ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๗๗
โดย khampan.a  11 ส.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48275

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๗๗



~ ขณะนี้ความเข้าใจเล็กน้อยสักปานใดเหมือนผงธุลี แต่ ... แต่ละขณะมีคุณที่ว่าไม่เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมั่นคงที่จะเข้าใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมให้ฟังใช่ไหม? ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไปให้ฟังคำของพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าฟังคำของพระองค์เมื่อไหร่ เริ่มรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ ทุกคำที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เป็นพระปัญญาที่เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น
~ ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตนมีตามความเป็นจริงและรีบแก้ไข คือ พิจารณาเห็นโทษ ก็คงดีกว่าการที่จะปล่อยให้โรค (กิเลส) นั้นกำเริบหรือทรุดหนักจนกระทั่งถึงกับเป็นอัมพาตทางใจ คือ ไม่ยอมที่จะขัดเกลากิเลสเลย และถ้าอกุศลมากมายเพิ่มพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้น ก็ควรที่จะเห็นโทษในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ยอม แม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลส


~ ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่เป็นมิตร เวลาเห็นมิตรรู้สึกอย่างไร? ดีใจที่ได้พบกัน มีความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคย ไม่มีภัยไม่มีอันตรายอะไรเลย นั่นคือสภาพลักษณะของเมตตาซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ เพราะฉะนั้น ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่ระงับพยาบาท
~ สำหรับความโกรธซึ่งทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลต้องมี เพราะมีปฏิฆานุสัยที่ยังไม่ได้ดับเชื้อของความโกรธจนหมดเป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาด) บางคนเป็นผู้มีอัธยาศัยน่ารัก มีอัธยาศัยดี มีจิตใจงาม มีความเมตตา มีความกรุณา ทุกอย่างเกือบจะดูเหมือนว่าไม่เห็นโกรธ แต่เมื่อไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่ แม้ว่าไม่มาก ความขุ่นใจ ความไม่พอใจเวลาประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ต้องมีมาก เช่น สถานที่ที่ไม่สะอาด เวลาเห็นแล้วยากที่ใจจะไม่เกิดความขุ่น คือ ขณะนั้นรู้สึกไม่สบายใจ ความไม่สบายใจนั้นก็เป็นลักษณะของโทสะชนิดหนึ่ง
~ ผู้ที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ ก็ทราบว่าวันหนึ่งท่านต้องจากไป ถ้าไม่เลี้ยงดูท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คือเป็นผู้ไม่เห็นคุณของมารดาบิดา เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะเห็นคุณของบุคคลอื่นได้อย่างไร แม้แต่ผู้ที่เป็นมารดาบิดาซึ่งเลี้ยงดู ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ความสุขสบายมาตั้งแต่เกิด ผู้นั้นยังไม่เห็นคุณ ยังไม่ทำการกตเวที คือ ตอบแทนคุณของท่าน ที่จะคิดถึงคุณของบุคคลอื่นก็คงจะยาก เพราะแม้แต่คุณของมารดาบิดาก็ไม่เห็น
~ ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อขัดเกลากิเลสก็เริ่มจากการที่ค่อยๆ เข้าใจตัวเอง เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็นและชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมที่ตัวเองชัดเจนถูกต้อง ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
~ ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วการศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง และงูพิษนั้นก็จะกัด เพราะว่า เมื่อมีความรู้มากขึ้น ก็มีความสำคัญตน มีความทะนงตน แต่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยการขัดเกลากิเลส และถ้าใครเตือน ก็ควรขอบคุณบุคคลนั้น
~ สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง แม้ยังไม่จากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นว่าถึงอนาคตชาติก็จะต้องเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นสมบัติอันแท้จริง เพียงแต่ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น มีก็เหมือนไม่มี เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจริงๆ เพราะเหตุว่าเมื่อดับไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ได้กลับมาอีก
