มีหนังสือพิมพ์เขาเขียนโจมตีว่า การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาไม่ใช่พระพุทธศาสนา อาตมาขอยืนยันว่าพระพุทธศาสนาคือต้นตำรับในการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คืออายุวัฒนกุมาร
พ่อแม่ของอายุวัฒนกุมารเป็นพราหมณ์ พาลูกไปหาเพื่อนที่เป็นพราหมณ์ด้วยกัน เพื่อนท่านนั้นมีอภิญญา พอว่ากล่าวเรื่องธุระเสร็จเรียบร้อยก็ลากลับ พอพ่อลา เพื่อนพราหมณ์ก็ให้พรว่า "อายุวัฑฒะโก จงเป็นผู้มีอายุ" พอแม่ลาก็ให้พรว่า "อายุวัฑฒะโก" แต่พอลูกลาบ้าง กลับเงียบ พ่อของอายุวัฒนกุมารก็สงสัยว่าเป็นเพราะอะไร จึงถาม พราหมณ์ที่เป็นเพื่อนบอกว่า "ลูกเธอจะสิ้นชีวิตภายใน ๗ วัน อวยพรไปแล้วไม่มีผล ก็เลยไม่รู้ว่าจะอวยพรไปทำไม" คนเป็นพ่อก็ตกใจ ถามว่า "มีวิธีแก้ไขหรือไม่?" พราหมณ์ที่เป็นเพื่อนจึงบอกว่า ตัวท่านเองไม่รู้วิธีแก้ไข แต่พระสมณโคดมน่าจะรู้ ให้พาลูกไปกราบพระสมณโคดมจะดีกว่า
ตรงนี้เราจะต้องเห็นความดีของท่านสองประการ
ประการแรกก็คือ ท่านมีทิพจักขุญาณชัดเจน ถึงขนาดว่ากล่าวอะไรที่ไม่ตรงความจริงท่านก็จะไม่พูด
ประการที่สอง ไม่หวงลูกศิษย์ ไม่หวงพรรคพวก แนะนำให้ไปกราบพระพุทธเจ้าแทน
พราหมณ์สองสามีภรรยาก็เลยพาลูกไปกราบพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าเหมือนกัน พอพ่อกราบพระพุทธเจ้าก็ให้พร "อายุวัฑฒะโก จงเป็นผู้เจริญด้วยอายุ" พอแม่กราบก็ให้พร "อายุวัฑฒะโก ขอจงเป็นผู้เจริญด้วยอายุ" พอลูกกราบก็เงียบ แม่ก็นั่งร้องไห้ เพราะตรงกับที่พราหมณ์คนแรกพูดเอาไว้
พ่อจึงได้ถามพระพุทธเจ้าว่ามีวิธีแก้ไขหรือไม่? พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามี ให้ตั้งปะรำ ปูผ้าขาว วงสายสิญจน์ แล้วนำกุมารน้อยนั่งอยู่กลางปะรำ นิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระปริตรตลอด ๗ วัน ๗ คืน พระพุทธเจ้าถามว่า ทำได้หรือเปล่า? พราหมณ์ก็บอกว่าทำได้ แล้วพราหมณ์ก็จัดแจงทำพิธีดังกล่าว
พอถึงวันที่ ๗ พระพุทธเจ้าเสด็จเอง คราวนี้ในเรื่องของเทวทูต หรือที่เราเรียกว่าพระกาล การที่ท่านจะมาเอาใครไป ท่านจะมีวาระเฉพาะของท่าน ถ้าพ้นวาระนั้นไปก็ไม่สามารถที่จะเอาไปได้ เพราะผิดมารยาทผิดธรรมเนียม พอวันสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านเสด็จเอง พรหมเทวดาผู้ใหญ่มากันมาก เทวทูตท่านเป็นระดับผู้น้อยก็ต้องรออยู่ข้างนอก พระพุทธเจ้าท่านก็นั่งอยู่จนเลยเวลา พอเลยเวลาก็บอกว่า คราวนี้ลูกของพราหมณ์ไม่เป็นอะไรแล้ว จะเป็นผู้ที่เจริญด้วยอายุถึง ๑๒๐ ปี เลยตั้งชื่อใหม่ว่าอายุวัฒนกุมาร
ถ้าเราพิจารณาตรงนี้เราจะเห็นว่า เรื่องของการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ พระพุทธศาสนามีบอกไว้ชัดเจนมาก
ข้อมูลเพิ่มเติม : อ้างอิงเรื่องอายุวัฒนกุมารจากพระไตรปิฎก
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
๘. เรื่องอายุวัฒนกุมาร [๘๘]
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=8
ที่มา https://goo.gl/SYdmyJ
