ข้อความใดในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ให้เจริญสติปัฏฐานไหนก่อน
โดย สารธรรม  25 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44233

ถ. ก็ถูกอย่างที่อาจารย์ว่า แต่ผมอยากได้เบื้องต้น สำหรับเดือนแรก หรืออาทิตย์แรกที่ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น ที่ท่านว่าสำรวมตา สำรวมใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายและสำรวมใจนั้น สำรวมอย่างไร ท่านว่าทั่วๆ ไป แต่เมื่อเราจะเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นเบื้องต้น คล้ายๆ เข้าโรงเรียนเตรียม ที่อาจารย์ว่านี่ถูกหมด แต่อยู่ในบั้นปลายไปแล้ว ไปธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สุ. มหาสติปัฏฐานมี ๔ คือ กายานุปัสสนาสิตปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่มีข้อความใดในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ให้เจริญสติปัฏฐานไหนก่อน

ถ. มีครับ ผมจะอ่านให้ฟังว่ามีที่ไหน ที่จริงผมจดไว้นานแล้วที่ท่านแบ่งไว้ ท่านก็แบ่งไว้ตามนี้ เป็นอุบายให้แยบคาย คือ ท่านแบ่งไว้อย่างนี้เพื่อให้เหมาะแก่ตัณหาและทิฏฐิ ท่านแบ่งไว้เลยในมัชฌิมนิกาย ทีฆนิกาย พระไตรปิฎก อรรถกถา เชื่อผมคงไม่พลาดแน่ อาจารย์ผมบอกมาด้วย

สุ. มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีจิตตา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่มีพยัญชนะใดที่กล่าวว่าให้เจริญสติปัฏฐานใดก่อน

ถ. นี่สำคัญ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องสรุปมา อาจารย์ปฏิบัติมาต้องรู้แจ้งแทงตลอด ต้องเข้าใจพระไตรปิฎกแล้ว มานี่ไม่ต้องเอาพระไตรปิฎกมาแล้ว อาจารย์ปฏิบัติแล้วต้องสรุปให้ได้ เขาเชื่อมือแล้วว่าเป็นอาจารย์ปฏิบัติ ไม่ต้องอ้างอะไรแล้ว

ถ๒. อาจารย์ถามว่า ที่ให้เรียงตามลำดับนั้นมีที่ไหน

ถ. มหาสติปัฏฐานนี่แหละ ไม่มีในมหาสติปัฏฐานนี้เพราะอะไร เพราะว่าในพระไตรปิฎกมีเหตุไว้ทางหนึ่ง มีผลไว้ทางหนึ่ง เป็นหลายเล่ม ทีนี้บรรดาอาจารย์ที่ปฏิบัติต้องแทงตลอดพระไตรปิฎกแล้ว รู้แจ้งแทงตลอด แล้วสรุปมาให้เรา ถ้าขืนเอาตรงนี้ก็เหมือนคนตาบอดคลำช้าง อาจารย์ต้องสรุปมา จริตนี่ไปแบ่งไว้ในอรรถกถาที่ผมว่าเมื่อสักครู่นี้

สุ. ในอรรถกถาไม่ได้กล่าวไว้เลยว่า ให้เจริญอย่างนั้น ให้เจริญอย่างนี้ แต่ หมายความว่า ผู้ใดมีอัธยาศัยอย่างไรย่อมน้อมไปสู่สติปัฏฐานนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า สติปัฏฐานเดียว

ถ. ที่ท่านให้ผม ท่านให้สติปัฏฐานเดียว คือ ให้อายตนะ ๑๒ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

สุ. มิได้ ตามีไหมเวลานี้

ถ. อายตนะ ๑๒ อยู่ในธัมมา ต้องไปตามแบบฝึกของสติปัฏฐาน

สุ. ดิฉันได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา และในขณะนี้กำลังถึงจิตตานุปัสสนา แต่แม้กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสนาก็ตาม เวทนานุปัสสนาก็ตาม จิตตานุปัสสนาก็ตาม ธัมมานุปัสสนาก็ตาม การที่จะรู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ใช่หรือไม่ใช่ เพราะว่ามีตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีหู มีของจริงที่ปรากฏทางหู ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา ยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรพไหน จะพ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ หรือว่าจะพ้นได้

ถ. ถูกครับ อย่างที่ท่านว่า แต่เว้นอย่างนี้แหละครับ ทรงแสดงไว้แยบยล คือ ไม่ต้องมากอย่างนั้น มากอย่างนั้นมันยาก ไปอยู่ในธัมมา อายตนะ ๑๒ ท่านแสดงทั้งกายาก็เหมาะ แต่เราไปอวดเป็นคนรู้ดี ปัญญาดี ไปเอาอายตนะก่อน แล้วที่ท่านทำไปเป็นอย่างไรบ้าง ๒ - ๓ ปี ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ผมจะถามท่านว่า สำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านสำรวมอย่างไร ใจสำรวมอย่างไร เข้าใจว่าสำรวมของท่านกับของผมจะไม่ตรงกัน

สุ. ให้ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา เพราะการเห็นมีจริง สีที่ปรากฏทางตาก็มีจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละความไม่รู้ได้ก็หมายความว่า สติจะต้องระลึกในขณะที่เห็นเพื่อที่จะได้รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ที่ดิฉันบรรยาย บรรยายอย่างนี้หรือไม่


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 120