอยู่ในอํานาจ ท่านเรียกว่า มุทุ (อ่อน). อนึ่ง ชื่อว่าควรแก่การงาน เพราะความเป็นจิตอ่อนนั่นเอง มีคําอธิบายว่า เหมาะแก่
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 280
การงาน คือควรประกอบในการงาน. จริงอยู่ จิตที่อ่อน ย่อมเป็นของควรแก่การงาน ดุจทองคําที่ไล่มลทินออกดีแล้ว ฉะนั้น. ก็จิตแม้ทั้ง ๒ (คือจิตอ่อนและจิตที่ควรแก่การงาน) นั้นจะมีได้ ก็เพราะเป็นจิตที่ได้รับอบรมดีแล้วนั่นแล เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นแม้ธรรมอย่างหนึ่งอื่น ที่อบรมแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นของอ่อนและควรแก่การงานเหมือนจิตนี้เลยนะ ภิกษุทั้งหลาย (๑)
ชื่อว่า ตั้งมั่นแล้ว เพราะตั้งอยู่ในธรรมทั้งหลายมีความบริสุทธิ์เป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าถึงความไม่หวั่นไหว เพราะความเป็นจิตตั้งมั่นนั่นเอง มีอธิบายว่า เป็นจิตไม่หวั่นไหว คือหมดความหวั่นไหว. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตั้งมั่นแล้วเพราะความเป็นจิตตั้งอยู่แล้วในอํานาจของตน โดยความเป็นจิตอ่อนและควรแก่การงาน. ชื่อว่า ถึงความไม่หวั่นไหว เพราะความเป็นจิตอันธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น ประคองไว้แล้ว.
[จิตประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นจิตไม่หวั่นไหว]
จริงอยู่ จิตอันศรัทธาประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะอสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) อันวิริยะประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะโกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) อันสติประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะความประมาท (ความเลินเล่อ) อันสมาธิประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) อันปัญญาประคองไว้แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา (ความไม่รู้) ที่ถึงความสว่าง ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะความมืดคือกิเลส จิตอันธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ประคองไว้แล้ว เป็นจิตถึงความไม่หวั่นไหว. จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ดังพรรณนามาแล้วนี้ ย่อมเป็น
(๑) องฺ. เอก. ๒๐/๑๑.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 281
ของควรแก่อภินิหาร เพื่อการทําให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรทําให้แจ้งด้วยอภิญญา.
แม้อีกนัยหนึ่ง เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิในจตุตถฌาน ชื่อว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ เพราะเป็นจิตไกลจากนิวรณ์, ชื่อว่าผุดผ่อง เพราะก้าวล่วงองค์ฌานมีวิตกเป็นต้น, ชื่อว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะไม่มีความประพฤติต่ําด้วยความปรารถนาอันลามก ซึ่งเป็นข้าศึกต่อการกลับได้ฌาน (๑) อธิบายว่า ชื่อว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะไม่มีความประพฤติต่ำ ด้วยความปรารถนา คือ เพราะไม่มีปัจจัยแห่งกามราคะมีประการต่างๆ อันหยั่งลงแล้ว คือเป็นไปแล้วด้วยอํานาจความปรารถนา. ชื่อว่า มีอุปกิเลสปราศไปแล้ว เพราะความปราศไปแห่งความเศร้าหมองของจิต มีอภิชฌาเป็นต้น. ก็แม้ธรรมทั้ง ๒ (คือความไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และมีอุปกิเลสปราศไป) นั้น บัณฑิตพึงทราบตามแนวแห่งอนังคณสูตรและวัตถูปมสูตร (๒).
ชื่อว่า เป็นจิตอ่อน เพราะถึงความชํานาญ. ชื่อว่า ควรแก่การงานเพราะเข้าถึงความเป็นบาทแห่งฤทธิ์. ชื่อว่า ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวเพราะเข้าถึงความเป็นธรรมชาติประณีต ด้วยความเต็มบริบูรณ์แห่งภาวนา, อธิบายว่า จิตย่อมถึงความไม่หวั่นไหว ฉันใด, ตั้งมั่นแล้ว ฉันนั้น. จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ แม้ดังพรรณนามาแล้วนี้ ย่อมเป็นของควรแก่อภินิหาร เป็นบาท เป็นปทัฏฐาน แห่งการทําให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรทําให้แจ้งด้วยอภิญญา ด้วยประการฉะนี้.
