ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คนพาล คืออะไร?
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 117
การไม่คบพาล การคบแต่บัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชา นี้ก็เป็นมงคลอุดม
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 170
บทว่า อเสวนา ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.
บทว่า พาลานํ ความว่า ชื่อว่า พาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้ อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา. ซึ่งพาลเหล่านั้น.
บทว่า ปณฺฑิตานํ ความว่า ชื่อว่า บัณฑิต เพราะดำเนินไป อธิบายว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า ซึ่งบัณฑิตเหล่านั้น.
บทว่า เสวนา ได้แก่ การคบ การเข้าใกล้ ความมีบัณฑิตนั้นเป็นสหาย มีบัณฑิตนั้นเป็นเพื่อน ความพรักพร้อมด้วยบัณฑิตนั้น.
บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพนับถือ กราบไหว้.
บทว่า ปูชเนยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรบูชา.
บทว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประมวลการไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้งหมดจึงตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตม.ํ ท่านอธิบายว่า คำใดท่านถามว่า โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมเถิด ท่านจงถือคำนั้นว่า มงคลอันอุดม ในข้อนั้นก่อน นี้เป็นการพรรณนาบทแห่งคาถานี้ ...
คนพาล หมายถึงอะไร?
สรุปจากอรรถกถา หน้า 170-175
- ชื่อว่า พาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้ อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา ...
- สัตว์ทั้งหลายทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถมีปาณาติบาต เป็นต้น ชื่อว่า พาล ในจำนวนพาลและบัณฑิตนั้น.
- พาลลักษณะของพาล ๓ เหล่านี้ ... ครูทั้ง ๖ ... สัตว์อื่นๆ เห็นปานนั้น (ผู้เป็นข้าศึกต่อพระอริยเจ้า) คือ เทวทัต ... นางจิญจมาณวิกา ... และพี่ชายของทีฆวิทะ ... พึงทราบว่า พาล.
คนพาล ... ย่อมยังตนเองและเหล่าคนที่ทำตามคำของตนให้พินาศ ด้วย ... ความเห็นที่ตนถือไว้ไม่ดี
ภัยเหล่านั้นทั้งหมด เกิดจากพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต.
อุปัทวะทุกอย่างย่อม เกิดจากพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต.
อุปสรรคทุกอย่างย่อม เกิดจากพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต.
พาลเป็นภัย บัณฑิตไม่เป็นภัย
พาลอุบาทว์ บัณฑิตไม่อุบาทว์
พาลเป็นอุปสรรค บัณฑิตไม่เป็นอุปสรรค
พาลเสมือนปลาเน่า ผู้คบพาลนั้น ก็เสมือนห่อด้วยใบไม้ที่ห่อปลาเน่า ย่อมประสบภาวะที่วิญญูชนทอดทิ้ง และรังเกียจ
คนพาลเป็นคนปัญญาทราม
คนพาลย่อมแนะนำข้อที่ไม่ควรแนะนำ
คนพาลย่อมประกอบคนไว้ในกิจที่มิใช่ธุระ
การแนะนำคนพาลก็แสนยาก เพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี ก็โกรธ
คนพาลนั้นไม่รู้จักวินัย
ลักษณของคนพาล ๓ ประเภท อะไรบ้าง?
ลักขณสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 5
- บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า เป็นคนพาล ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบเถิดว่า เป็นพาล
จินตสูตร หน้า 7
- ลักษณะ นิมิต อปทานของคนพาล มี ๓ อย่าง ๓ อย่างคืออะไรบ้าง คือ คนพาลในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้คิดอารมณ์ชั่วโดยปกติ พูดคำชั่วโดยปกติ และทำการชั่วโดยปกติ
(คิดไม่ดี ด้วยอำนาจ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ พูดที่ไม่ดี แยกประเภทเป็นมุสาวาทเป็นต้น ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ด้วยอำนาจปาณาติบาตเป็นต้น.)
