๑๐. อสัสสตทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง
โดย บ้านธัมมะ  8 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36983

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 486

๑๐. อสัสสตทิฏฐิสูตร

ว่าด้วยความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 486

๑๐. อสัสสตทิฏฐิสูตร

ว่าด้วยความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง

[๔๓๕] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะถือมั่นอะไร เพราะยึดมั่นอะไร


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 487

จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ ฯลฯ เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ เมื่อวิญญาณมีอยู่ ฯลฯ วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

ภ. เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง ใช่ไหม?

ภิ. ไม่พึงเกิดขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

ภ. สิ่งใดที่ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว แสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยงเล่า?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ.

ภ. เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง ใช่ไหม?

ภิ. ไม่พึงเกิดขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นอันละความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสาวก ผู้นี้ เราตถาคตเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

จบ อสัสสตทิฏฐิสูตร


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 488

๘ - ๑๐ อรรถกถามหาทิฏฐิสูตรเป็นต้น ถึงสูตรที่ ๑๐

บทว่า อกฏา คือ (กายทั้ง ๗) ไม่มีใครสร้าง.

บทว่า อกฏวิธา คือ ไม่มีใครทำการจัดแจง (ให้สร้าง) อธิบายว่า แม้ที่ใครๆ ให้ทำด้วยบอกว่า จงทำอย่างนี้ ก็ไม่มี.

บทว่า อนิมฺมิตา คือ ไม่มีใครเนรมิตแม้ด้วยฤทธิ์.

บทว่า อนิมฺมิตวิธา คือ การจัดแจง ไม่มีใครเนรมิตแล้ว. อธิบายว่า ไม่ใช่ที่ใครๆ ควรเนรมิตได้ ปาฐะว่า อนิมฺมิตพฺ พา ดังนี้บ้าง.

บทว่า วญฺฌา คือ ไม่มีผล ได้แก่ ไม่ให้เกิดผลอะไรๆ เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เป็นหมัน และตาลที่เป็นหมัน (ตาลตัวผู้) เป็นต้น (๑)

บทว่า กูฏฏฺา ความว่า ยืนหยัดอยู่เหมือนยอดภูเขา (เพราะเหตุนั้น) จึงชื่อว่ากูฏัฏฐา

บทว่า เอสิกฏฺฐายิฏฺฐิตา ตั้งอยู่ เป็นเหมือนตั้งอยู่ดุจเสาระเนียด เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า เอสิกฏฺฐายิฏฺฐิตา อธิบายว่า เสาระเนียดที่ฝังดีแล้ว ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวฉันใด กายก็ตั้งอยู่ฉันนั้น.

บทว่า น อิญฺชนฺติ ความว่า ไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด ฉะนั้น

บทว่า น วิปริณมนฺติ ความว่า ไม่ละปกติ.

บทว่า น อญฺมญฺํ พฺยาเธนฺติ ความว่า ไม่เบียดเบียนกันและกัน.

บทว่า นาลํ แปลว่า ไม่สามารถ.


(๑) อรรถกถาเป็น วชฺฌาติ ปํสุวชฺฌา ตาลาทโย วิย. ฉบับพม่าเป็น วญฺฌปสุวญฺฌตาลาทโย วิย. บาลีเป็น วญฺฌา แปลตามฉบับพม่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 489

ในบทว่า ปฐวีกาโย เป็นต้น มีอธิบายว่า ปฐวีนั่นแลชื่อว่าปฐวีกายะ (กองดิน) หรือปฐวีสมูหะ (มูลดิน).

บทว่า สตฺตนฺนํ เตฺวว กายานํ มีความว่า ศัสตราที่ฟันลงไปในกองถั่วเขียวเป็นต้น ย่อมแทรกเข้าไปในระหว่างถั่วเขียวเป็นต้น ฉันใด ศัสตราก็แทรกเข้าไปในระหว่าง คือทางช่อง ได้แก่ ทางที่ว่างของกายทั้ง ๗ ฉันนั้น.

ในการฆ่านั้น พวกมิจฉาทิฏฐิแสดงว่า จะมีแต่เพียงหมายรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้นว่า เราปลงผู้นี้จากชีวิต (ฆ่าสัตว์).

มิจฉาทิฏฐิกบุคคล (ผู้นิยมในลัทธินี้) พากันแสดงการปลงใจเชื่อแบบไร้ประโยชน์ (ที่ได้มา) ด้วยเหตุเพียงการตรึกแต่เพียงอย่างเดียว (โดยใช้หลักตักกวิทยาเพียงอย่างเดียว) ว่า กำเนิดใหญ่ คือ กำเนิดที่สำคัญ มี ๑,๔๐๐,๐๐๐ รวมกับกำเนิดอื่นอีก ๖,๖๐๐ และกรรมอีก ๕๐๐ ด้วยบทว่า โยนิปมุขสตสหสฺสานิ.