(๑) วิสุทธิมรรค. ๒/๒๐๖ เป็น ฌานปฏิลาภปจฺจนีกานํ.
(๒) ม. มู. ๑๒/๔๒ - ๖๔.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 282
บทว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติฺาณาย ความว่า เมื่อจิตนั่นอันเป็นบาทแห่งอภิญญา เกิดแล้วอย่างนั้น, (เราได้น้อมจิตไป) เพื่อประโยชน์แก่บุพเพนิวาสานุสติญาณนั้น.
[อรรถาธิบายวิเคราะห์ ปุพเพนิวาสศัพท์]
ในบรรดาบทว่า ปุพฺเพนิวาสา เป็นต้นนี้ พึงทราบวิเคราะห์ศัพท์ดังนี้ :-
ขันธ์ที่ตนเคยอยู่แล้วในกาลก่อน คือในอดีตชาติ ชื่อว่า ปุพเพนิวาส (ขันธ์ที่ตนเคยอยู่แล้วในกาลก่อน).
ขันธ์ที่ตนเคยอยู่ทับแล้ว คือที่ตนตามเสวยแล้ว ได้แก่ ที่เกิดขึ้นในสันดานของตนแล้วดับไป หรือธรรมที่ตนเคยอยู่แล้ว ชื่อว่า นิวุฏฺา (ขันธ์หรือธรรมที่ตนเคยอยู่ทับแล้ว).
ธรรมทั้งหลายที่ตนเคยอยู่ ด้วยการอยู่โดยความเป็นโคจร คือที่ตนรู้แจ้ง ได้แก่ที่ตนกําหนดแล้ว ด้วยวิญญาณของตน หรือแม้ที่ตนรู้แจ้งแล้วด้วยวิญญาณของผู้อื่น ในญาณทั้งหลายมีการตามระลึกถึงสังสารวัฏฏ์ที่ตนตัดได้ขาดแล้ว ชื่อว่า นิวุฏฺา.
พระโยคาวจรย่อมตามระลึกได้ถึงขันธ์ ที่ตนเคยอยู่ในกาลก่อนด้วยสติใด (๑) สตินั้นชื่อว่า บุพเพนิวาสานุสติ ในคําว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ นี้
ญาณที่สัมปยุตต์ด้วยสตินั้น ชื่อว่า ญาณ. เพื่อประโยชน์แก่บุพเพนิวาสานุสติญาณนี้, มีคําอธิบายว่า (เราได้น้อมจิตไป) เพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือเพื่อบรรลุ ได้แก่เพื่อถึงญาณนั้น ด้วยประการฉะนี้.
(๑) วิสุทธิมรรค. ๒/๒๕๓.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 283
บทว่า อภินินฺนาเมสิํ แปลว่า เราได้น้อมไปเฉพาะแล้ว. บทว่า โส คือ โส อหํ แปลว่า เรานั้น. บทว่า อเนกวิหิตํ แปลว่า มิใช่ชาติเดียว, อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า อันเราให้เป็นไปแล้ว คือพรรณนาไว้แล้วโดยอเนกประการ. บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ ได้แก่สันดานอันเราเคยอยู่ประจําในภพนั้นๆ ตั้งต้นแต่ภพที่ล่วงแล้วเป็นลําดับไป. ด้วยบทว่า อนุสฺสรามิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงว่า เราได้ตามระลึกไปๆ ถึงลําดับแห่งชาติได้อย่างนี้ คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้างเป็นต้น, อีกอย่างหนึ่งเราระลึกตามได้จริงๆ คือเมื่อจิตสักว่าเราได้น้อมไปเฉพาะแล้วเท่านั้น เราก็ระลึกได้. จริงอยู่ พระมหาบุรุษทั้งหลายผู้มีบารมีเต็มเปียมแล้ว ไม่มีการทําบริกรรม เพราะเหตุนั้น มหาบุรุษเหล่านั้น พอน้อมจิตมุ่งตรงไปเท่านั้นก็ย่อมระลึก (ชาติ) ได้. ส่วนกุลบุตรผู้เป็นอาทิกรรมิกทั้งหลาย ต้องทําบริกรรมจึงระลึก (ชาติ) ได้ เพราะเหตุนั้น การบริกรรมด้วยสามารถแห่งกุลบุตรเหล่านั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย. แต่เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวการบริกรรมนั้น จะทํานิทานแห่งพระวินัยให้เป็นภาระหนักยิ่ง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวการบริกรรมนั้นไว้ แต่นักศึกษาผู้มีความต้องการควรถือเอาบริกรรมนั้นตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค. (๑) ก็ในนิทานแห่งพระวินัยนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาไว้เฉพาะบาลีเท่านั้น.
บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งการแสดงประการที่พระองค์ทรงเริ่มไว้แล้ว. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงประการที่ต่างกันแห่งบุพเพนิวาส ที่พระองค์ทรงเริ่มไว้แล้วนั้น จึง
(๑) วิสุทธิมรรค. ๒ /๒๕๑ - ๒๕๓.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 284
ตรัสคํามีอาทิว่า เอกมฺปิ ชาติํ เป็นต้น. ในคําว่า เอกมฺปิ ชาติํ เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
สองบทว่า เอกมฺปิ ชาติํ ความว่า ชาติหนึ่งบ้าง ได้แก่ ขันธสันดานอันนับเนื่องในภพหนึ่ง ซึ่งมีปฏิสนธิเป็นมูล มีจุติเป็นที่สุด. บทว่า เทฺวปิ ชาติโย เป็นต้น ก็นัยนี้.
[อรรถาธิบายเรื่องกัป]
อนึ่ง ในบทว่า อเนเกปิ สํวฏฺฏกปฺเป เป็นต้น พึงทราบว่ากัปที่กําลังเสื่อมลง ชื่อว่าสังวัฏฏกัป, กัปที่กําลังเจริญขึ้น ชื่อวิวัฏฏกัป. บรรดาสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปทั้ง ๒ นั้น สังวัฏฏฐายีกัป ชื่อว่าเป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยสังวัฏฏกัป เพราะสังวัฏฏกัปเป็นมูลเดิมแห่งสังวัฏฏฐายีกัปนั้น และวิวัฏฏฐายีกัป ก็เป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยวิวัฏฏกัป.
จริงอยู่ เมื่อถือเอาเช่นนั้น กัปทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ อย่างเหล่านี้, ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ สังวัฏฏกัป ๑ สังวัฏฏฐายีกัป ๑ วิวัฏฏกัป ๑ วิวัฏฏฐายีกัป ๑ (๑) , ทั้งหมดย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้ว.
บรรดากัปเหล่านั้น สังวัฏฏกัปมี ๓ คือ เตโชสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะไฟ) ๑ อาโปสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะน้ำ) ๑ วาโยสังวัฏฏกัป (คือกัปที่พินาศไปเพราะลม) ๑.
เขตแดนแห่งสังวัฏฏกัปมี ๓ คือ ชั้นอาภัสสระ ๑ ชั้นสุภกิณหะ ๑ ชั้นเวหัปผละ ๑. ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะไฟ, ในกาลนั้น โลกย่อมถูกไฟเผา ภายใต้ตั้งแต่ชั้นอาภัสสระลงมา, ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะน้ำ
(๑) องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๙๐.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 285
ในกาลนั้น โลกย่อมถูกน้ำทําลายให้แหลกเหลวไป ภายใต้ตั้งแต่ชั้นสุภกิณหะลงมา. ในกาลใด กัปย่อมพินาศไปเพราะลม, ในกาลนั้น โลกย่อมถูกลมพัดให้กระจัดกระจายไป ภายใต้ตั้งแต่ชั้นเวหัปผละลงมา. ก็โดยส่วนมาก (๑) พุทธเขตอย่างหนึ่ง (คือเขตของพระพุทธเจ้า) ย่อมพินาศไป แม้ในกาลทุกเมื่อ.
[พุทธเขต ๓ พร้อมทั้งอรรถาธิบาย]
ขึ้นชื่อว่า พุทธเขต (คือเขตของพระพุทธเจ้า) มี ๓ คือ ชาติเขต (คือเขตที่ประสูติ) ๑ อาณาเขต (คือเขตแห่งอํานาจ) ๑ วิสัยเขต (คือเขตแห่งอารมณ์ หรือความหวัง) ๑.
ในพุทธเขต ๓ อย่างนั้น สถานเป็นที่หวั่นไหวแล้ว เพราะเหตุทั้งหลายมีการถือปฏิสนธิเป็นต้น ของพระตถาคต ชื่อ ชาติเขต ซึ่งมีหมื่นจักรวาลเป็นที่สุด.
สถานที่อานุภาพแห่งพระปริตรเหล่านี้ คือ รัตนปริตร เมตตาปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร เป็นไปชื่อว่า อาณาเขต ซึ่งมีแสนโกฏิจักรวาลเป็นที่สุด.