เช่นเดียวกับการที่มีคนโจมตีเรื่องทำน้ำมนต์ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้พระอานนท์ทำน้ำมนต์ เพื่อสงเคราะห์ชาวไพศาลีที่เกิดโรคระบาด บรรดาอมนุษย์อยู่กันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้คนเจ็บป่วยล้มตาย พอโดนน้ำพระพุทธมนต์เข้าไป ไม่สามารถที่จะสู้พุทธานุภาพได้ จึงเผ่นหนีกันจนกำแพงเมืองทะลายเป็นแถบๆ
บางเรื่องเจอบรรดาท่านที่มีแต่ปัญญา ต้องบอกว่ามีปัญญาแต่ขาดสติ เขาจะเอาแต่ธรรมะแท้อย่างเดียว พวกประเภทนี้เอาธรรมะแท้ๆ ไปให้ก็รับไม่ได้หรอก เขาคิดกันว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นก็เลยไปวิพากษ์วิจารณ์กันไปเรื่อย เช่นเดียวกับเรื่องของวัตถุมงคลที่ทำให้คนยึดติด ต้องฟังคำตอบหลวงปู่ดู่จึงจะชัดเจน ท่านบอกติดวัตถุมงคล ยังดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล
พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภท ไม่ใช่บัวสี่เหล่านะ ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้แค่ ๓ เหล่า แต่กล่าวถึงบุคคลไว้ ๔ ประเภท ได้แก่
อุคฆฏิตัญญู เป็นบุคคลฉลาดมาก ฟังหัวข้อธรรมก็เข้าใจ บรรลุมรรคผลได้เลย
วิปจิตัญญู ขยายหัวข้อ อธิบายเพิ่มเติม ก็เข้าใจบรรลุมรรคผลได้
เนยยะ ต้องเคี่ยวเข็ญกันอย่างหนัก
ส่วนปทปรมะ ฉลาดเกินไป ไม่ควรที่จะสอน ปทปรมะไม่ได้โง่นะ ฉลาดเกินมนุษย์ ตามรากศัพท์ปทปรมะ แปลว่า มากด้วยบทบาท พวกนี้คือ ท่ามาก ฉลาดเกินไป ไม่ยอมรับความคิดของคนอื่น ทำตัวเป็นน้ำเต็มถ้วย รับอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปทปรมะไม่ได้โง่ หากแต่ฉลาดเกิน ท่านว่าไม่สมควรที่จะสอน เสียเวลาเปล่า
พวกเราก็เลยเอาบัวสามเหล่า กับบุคคลสี่จำพวกไปปนกัน กลายเป็นบัวสี่เหล่า ด้วยประการฉะนี้
ฉะนั้น เขาจะไปคิดว่าทุกคนเป็นอุคฆฏิตัญญู ย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับไปบอกเด็กสามขวบว่า เรียนด็อกเตอร์ดีที่สุด ไปเรียนเลย ในเมื่อ ก.ไก่ เด็กยังเขียนไม่ได้ แล้วจะเรียนได้หรือ? ส่วนใหญ่ปัจจุบันจะมีคนประเภทนี้มาก เพราะฉะนั้น เวลาเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไร ถ้าเราขาดประสบการณ์มักจะคล้อยตามเขาได้ง่าย หรือไม่ก็อาจจะเผลอไปทำลายธรรมะของพระพุทธเจ้าไปด้วย ตกลงว่าการสะเดาะเคราะห์มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยนะ การทำน้ำมนต์ก็มีด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม : อ้างอิงเรื่องการทำน้ำมนต์จากพระไตรปิฎก
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ
เรื่องกรุงเวสาลี (ไพศาลี) : การนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=8
ที่มา https://goo.gl/SYdmyJ
แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าสอนให้ร้องเพลงก็ยังมี เอรกปัตตนาคราช ท่านเกิดในสมัยพระพุทธกัสสป บวชเป็นพระจำพรรษาอยู่สองหมื่นปี แต่ไปทำต้นตะไคร้น้ำขาด ตะไคร้น้ำนะ...ไม่ใช่ตะไคร่น้ำ ไม่ได้แสดงอาบัติ มรณภาพเสียก่อน จึงไปเกิดเป็นเดรัจฉานมีฤทธิ์ คือ พญานาค