แม้ในบทว่า ปญฺจ จ กมฺมานิ ตีณิ จ กมฺมานิ (กรรม ๕ และ กรรม ๓) เป็นต้น ก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้.

ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลายกล่าวถึงกรรม ๕ ด้วยอำนาจอินทรีย์ ๕ กล่าวถึงกรรม ๓ ด้วยอำนาจกายกรรม เป็นต้น.

ส่วนในบทว่า กมฺเม จ อฑฺฒกมฺเม จ (กรรมและกรรมครึ่งหนึ่ง) นี้ มีอธิบายว่า กายกรรมและวจีกรรมของเจ้าลัทธินั้นได้ชื่อว่าเป็นกรรม มโนกรรมได้ชื่อว่าเป็นกรรมครึ่งหนึ่ง.

มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวว่าปฏิปทามี ๖๒ ด้วยบทว่า ทวฏฺิปฏิปทา.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 490

บทว่า ทฺวฏฺนฺตรกปฺปา ความว่า ในกัปใหญ่กัปหนึ่งมีกัปชื่อว่าอันตรกัป (กัปย่อย) ๖๔ กัป.

แต่ว่า เจ้าลัทธินี้ไม่รู้กัปอื่นอีก ๒ กัป (สังวัฏฏฐายีกัป ๑ วิวัฏฏฐายีกัป ๑) จึงกล่าวอย่างนี้.

มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวถึง อภิชาติ (กำเนิด) ๖ เหล่านี้ คือ กัณหาภิชาติ ๑ นีลาภิชาติ ๑ โลหิตาภิชาติ ๑ หลิททาภิชาติ ๑ สุกกาภิชาติ ๑ ปรมสุกกาภิชาติ ๑ ด้วยบทว่าฉฬาภิชาติโย.

มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวว่า บรรดากำเนิดทั้ง ๖ นั้น โอรัมภิกกำเนิด (การเกิดเป็นนายพรานแกะ) สูกริกกำเนิด (การเกิดเป็น นายพรานสุกร) สากุณิกกำเนิด (การเกิดเป็นนายพรานนก) มาควิกกำเนิด (การเกิดเป็นนายพรานเนื้อ) ลุทธกำเนิด (การเกิดเป็นนายพราน) มัจฉมาฏกกำเนิด (การเกิดเป็นชาวประมง) โจรกำเนิด (การเกิดเป็น โจร) โจรฆาฏกำเนิด (การเกิดเป็นเพชฌฆาต ฆ่าโจร) พันธนาคาริก- กำเนิด (การเกิดเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำ) ก็หรือว่า การงานที่ต่ำต้อยเหล่าอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ชื่อว่า กัณหาภิชาติ (กำเนิดดำ).

กำเนิดภิกษุ มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวว่า นีลาภิชาติ (กำเนิดเขียว) ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นใส่หนามลงไปในปัจจัย ๔ แล้วจึงฉัน (อาหาร) และภิกษุทั้งหลายก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยอาศัยหนาม ก็บาลีดังว่ามานี้เป็นบาลีของภิกษุนั้นนั่นแล.

อีกอย่างหนึ่ง เขากล่าวกันว่า นักบวชทั้งหลายเป็นเหมือนอยู่ในดงหนาม จึงมีชื่ออย่างนี้ (กณฺกวุตฺติกา)

เขากล่าวว่า พวกนิครนถ์ที่ใช้ผ้าผืนเดียวชื่อว่า โลหิตาภิชาติ (กำเนิดแดง) ว่ากันว่านิครนถ์พวกนี้บริสุทธิ์กว่า ๒ พวกแรก.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 491

เขากล่าวว่า สาวกของอเจลกะที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ชื่อว่า หลิทฺทาภิชาติ (กำเนิดเหลือง) นิครนถ์ทั้งหลายทำพวกสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้ถวายปัจจัยของตน ให้มีความสำคัญกว่าพวกนิครนถ์ด้วยกันด้วยอาการอย่างนี้.

เขากล่าวว่า พวกอาชีวกผู้ชาย พวกอาชีวกผู้หญิง นี้ชื่อว่า สุกกาภิชาติ ว่ากันว่า อาชีวกทั้งหญิงและชายเหล่านั้นบริสุทธิ์กว่า ๔ พวกแรก.

เขากล่าวว่า เจ้าลัทธิ ชื่อ นันทะ วัจฉะ สังกิจจะ มักขลิโคสาล ชื่อว่า ปรมสุกกาภิชาติ. ว่ากันว่าเจ้าลัทธิเหล่านั้นบริสุทธิ์กว่าพวกอื่นทั้งหมด.

มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวว่า ภูมิ (ระดับของการเจริญเติบโต) ของคนมี ๘ ภูมิเหล่านี้คือ มันทภูมิ ๑ ขิฑฑาภูมิ ๑ วีมังสกภูมิ ๑ อุชุคตภูมิ ๑ เสขภูมิ ๑ สมณภูมิ ๑ ชานนภูมิ ๑ ปันนภูมิ ๑ ด้วยบทว่า อฏฺฐ ปุริสภูมิโย.

บรรดาภูมิทั้ง ๘ นั้น ตลอด (เวลา) ๗ วัน จำเดิมแต่วันเกิด สัตว์ทั้งหลายนับว่ายังอ่อนแอ โง่เง่า เพราะออกมาจากสถานที่คับแคบ เขาว่านี้ชื่อว่า มันทภูมิ.

ส่วนสัตว์เหล่าใดมาจากทุคคติ สัตว์เหล่านั้นชอบร้องไห้บ่อยๆ และร้องดังด้วย (ส่วน) สัตว์เหล่าใดมาจากสุคติ สัตว์เหล่านั้นหวนระลึกถึงสุคตินั้น แล้วก็ชอบหัวเราะ นี้ชื่อว่า ขิฑฑาภูมิ.

การจับมือหรือเท้าของมารดาบิดา (หรือ) จับเตียงหรือตั่งแล้ว วางเท้าลงเหยียบพื้น ชื่อว่า วิมังสกภูมิ.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 492

เวลาที่สามารถเดินได้ ชื่อว่า อุชุคตภูมิ

ระยะเวลาที่ศึกษาศิลปะ ชื่อว่า เสขภูมิ

เวลาที่ออกจากเรือนบวช ชื่อว่า สมณภูมิ

เวลาที่มีความรู้เพราะส้องเสพ (ศึกษามาจาก) อาจารย์ ชื่อว่า ชานนภูมิ.

เขากล่าวถึงสมณะผู้ไม่ฉลาดอย่างนี้ว่า ก็ภิกษุเป็นผู้พลัดตก (จากประโยชน์) เสียแล้ว (เพราะ) พระชินเจ้าหาตรัสอะไรไว้ด้วยไม่ นี้ชื่อว่า ปันนภูมิ.

บทว่า เอกูนปัญฺาส อาชีวสเต ได้แก่ วิธีดำเนินชีวิต ๔,๙๐๐.

บทว่า ปริพฺพาชกสเต ได้แก่ การบวชเป็นปริพพาชก ๑๐๐.

บทว่า นาควาสสเต ได้แก่ นาคมณฑล ๑๐๐.

บทว่า วีเส อินฺทฺริยสเต ได้แก่ อินทรีย์ ๒,๐๐๐.

บทว่า ติํเส นิรยสเต ได้แก่ นรก ๓,๐๐๐.

มิจฉาทิฏฐิกบุคคลกล่าวหมายถึงหลังมือและหลังเท้าเป็นต้น ซึ่งเป็นที่โปรยธุลีลง ด้วยบทว่า รโชธาตุโย.

กล่าวหมายถึง อูฐ โค ฬา แพะ สัตว์เลี้ยงเนื้อ และกระบือ ด้วยบทว่า สตฺตสญฺีคพฺภา.

กล่าวหมายถึง ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้ ด้วยบทว่า อสญฺีคพฺภา.

กล่าวหมายถึง ต้นอ้อย ต้นไผ่ และต้นอ้อเป็นต้น ซึ่งมีต้น (ใหม่) งอกขึ้นที่ตา ด้วยบทว่า นิคณฺิคพฺภา.


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 493

บทว่า สตฺต ทิพฺพา ได้แก่ เทพจำนวนมาก ก็มิจฉาทิฏฐิกบุคคลนั้นเรียก (เทพเหล่านั้น) ว่าสัตว์. แม้มนุษย์ก็มีจำนวนมาก เขาก็เรียก (มนุษย์เหล่านั้น) ว่าสัตว์.

บทว่า สตฺต ปิสาจา ได้แก่ ปีศาจจำนวนมากมาย มิจฉาทิฏฐิกบุคคลก็เรียก (ปีศาจจำนวนมากเหล่านั้น) ว่าสัตว์ (๑)

บทว่า สรา ได้แก่ สระใหญ่ เขากล่าวหมายถึงสระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระอโนดาต สระสีหปปาตะ สระมณฑากินี สระมุจจลินท์ และสระกุณาละ.

บทว่า ปวุฏา ได้แก่ ห้วง (๒)

บทว่า ปปาตา ได้แก่ เหวใหญ่ (๒)

บทว่า ปปาตสตานิ ได้แก่ เหวเล็ก ๗๐๐.

บทว่า สุปินา ได้แก่ สุบินใหญ่ ๗.

บทว่า สุปินสตานิ ได้แก่ สุบินเล็ก ๗oo.