เขตเป็นที่พึ่งซึ่งพระองค์ทรงระลึกจํานงหวัง ที่พระองค์ทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า ก็หรือว่า ตถาคตพึงหวังโลกธาตุมีประมาณเพียงใด ดังนี้เป็นต้นชื่อว่า วิสัยเขต ซึ่งมีประมาณหาที่สุดมิได้.
บรรดาพุทธเขตทั้ง ๓ เหล่านั้น อาณาเขตอย่างหนึ่ง ย่อมพินาศไปดังพรรณนามาฉะนี้. ก็เมื่ออาณาเขตนั้นพินาศอยู่ ชาติเขตก็ย่อมเป็นอันพินาศไปด้วยเหมือนกัน. และชาติเขตเมื่อพินาศไป ก็ย่อมพินาศโดยรวมกันไปทีเดียว. แม้เมื่อดํารงอยู่ ก็ย่อมดํารงอยู่โดยรวมกัน. ความพินาศไป และความดํารงอยู่
(๑) วิตฺถารโตติ ปุถุกโต. โยชนา ๑/๑๖๑.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 286
แห่งเขตนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค. (๑) นักศึกษาทั้งหลายผู้มีความต้องการ พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคนั้น.
ก็บรรดาสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้แล้วอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ โพธิมัณฑ์ เพื่อต้องการตรัสรู้ยิ่งซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงระลึก (บุพเพนิวาสได้) ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง.
ทรงระลึกได้ โดยนัยอย่างไร?
คือทรงระลึกได้โดยนัยว่า อมุตฺราสิํ ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมุตฺราสิํ ความว่า ในสังวัฏฏกัปชื่อโน้น เราได้มีแล้ว คือในภพก็ดี ในกําเนิดก็ดี ในคติก็ดี ในวิญญาณฐิติก็ดี ในสัตตาวาสก็ดี ในสัตตนิกายก็ดี ชื่อโน้น เราได้มีแล้ว.
บทว่า เอวนฺนาโม ความว่า (ในภพเป็นต้นชื่อโน้น) เรามีชื่อว่าเวสสันดร หรือมีชื่อว่า โชติบาล.
บทว่า เอวํ โคตฺโต ความว่า เราเป็นภควโคตรหรือโคตมโคตร.
บทว่า เอวํวณฺโณ ความว่า เราเป็นผู้มีผิวขาว หรือดําคล้ำ.
บทว่า เอวมาหาโร ความว่า เรามีอาหารคือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อ หรือมีผลไม้ที่หล่นลงเองเป็นของบริโภค.
บทว่า เอวํสุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เราได้เสวยสุขและทุกข์ต่างโดยประเภทมีสามิสสุขและนิรามิสสุขเป็นต้น ที่เป็นไปทางกายและทางจิตโดยอเนกประการบ้าง.
(๑) วิสุทธิมรรค. ๒/๒๒๕ - ๒๖๕.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 287
บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า (ในภพเป็นต้นชื่อโน้น) เรามีที่สุดแห่งอายุมีกําหนดได้ร้อยปี หรือมีที่สุดแห่งอายุมีกําหนดได้แปดหมื่นสี่พันกัป อย่างนั้น.
หลายบทว่า โส ตโต จุโต อมุตฺร อุทปาทิํ ความว่า เรานั้น จุติจากภพ กําเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือสัตตนิกายนั้นแล้วจึงได้เกิดขึ้นในภพ กําเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือในสัตตนิกายชื่อโน้นอีก.
บทว่า ตตฺราปาสิํ ความว่า ภายหลังเราได้มีแล้ว ในภพ กําเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือในสัตตนิกายแม้นั้น ซ้ำอีก. คําว่า เอวํนาโม เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
อีกอย่างหนึ่ง เพราะการระลึกนี้ว่า อมุตฺราสึ เป็นการทรงระลึกตามที่ต้องการของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงระลึกขึ้นไปตามลําดับ, การระลึกนี้ว่า โส ตโต จุโต เป็นการพิจารณาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงระลึกถอยหลังกลับ, เพราะฉะนั้น พึงทราบใจความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายเอาภพดุสิต จึงตรัสคํานี้ว่า อมุตฺร อุทปาทิํ ในลําดับแห่งการทรงอุบัติขึ้นในภพนี้ๆ ว่า อิธูปปนฺโน.
หลายบทว่า ตตฺราปาสิํ เอวนฺนาโม ความว่า เราได้เป็นเทวบุตรมีนามว่า เสตุเกตุ ในดุสิตพิภพแม้นั้น.