ท่านเป็นพญานาคที่สามารถระลึกได้ว่าตัวเองเคยเป็นนักบวชมาก่อน จึงรอว่าเมื่อไรจะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น เอรกปัตตนาคราชจึงแต่งเพลงเป็นปริศนาธรรม แล้วให้ลูกสาวปรากฏตัวเป็นนางมนุษย์สุดโสภา ยืนร้องเพลงอยู่บนศีรษะของพญานาคราช ประกาศว่าถ้าใครแก้ปริศนาธรรมนี้ได้ จะยอมเป็นภรรยาผู้นั้น เหล่าบรรดาชายทั้งหลายจึงพากันไปแก้ปริศนาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครแก้ได้สำเร็จ
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเล็งดูอุปนิสัยสัตว์โลก เห็นวิสัยของอุตรมาณพว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน แล้วในอดีตก็เป็นเนื้อคู่กับลูกสาวเอรกปัตตนาคราช พระพุทธองค์จึงไปดักรออุตรมาณพ ฝ่ายอุตรมาณพทราบข่าวว่ามีผู้หญิงงามเหมือนเทพธิดามาร้องเพลง และถ้าใครร้องเพลงแก้ได้ก็จะยอมเป็นภรรยา อุตรมาณพเกิดความสนใจ อยากได้นางเป็นภรรยาจึงเดินทางไปพบ
อุตรมาณพเดินทางไปเรื่อยๆ ระหว่างทางได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกให้อุตรมาณพแวะเข้ามา อุตรมาณพเห็นพระพุทธเจ้าก็บังเกิดความเลื่อมใส พระพุทธเจ้าจึงสอน และแนะนำว่าถ้าเขาร้องเพลงลักษณะอย่างนี้ให้ร้องแก้ว่าอย่างนี้....
พอได้ดังนั้น อุตรมาณพจึงไปร้องแก้ เอรกปัตตนาคราชพอได้ยินเข้าก็ดีใจ มีคนแก้ปริศนาธรรมได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลก เอรกปัตตนาคราชดีใจจึงเอาหางฟาดน้ำ กลายเป็นคลื่นกวาดชาวบ้านตกทะเลเป็นจำนวนมาก จึงต้องเสียเวลาค่อยๆ ช้อนคนขึ้นมา แล้วก็แปลงร่างเป็นมนุษย์ไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมโปรด อุตรมาณพได้เป็นพระโสดาบัน นางนาควิกาและเอรกปัตตนาคราช เป็นเดรัจฉานจึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ตรงนี้กล่าวไว้ชัดเจนแต่ว่าทิพยสมบัติดีขึ้น เพราะฟังธรรมด้วยความเลื่อมใส เอรกปัตตนาคราชได้ทำตามสัญญาด้วยการยกลูกสาวให้อุตรมาณพ
เราจะเห็นความเป็นอัจฉริยภาพของพระพุทธเจ้าว่า ในการสงเคราะห์คนเพื่อมรรคผล แม้แต่ต้องสอนเขาร้องเพลงพระองค์ท่านก็ทำ เพราะพระองค์ท่านทรงรู้จริงว่าเขาจะได้มรรคผล
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ ณ บ้านอนุสาวรีย์
เดือนมีนาคม ๒๕๕๒
ข้อมูลเพิ่มเติม : อ้างอิงเรื่องการร้องเพลงในพระไตรปิฎก
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔
๓. เรื่องนาคราชชื่อเอรกปัตตะ [๑๕๐]
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=24&p=3
ที่มา https://goo.gl/SYdmyJ
ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ละเอียด ขอเชิญวิทยากร บ้านธัมมะ แสดงความเห็นว่ามีสิ่งใดขัด สิ่งใดเห็นด้วย ประการใด โดยทั้งปวงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามความจริง ไม่อคติต่อใครๆ
อนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สะเดาะเคราะห์ วัตถุมงคล รดน้ำมนต์ ไม่ใช่มงคล ไม่ใช่พระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา และเป็นเรื่องละ ขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เรื่องอยากได้ ความต้องการที่เป็นกิเลส โลภะ สิ่งใดก็ตามที่สอนให้อยากได้ อยากให้อายุยืน สอนให้อยากพ้นภัย สอนให้ทำอย่างไรจะได้รวยๆ โดยอ้างว่าทำบุญแล้วมีอานิสงส์ผลบุญมาก เช่น สะเดาะเคราะห์ อ้างทำกฐิน เป็นต้น อันไม่ใช่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละ ขัดเกลากิเลส นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นไปด้วยกิเลส คำกล่าวใดที่สอนขัดแย้งกับหลักกรรมและผลของกรรม นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาและไม่เป็นมงคล เช่น สอนการนับถือวัตถุมงคล เพราะ มงคลจริงๆ คือ ความดีประการต่างๆ 38 ประการ เป็นต้น ไม่ใช่ วัตถุ สิ่งต่างๆ จะนำมาซึ่งความเป็นมงคล สิ่งที่ดี เพราะ สิ่งที่ดี คือ กุศลกรรมเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ดังนั้นพุทธบริษัท ตื่นด้วยปัญญาด้วยการเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ นั่นคือการทำความดี และ ศึกษาพระธรรม ดั่งเช่น พุทธบริษัทสมัยพุทธกาลเชื่อตามคำสอนของพระองค์และกระทำสิ่งที่เป็นมงคลกับชีวิต คือ ทำดี และ ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่การสะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ เชื่อวัตถุมงคล อันไม่ใช่เหตุ ที่จะได้สิ่งที่ดี แต่กลับเป็นความเชื่อในสิ่งที่ผิดและเป็นความเห็นผิด จึงเป็นอัปมงคล ไม่ใช่มงคล เพราะ สะสมกิเลส ความเห็นผิด นั่นเอง
ท่าน อ.สุจินต์ วันนี้ยังไม่มีใครมีทุกข์ที่จะต้องสะเดาะเคราะห์ใช่ไหม แต่กุศลจิต (บุญ) ก็เกิดได้ ทำไมเราจะไปทำบุญตอนที่เรามีเคราะห์กรรม และก็หวังว่าบุญนั้นจะทำให้เคราะห์กรรมอันนั้นหมดไป แม้ในขณะนี้หรือเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่กุศลจิต (บุญ) เกิดก็เป็นกุศลที่เราจะกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางวัตถุต่างๆ บ้าง ก็กระทำได้ ไม่ต้องไปคิดว่าพอมีเคราะห์กรรมแล้วจะต้องไปสะเดาะหรือว่าจะไปทำบุญเพราะอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ากรรมที่ได้ทำมามากมายมหาศาล แล้วเราก็ไปปล่อยนก ๗ ตัว แค่นั้นพ้นไหมจากกรรมที่ได้กระทำไว้มากมาย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องกรรมและผลของกรรม กุศลจิตย่อมเกิดมากไม่หวั่นไหว แม้ว่าจะได้ลาภหรือว่าเสื่อมลาภก็ตามแต่ไม่ใช่พอได้ลาภก็ไม่ต้องสะเดาะ ไม่ต้องทำกุศล หรือว่าพอมีเคราะห์ก็ต้องไปสะเดาะหรือว่าทำกุศล อันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าเราไปคิดว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ นั้นจะทำให้ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วหมดไปได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงเวลาที่เราบอกว่าผู้ที่มั่นคงในกรรมและผลของกรรมต้องไม่ใช่เพียงเรื่องราว ต้องสามารถที่จะรู้ถึงเหตุที่จะให้เกิดวิบากคือกรรม แล้วก็กุศลจิตและอกุศลจิตด้วย
ประเด็นอื่นที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนา เป็นต้นตำรับการสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา โดยการอ้างพระสูตร อายุวัฒนกุมาร
ขอกล่าวถึงพระสูตร โดยย่อ คือ อายุวัฒนกุมาร