อัจจยสูตร หน้า 9
- บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า เป็นคนพาล ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ ไม่เห็นความล่วงเกินโดยเป็นความล่วงเกิน เห็นความล่วงเกินแล้วไม่ทำคืนตามวิธีที่ชอบ อนึ่ง เมื่อคนอื่นแสดงโทษที่ล่วงเกิน ก็ไม่รับตามวิธีที่ชอบ
(หมายถึง ไม่เห็นว่าตนเองผิด แม้รู้ว่าตนเองผิดก็ไม่ขอโทษ และเมื่อคนอื่นทำผิดกับตนแล้วรับโทษมาแล้วมาขอโทษก็ไม่ยกโทษให้)
อโยนิโสสูตร หน้า 11
- บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า เป็นพาล ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย แก้ปัญหาโดยไม่แยบคาย อนึ่ง คนอื่นแก้ปัญหาได้แยบคายด้วยถ้อยคำอันกลมกล่อมสละสลวยได้เหตุผลแล้วไม่อนุโมทนา บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบเถิดว่า เป็นคนพาล
เหตุที่แสดงการไม่คบคนพาลก่อน แสดงการคบบัณฑิต หน้า 172
เหมือนบุรุษผู้ฉลาด รู้จักทาง รู้จักทั้งที่มิใช่ทาง ถูกถามถึงทาง จึงบอกทางที่ควรละเว้นเสียก่อนแล้ว ภายหลังจึงบอกทางที่ควรยึดถือไว้ว่า ในที่ตรงโน้นมีทางสองแพร่ง ... พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน จึงตรัสว่า การไม่คบพาล การคบบัณฑิต ความจริงคนพาลทั้งหลาย ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เหมือนทางที่ควรละเว้น แต่นั้น ก็ควรคบ ควรเข้าใกล้แต่บัณฑิตเหมือนทางที่ควรยึดถือไว้.
เหตุใดจึงตรัสการไม่คบคนพาลและการคบบัณฑิต ก่อนมงคลอื่นๆ หน้า 172
เพราะเหตุที่พวกเทวดาและมนุษย์ยึดความเห็นว่ามงคลในสิ่งที่เห็นแล้วเป็นต้นนี้ ด้วยการคบพาล ทั้งการคบพาลนั้น ก็ไม่เป็นมงคล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงติเตียนการสมคบกับคนที่มิใช่กัลยาณมิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าและทรงสรรเสริญการสมาคมกับกัลยาณมิตร ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ในโลกทั้งสอง จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.
เพราะอะไรการไม่คบคนพาลจึงเป็นมงคล หน้า 180
ในมงคลทั้ง ๓ นั้น พึงทราบว่าการไม่คบพาลชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ของโลกทั้งสอง เหตุป้องกันภัยมีภัยเกิดแต่คบพาลเป็นปัจจัยเป็นต้น การคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชา ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่ง นิพพานและสุคติ
[สรุป]
บางคนไม่อยากเห็นแมวดำ คิดว่าเป็นอัปมงคล บางคนคิดว่าต้องใส่เสื้อสีนี้เป็นมงคล สีนี้เป็นอัปมงคล แท้จริงการไม่เห็นคนพาลและการเห็นบัณฑิตเป็นมงคล การเห็นคนพาลและการไม่เห็นบัณฑิตเป็นอัปมงคล การศึกษาเรื่องคนพาล ไม่ใช่เพียงเพื่อไม่คบ ไม่เห็น หรือเลือกคบคน
แท้จริง พาล คือ อกุศลธรรม ซึ่งมีอยู่จริงเป็นปรกติ ซึ่งผู้ที่สะสมอกุศลธรรมมากขึ้น สามารถล่วงอกุศลกรรมบถได้ ย่อมนำภัยมาให้แน่นอนทางปัจจุบันและอนาคต ประโยชน์ คือ เพื่อรู้ด้วยว่ายังมีอกุศลอยู่หรือไม่ แม้ขณะที่คิดไม่ดี ขณะนั้นผู้นั้นเองก็เป็นพาลแล้ว
กราบอนุโมทนา