บทว่า มหากปฺปิโน ได้แก่ มหากัปทั้งหลาย

ในข้อนี้ เจ้าลัทธินั้นมีความเห็นดังนี้ว่า เมื่อบุคคลเอาปลายหญ้าคาจุ่มน้ำออกจากสระใหญ่ ๑ สระ โดย ๑๐๐ ปีต่อน้ำ ๑ หยด แล้วทำสระนั้นให้แห้งถึง ๗ ครั้ง (อย่างนี้) จัดเป็นมหากัป ๑. พาลและบัณฑิต


(๑) อรรถกถาว่า สตฺต ทิพฺพาติ พหุเทวา โสมนสตฺตาติ วทติ มนุสฺสาปิ อนนฺตา สตฺตาติ วทติ. สตฺต ปิสาจาติ มหนฺตมหนฺตา สตฺตาติ วทติ. ฉบับพม่าเป็น สตฺต เทวาติ พหู เทวา, โส ปน สตฺตาติ วทติ. มนุสฺสาปิ อนนฺตา, โส สตฺตาติ วทติ. สตฺต เปสาจาติ ปิสาจา มหนฺตมหนฺตา, สตฺตาติ วทติ. แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ฉบับพม่าเป็น ปวุฏาติ คณฺฐิตา. ปปาตาติ มหาปปาตา.


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 494

ปล่อยให้มหากัปเห็นปานนี้สิ้นไปได้ ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป แล้วก็จะทำที่สุดทุกข์ได้.

เชื่อกันว่า ในระยะเวลาระหว่างนั้น แม้บัณฑิตก็ไม่สามารถจะบริสุทธิ์ได้ ทั้งคนพาลก็ไม่เลยจากนั้นไปได้.

บทว่า สีเลน วา ได้แก่ ด้วยศีลของอเจลกะหรือด้วยศีลอย่างอื่นชนิดใดชนิดหนึ่ง แม้ด้วยวัตรก็เช่นนั้นเหมือนกัน.

บทว่า ตเปน ความว่า ผู้ใดคิดว่าเราเป็นบัณฑิต แล้วบริสุทธิ์ในระยะเวลาระหว่าง (มหากัปเหล่านั้น) ผู้นั้นชื่อว่าทำกรรมที่ยังไม่สุกงอมให้สุกงอมด้วยการบำเพ็ญตบะ. ผู้ใดคิดว่าเขาเป็นพาล ดังนี้แล้ว ล่วงเลยเวลากำหนดดังกล่าวแล้วไป ผู้นั้นชื่อว่าได้สัมผัสกรรมที่ยังไม่สุกงอมแล้วทำให้สิ้นสุดไปได้.

บทว่า เหวํ นตฺถิ คือ เอวํ นตฺถิ. ก็กรรมทั้งสองอย่างนั้น เจ้าลัทธิแสดงว่าใครๆ ไม่สามารถจะทำได้.

บทว่า โทณมิเต แปลว่า เป็นเหมือนตวงด้วยทะนาน.

บทว่า สุขทุกฺเข คือ สุขทุกฺขํ (แปลว่า สุขและทุกข์)

บทว่า ปริยนฺตกเต คือ (สังสารวัฏฏ์) ถูกทำให้มีที่สุดได้ตามเวลามีกำหนดดังกล่าวแล้ว.

บทว่า นตฺถิ ทายนวฑฺฒเน คือไม่มีความเสื่อมและเจริญ อธิบายว่า สังสารวัฏฏ์ของบัณฑิตก็ไม่เสื่อม (สิ้นสุดลง) ของคนพาลก็ไม่เจริญ (ยืดออกไป).

บทว่า อุกฺกํสาวกํเส นี้เป็นไวพจน์ของความเสื่อมและความเจริญเหมือนกัน.


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 495

บัดนี้ เมื่อจะให้ความหมายนั้นสำเร็จด้วยอุปมา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า เสยฺยถาปิ นาม เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตฺตคุเฬ ได้แก่ กลุ่มด้ายที่กรอไว้กำลังคลี่คลายออกไปนั่นเอง.

ด้วยบทว่า ปเลติ เจ้าลัทธิแสดงว่า กลุ่มด้ายที่วาง (เงื่อนหนึ่ง) ไว้บนภูเขาหรือบนยอดไม้ แล้วขว้างไป จะคลี่คลายไปตามขนาด (ความยาว) ของด้าย เมื่อด้ายหมดแล้วก็จะหยุดลงในที่นั้นแหละ ไม่ไปต่อ ฉันใด พาลและบัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อแก้ไขไปก็จะสิ้นสุดความสุขความทุกข์ได้ตามอำนาจกาลเวลา คือจะผ่านพ้น สุขทุกข์ไปได้ตามกาลเวลาดังกล่าวแล้ว.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๘ ถึงสูตรที่ ๑๐.