ในคาถาธรรมบท เรื่อง อายุวัฒนกุมาร ซึ่ง เด็กคนนี้ อาจจะสิ้นอายุในอีกไม่กี่วันข้างหน้า บิดา มารดาของเด็ก ได้นิมนต์ พระภิกษุสงฆ์และมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เลี้ยงภัตตาหาร และให้มีการสวดพระธรรม ยักษ์ที่จะเอาชีวิตเด็ก จึงไม่มีโอกาส เพราะเทวดามาประชุมกันมาก ยักษ์ไม่ได้โอกาสที่จะเข้าใกล้เด็ก เพื่อเอาชีวิตเด็ก ทำให้เด็กมีอายุยืนต่อจากนั้น ซึ่งถ้าคิดไม่แยบคาย หรือ คิดผิด ก็คิดว่า เพราะมีการสวด จึงทำให้ต่ออายุของเด็กได้ในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพราะผลของบุญของเด็กเองที่อุปถัมภ์ให้เด็กมีชีวิตต่อ หากไม่ถึงคราวที่จุติจิต (ตาย) จะเกิด คือ สิ้นชีวิต ก็ไม่สามารถทำให้สิ้นชีวิตได้ ครับ แต่เพราะบุญของเด็กเองที่ตามอุปถัมภ์ จึงไม่ทำให้เด็กสิ้นชีวิตในตอนนั้น แต่ไม่ใช่การสวด หรือ การสะเดาะเคราะห์ จึงต่ออายุเด็ก ซึ่งในเรื่องนี้เด็กคนนี้ต่อมาก็ได้ฟังพระธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันและได้มีอายุยืนนานครับ ก็เพราะผลของบุญของเขาเองเป็นสำคัญ ดังนั้นการสวดต่ออายุ จึงเป็นความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนมาจากการศึกษาพระธรรมที่ผิด ไม่ถูกต้องครับ
ซึ่งตอนใกล้จะจบของเรื่อง อายุวัฒนกุมาร ภิกษุทั้งหลายสนทนาเรื่อง อายุวัฒนกุมาร พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเหตุที่จะทำให้อายุยืน ที่ไม่ใช่เกิดจากการสวดมาสะเดาะเคราะห์ แต่เกิดจากกุศลกรรม ที่ทำดี แล้ว มีการไหว้ อ่อนน้อมกับบุคคลที่ควรไหว้ เป็นต้น ดั่งพระดำรัสที่ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่, ก็สัตว์เหล่านี้ไหว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ, พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่จนตลอดอายุทีเดียว" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- ๘. อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ. ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่ บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญ เป็นนิตย์ นี่คือ บทสรุป ของเรื่องอายุวัฒนกุมารที่ถูกต้อง คือ กุศลกรรมที่ทำดีแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักกรรมและผลของกรรม เมื่อมีเหตุให้ผล ก็สามารถทำให้อายุยืนได้ แต่ก็แล้วแต่ว่า กรรมนั้นจะให้ผลหรือไม่ เพราะ การให้ผลของกรรม มีกาลเวลา ไม่ใช่ว่า ทำชาตินี้จะต้องให้ผลชาตินี้ ให้ผลชาติอื่นๆ ก็ได้ ครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การมาสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ ทำพิธีผิดๆ ด้วยความโลภ ความต้องการ แต่ต้องด้วยกุศลกรรมที่ทำดีแล้ว และมีกาละ เวลาของการให้ผลของกรรมด้วย นี่คือ เป็นไปตามหลักกรรมและผลของกรรม ครับดังนั้น จากคำกล่าวอ้างว่า มีเทวทูต ตามข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เทวทูต ที่ตามความเชื่อเข้าใจกันว่าจะมีเทวทูตมาเอาวิญญาณไป อย่างนี้ไม่มีในความจริงและในพระพุทธศาสนา หากแต่ว่า เป็นยักษ์ชื่อ อวรุทธกยักษ์ ที่ได้รับพร จาก ท้าวเวสสุวรรณ ที่จะมาฆ่าเอาชีวิตเด็กคนนี้ ภายใน 7 วัน