~ ภพนี้ชาตินี้ อาจจะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยชาติ ตระกูล โภคสมบัติ รูปสมบัติ วิชาความรู้ บริวารสมบัติ ทุกสิ่งทุกประการ แต่ว่าภพหน้า ชาติหน้า จะเป็นใคร จะมีรูปสวย รูปงาม มีทรัพย์สมบัติมาก เกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ข้าทาสบริวาร หรือเปล่า อาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น การที่ระลึกถึงความตาย เห็นความไม่เที่ยง ก็ย่อมจะทำให้ท่านละคลายแม้ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ในสมบัติของท่าน ซึ่งเคยถือว่าเป็นของเราและนอกจากนั้นก็ยังทำให้เกิดละคลายมานะ การถือตน การสำคัญตน หรือความผูกพันในสัตว์ ในบุคคล ซึ่งเป็นที่รัก ในสังขารที่เป็นที่รักได้ จึงจะเป็นกุศล
~ ไม่มีใครสามารถที่จะไปหยุดยั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งเป็นกิจการงานอย่างหนึ่ง จิตเกิดขึ้นทำอะไร ทำกิจเห็น ต้องเห็น ขณะนี้ทำกิจแล้ว คือ เห็น มีปัจจัยที่จะทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้จิตได้ยินเกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัย จิตก็เกิดขึ้นกระทำกิจได้ยิน เป็นการทำงานแต่ละขณะจิตจริงๆ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
~ เริ่มเห็นความจริงว่าทุกอย่างที่มี ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ค่อยๆ ละคลายความติดข้องว่าเป็นเรา ค่อยๆ ละคลายความคิดว่าบังคับบัญชาได้ ค่อยๆ ละคลายความคิดว่าทุกอย่างยั่งยืน
~ คนที่เข้าใจธรรม เป็นคนดีขึ้นแน่นอน ใช่ไหม? แล้วความเข้าใจธรรม ทำให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจธรรมก็แตกแยกกัน เป็นพวกนั้นพวกนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจธรรม ไม่ผิดเลย เข้าใจถูกด้วยกัน ก็ย่อมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่แตกแยกในการที่จะไม่หวั่นไหวในการที่จะบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการไม่เก็บสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยไม่กล่าวไม่เปิดเผยให้คนอื่นได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระคุณของพระองค์ยิ่งขึ้น
~ เมื่อรู้ว่าผิด ก็ต้องแก้ เพราะฉะนั้น สัจจบารมี (ธรรมฝ่ายดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส คือ ความเป็นผู้ตรง จริงใจ) ถ้าไม่มี คนนั้นไม่มีทางที่จะงอกเงยในทางธรรมที่จะเข้าใจถูกต้องได้ เพราะเป็นคนที่ไม่ตรง ไม่สามารถจะละทิ้งสิ่งที่ผิดได้
~ จะเป็นบุคคลนี้เพียงชั่วขณะที่ยังอยู่ในโลกนี้ จากไปก็ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าเคยเห็นอะไร? เคยชอบอะไร? เคยชังอะไร? เคยดีชั่วอย่างไร? เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถตั้งตนไว้ชอบ คือ เป็นผู้ตรง สำคัญที่สุดคือเป็นผู้ตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้ามีปัญญาอย่างนี้ เห็นโทษของอกุศล ก็จะทำให้ตั้งมั่นในกุศลเพิ่มขึ้น
~ รีบเร่งทำกุศลทุกประการ เพื่อที่จะขัดเกลาชำระล้างจิตที่ดำสกปรกออกไป เพราะว่า ถ้ามองไม่เห็นว่าจิตสกปรกแล้วเป็นจิตของเราเอง เราก็โกรธคนอื่น แล้วเห็นแต่ความไม่ดีของคนอื่น ในขณะนั้นคนนั้นกำลังสบาย แต่เรากำลังเติมความดำความสกปรกให้กับจิตใจของเรา ซึ่งคนอื่นก็จะเอาความดำความสกปรกของจิตใจเราออกไม่ได้ นอกจากปัญญาของเราเอง
~ ไม่มีอะไรดีเท่ากับความเป็นคนดี ต่อไปอีก ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นผู้ที่มั่นคงในความดีแม้เพียงเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ สะสมไปด้วยความไม่ประมาท เพราะเหตุว่า ประมาทเมื่อไหร่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ เป็นโอกาสที่จะได้เป็นคนดี ด้วยการเข้าใจพระธรรม แล้วก็สะสมความเห็นถูกเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส คนฉลาด เห็นโทษของกิเลส ขัดเกลากิเลสเลย ไม่รอ เพราะถ้ารอ ก็เพิ่มกิเลสมากขึ้นไปอีก



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๗๖



... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...



ความคิดเห็น 1    โดย nattawan  วันที่ 11 ส.ค. 2567

เริ่มเห็นความจริงว่าทุกอย่างที่มี ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ค่อยๆ ละคลายความติดข้องว่าเป็นเรา ค่อยๆ ละคลายความคิดว่าบังคับบัญชาได้ ค่อยๆ ละคลายความคิดว่าทุกอย่างยั่งยืน

ยินดีในกุศลวิริยะค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย swanjariya  วันที่ 11 ส.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง


ความคิดเห็น 3    โดย มังกรทอง  วันที่ 11 ส.ค. 2567

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ส.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Komsan  วันที่ 12 ส.ค. 2567

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย jaturong  วันที่ 12 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