[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 1
๑. อัชฌัตติกอนิจจสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งอายตนะภายใน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 1
๑. อัชฌัตติกอนิจจสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งอายตนะภายใน
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 2
ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงดังนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. หูเป็นของไม่เที่ยง จมูกเป็นของไม่เที่ยง ลิ้นเป็นของไม่เที่ยง กายเป็นของไม่เที่ยง ใจเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในหู ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจมูก ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในลิ้น ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.
จบ อัชฌัตติกอนิจจสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 3
สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย
สฬายตนวรรค
ปฐมปัณณาสก์
อรรถกถาอัชฌัตติกอนิจจสูตรที่ ๑
ในสฬายตนวรรค อัชฌัตติกอนิจจสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า จกฺขุํ ได้แก่ จักษุ ๒ คือญาณจักษุ ๑ มังสจักษุ ๑. ในจักษุ ๒ อย่างนั้น ญาณจักษุมี ๕ อย่าง คือพุทธจักษุ ธรรมจักษุ สมันตจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ. ในจักษุ ๕ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า พุทธจักษุ ได้แก่ อาสยานุสยญาณและอินทริยปโรปริยัตตญาณ ซึ่งมาในพระบาลีว่า ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. ที่ชี่อว่า ธรรมจักษุ ได้แก่ มรรคจิต ๓ ผลจิต ๓ ซึ่งมาในพระบาลีว่า วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุํ อุทปาทิ ธรรมจักษุปราศจากกิเลสดุจธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้น. ที่ชื่อว่า สมันตจักษุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ ที่มาในพระบาลีว่า ปาสาทมารุยฺห สมนฺตจกฺขุํ สมันตจักษุขึ้นสู่ปราสาท. ที่ชื่อว่า ทิพยจักษุ ได้แก่ ญาณที่เกิดขึ้นด้วยการขยายอาโลกกสิณ ที่มาในพระบาลีว่า ทิพฺเพน จกฺขุนา วิสุทฺเธน ด้วยทิพยจักษุอันหมดจด. ที่ชื่อว่า ปัญญาจักษุ ได้แก่ ญาณในการกำหนดสัจจะ ๔ ซึ่งมาในพระบาลีว่า จกฺขุํ อุทปาทิ จักษุ (ธรรมจักษุ) เกิดขึ้นแล้ว. แม้มังสจักษุ ก็มี ๒ อย่าง คือ สัมภารจักษุ ๑ ปสาทจักษุ ๑.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 4
ใน ๒ อย่างนั้น ว่าโดยสังเขป ชิ้นเนื้ออันชั้นของตาล้อมไว้ในกระบอกตา มีองค์ประกอบ ๑๓ อย่าง คือธาตุ ๔ วรรณะ คันธะ รสะ โอชา สัมภวรูป ชีวิตรูป ภาวรูป จักษุปสาทรูป กายปสาทรูป. แต่เมื่อว่า โดยพิสดาร รูป ๙ เหล่านี้ คือธาตุ ๔ วรรณะ คันธะ รสะ โอชา สัมภวรูป ว่าด้วยอำนาจสมุฏฐาน ๔ (๙ x ๔) เป็นรูป ๓๖ รูป ที่มีกรรม เป็นสมุฏฐาน ๔ เหล่านี้ คือชีวิตรูป ๑ ภาวรูป ๑ จักษุปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ จึงรวมเป็นสสัมภารรูป ๔๐ นี้ชื่อว่า สสัมภารจักษุ. ก็ในสสัมภารจักษุรูปเหล่านี้ รูปใดที่สามารถเพื่ออันเห็น รูปที่ตั้งอยู่ในลูกตาที่เห็นได้ แวดล้อมด้วยแววตาดำที่กำหนดไว้ด้วยลูกตาขาว รูปนี้ชื่อว่า ปสาทจักษุ. กถาว่าโดยพิสดารแห่งจักขุปสาทรูป และโสตปสาทรูปเป็นต้นอื่นจากจักษุปสาทรูปนั้น กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคแล.
ในรูปเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาจักขุปสาทรูป จึงตรัสว่า จกฺขุํ ภิกฺขเว อนิจฺจํ ดังนี้ เป็นต้น. ในพระบาลีนั้น กถาว่าโดยพิสดาร ท่านประกาศไว้แล้วในหนหลัง โดยนัยมีอาทิว่า จตูหิ การเณหิ อนิจฺจํ อุทยพฺพยวนฺตตาย รูปชื่อว่า ไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ เพราะมีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา. บทว่า โสตญฺจ ท่านประสงค์เอาเฉพาะโสตปสาทรูป. ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป ก็เหมือนกัน. บทว่า มโน ได้แก่ จิตที่ดำเนินไปในการพิจารณา อันเป็นไปในภูมิ ๓. ดังนั้นพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสไว้ตามอัธยาศัยของสัตว์ผู้ตรัสรู้ ในเพราะเมื่อพระองค์ตรัสแสดงลักษณะ ๓ ในอายตนะภายใน ๖ ไว้แล้ว.
จบ อรรถกถาอัชฌัตติกอนิจจสูตรที่ ๑