บทว่า เอวํ โคตฺโต ความว่า เรามีโคตรอย่างเดียวกันกับเทวดาเหล่านั้น.
บทว่า เอวํวณฺโณ ความว่า เรามีผิวพรรณดุจทอง.
บทว่า เอวมาหาโร ความว่า เรามีอาหารขาวสะอาดเป็นทิพย์.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 288
บทว่า เอวํสุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เราได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์อย่างนี้. ส่วนทุกข์ เป็นเพียงทุกข์ประจําสังขารเท่านั้น.
บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า เรามีที่สุดแห่งอายุห้าสิบเจ็ดโกฏิกับหกสิบแสนปี อย่างนี้.
หลายบทว่า โส ตโต จุโต ความว่า เรานั้น จุติจากดุสิตพิภพนั้นแล้ว.
ชุมนุมบทว่า อิธูปปนฺโน ความว่า เราเกิดแล้วในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวีในภพนี้.
บทว่า อิติ แปลว่า ด้วยประการฉะนี้.
สองบทว่า สาการํ สอุทฺเทสํ คือพร้อมด้วยอุเทศ ด้วยอํานาจชื่อและโคตร, พร้อมด้วยอาการ ด้วยอํานาจผิวพรรณเป็นต้น.
จริงอยู่ สัตว์ คน อันชาวโลกย่อมแสดงขึ้นด้วยชื่อและโคตรว่า ติสสะ โคตมะ ดังนี้. สัตว์ ย่อมปรากฏโดยความเป็นต่างๆ กัน ด้วยผิวพรรณเป็นอาทิว่า ขาว ดําคล้ำ ดังนี้เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ชื่อและโคตร ชื่อว่าอุเทศ, ผิวพรรณเป็นต้นนอกนี้ ชื่อว่าอาการ.
พวกเดียรถีย์ระลึกชาติได้ ๔๐ กัป
ถามว่า ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงระลึกบุพเพนิวาสได้พวกเดียวเท่านั้นหรือ? ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไป :- พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงระลึกได้พวกเดียว ก็หาไม่, ถึงแม้พระปัจเจกพุทธ พระสาวกและเดียรถีย์ก็ระลึกได้, แต่ว่าระลึกได้โดยไม่วิเศษเลย. (๑) จริงอยู่ พวกเดียรถีย์ย่อมระลึกได้เพียง ๔๐ กัปเท่านั้น เลยจากนั้นไป ระลึกไม่ได้.
(๑) สารัตถทีปนี ๑/๖๑๓ เป็น... อวิเสเสน.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 289
ถามว่า เพราะเหตุไร?
แก้ว่า เพราะมีปัญญาหย่อนกําลัง.
แท้จริง ปัญญาของเดียรถีย์เหล่านั้น จัดว่าหย่อนกําลัง เพราะเว้นจากการกําหนดนามและรูป.
[พระอสีติมหาสาวกระลึกชาติได้แสนกัป]
ก็บรรดาพระสาวกทั้งหลาย พระมหาสาวก ๘๐ รูป ระลึกได้แสนกัป. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ ระลึกได้หนึ่งอสงไขยและแสนกัป. พระปัจเจกพุทธทั้งหลาย ระลึกได้สองอสงไขยและแสนกัป. จริงอยู่ อภินิหารของพระมหาสาวก พระอัครสาวก และพระปัจเจกพุทธเหล่านั้น มีประมาณเท่านี้. ส่วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีกําหนด, พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมระลึกได้ตราบเท่าที่ทรงปรารถนา. แต่พวกเดียรถีย์ ย่อมระลึกได้ตามลําดับขันธ์เท่านั้น พ้นลําดับ (ขันธ์) ไป ย่อมไม่สามารถจะระลึกได้ ด้วยอํานาจจุติและปฏิสนธิ. เพราะว่าการก้าวลงสู่ประเทศ (แห่งญาณ) ที่ตนปรารถนา ย่อมไม่มีแก่เดียรถีย์เหล่านั้น ผู้เป็นเหมือนคนบอด. พระสาวกทั้งหลาย ย่อมระลึกได้แม้โดยประการทั้ง ๒. พระปัจเจกพุทธทั้งหลาย ก็เหมือนอย่างนั้น. ส่วนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงระลึกได้ตลอดสถานที่ๆ ทรงมุ่งหวังนั้นๆ ทั้งหมดทีเดียวในเบื้องต่ําหรือเบื้องบน ในโกฏิกัปป์เป็นอันมากด้วยลําดับขันธ์บ้าง ด้วยอํานาจจุติและปฏิสนธิบ้าง ด้วยอํานาจการก้าวไปดุจราชสีห์บ้าง.
ในคําว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
บทว่า เม คือ มยา แปลว่า อันเรา. ความรู้แจ้ง ท่านเรียกว่า วิชชา เพราะอรรถว่า ทําให้รู้แจ้ง.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 290
ถามว่า ย่อมทําให้รู้แจ้งอะไร?
แก้ว่า ย่อมทำให้รู้แจ้ง ซึ่งบุพเพนิวาส.
โมหะที่ปกปิดวิชชานั้น ท่านเรียกว่า อวิชชา เพราะอรรถว่า เป็นเหตุทําไม่ให้รู้แจ้งซึ่งบุพเพนิวาสนั้นนั่นแล. โมหะนั้นนั่นเอง ท่านเรียกว่า ตมะ (ความมืด) ในบทว่า ตโม เพราะอรรถว่าปกปิด. วิชชานั้นนั่นเอง ท่านเรียกว่า อาโลกะ ในบทว่า อาโลโก เพราะอรรถว่าทําแสงสว่าง. ก็บรรดาบทเหล่านี้ ในบทว่า วิชฺชา อธิคตา นี้ มีอธิบายเท่านี้. คําที่เหลือเป็นคํากล่าวสรรเสริญ.
ส่วนในบททั้ง ๒ ว่า วิชฺชา อธิคตา, อวิชฺชา วิหตา นี้มีโยชนาว่า วิชชานี้แล เราได้บรรลุแล้ว อวิชชา อันเราผู้ได้บรรลุวิชชานั้น กําจัดได้แล้ว, อธิบายว่า ให้พินาศแล้ว.
ถามว่า เพราะเหตุไร?
แก้ว่า เพราะเหตุที่วิชชาเกิดขึ้นแล้ว.
ในบททั้ง ๒ (คือ ตโม วิหโต, อาโลโก อุปฺปนฺโน) แม้นอกนี้ก็มีนัยนี้.
ศัพท์ว่า ยถา ในคําว่า ยถาตํ นี้ เป็นนิบาต ลงในความอุปมา. ศัพท์ว่า ตํ เป็นนิบาต.
(วิชชาเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว) แก่บุคคลผู้ชื่อว่าไม่ประมาท เพราะความไม่อยู่ปราศจากสติ, ผู้ชื่อว่ามีความเพียรเผากิเลส เพราะยังกิเลสให้เร่าร้อนด้วยความเพียร, ผู้ชื่อว่ามีตนส่งไปแล้ว อธิบายว่า ผู้ส่งจิตไปแล้ว เพราะเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใยในกายและชีวิต.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 291
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคําอธิบายนี้ไว้ว่า อวิชชา เรากําจัดได้แล้ว, วิชชา เกิดขึ้นแล้ว (แก่เรา), ความมืด เรากําจัดได้แล้ว, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว (แก่เรา), ผลอันสมควรแก่การประกอบความเพียรเนืองๆ นั้น เราได้แล้ว เหมือนอย่างอวิชชา อันพระโยคาวจรพึงกําจัด, วิชชาพึงเกิดขึ้น, ความมืดพึงถูกกําจัด, แสงสว่างพึงเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้ไม่ประมาท ผู้มีความเพียรเผากิเลส ผู้มีตนส่งไปแล้วอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
หลายบทว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ปมา อภินิพฺพิทา อโหสิ กุกฺกุฏจฺฉาปกสฺเสว อณฺฑโกสมฺหา ความว่า พราหมณ์ ความชําแรกออกครั้งที่หนึ่ง คือความออกไปครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ความเกิดเป็นอริยะครั้งที่หนึ่งนี้แล ได้มีแล้วแก่เรา เพราะทําลายกระเปาะฟอง คืออวิชชา อันปกปิดขันธ์ที่เราอยู่อาศัยในภพก่อน ด้วยจะงอยปาก คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ดุจความชําแรกออก คือความออกไป ได้แก่ความเกิดในภายหลัง ในหมู่ไก่ จากกระเปาะฟองไข่นั้น แห่งลูกไก่ เพราะทําลายกระเปาะฟองไข่ ด้วยจะงอยปาก หรือด้วยปลายเล็บเท้า ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
กถาว่าด้วยปุพเพนิวาส จบ.