และมีคำกล่าวอ้างว่า พระพุทธเจ้าให้ ตั้งปะรำ และ ปูผ้าขาว วงสายสิญน์ แต่ในความจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงตามพระไตรปิฎก ให้มีการตั้งปะรำ แต่ ไม่ใช่ มีการปูผ้าขาว โยงสายสิญน์ อย่างพิธีพราหมณ์ทำกัน หรือ ตามสมัยนี้ ที่มาทำพิธีสะเดาะห์ต่ออายุ มาให้โยงสายสิญน์กับคนแต่ละคน ไม่มีเลยครับ กุศลกรรมเท่านั้นย่อมรักษา ไม่ใช่ กุศลคนอื่น จะโยงผ่านสายสิญน์ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น พระพุทธเจ้าให้พระภิกษุ กล่าวพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ เหล่าชนทั้งหลายก็มาสดับฟังพระธรรมกัน นี่คือ ประเพณีที่สมัยพุทธกาลและเป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิด กุศล เกิดปัญญาเข้าใจพระธรรม อันเป็นไปเพื่อละกิเลส แต่การสะเดาะห์เคราะห์ ต่ออายุ รดน้ำมนต์ วัตถุมงคล ล้วนแล้วแต่เพื่อได้ เพิ่มกิเลสทั้งสิ้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น ในวันที่ 7 พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาที่ สถานที่พระภิกษุสวดแสดงธรรม เทวดามาประชุมกันโดยมาก ยักษ์ที่จะมาเอาชีวิตเด็ก ก็ไมได้โอกาส เด็กนั้นจึงรอดชีวิต เด็กรอดชีวิตเพราะอะไร เพราะ ไม่ใช่การสวด แต่เพราะ กุศลกรรมของเด็ก อุปถัมภ์ ไม่ให้สิ้นชีวิต นี่คือ มั่นคงในกรรมและผลของกรรม และ ชาวพุทธก็ควรเข้าใจว่า บุญ กุศล คืออะไร เพราะ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ อันเกิดจากการไม่ศึกษาพระธรรม ก็คิดว่า คือ การสวด หรือ สะเดาะเคราะห์ แต่ที่จริง คือ การเข้าใจพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นสำคัญ กุศลจิตเกิดเมื่อเข้าใจ ประกอบด้วยปัญญา กุศลของผู้นั้นเอง ไม่ใช่จากพิธี บวงสรวง สวดมนต์มารักษา แต่ กุศลที่เกิดกับตนเองย่อมรักษาผู้นั้น อันไม่ขัดกับหลัก กรรม คือ กรรมเป็นกำเนิด เผ่าพันธุ์ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่ใช่กรรมผู้อื่น คนอื่นจะมีผลกับตนเองได้เลย นี่คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า
และ หากได้เห็นภาพการสะเดาะห์ต่ออายุ ในบางที่ ที่มีพระภิกษุกระทำอย่างนั้น เป็นผู้นำ มีการรับเงินและทองจากฆราวาส นั่นก็ผิดพระวินัยชัดเจน เรื่องภิกษุไม่ควรรับและยินดีในเงินและทอง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ และ พระพุทธเจ้า ให้พระภิกษุแสดงธรรม สวดพระปริตร เช่น รัตนสูตร ก็เพื่อให้ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้องเกิดปัญญา ความเข้าใจถูกจากการสดับพระธรรม อันเป็นพระพุทธประสงค์ที่แท้จริง ไม่ใช่การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เพราะฉะนั้น การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ จึงไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่เป็นความเห็นผิดอย่างแท้จริง และภิกษุก็ประพฤติล่วงพระวินัยบบัญญัติ ขวนขวายในทางเห็นผิด รับเงินและทอง ต้องอาบัติ เป็นต้น จากการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ครับ
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัท ก็ต้อง ศึกษาธรรม อบรมปัญญาด้วยการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่นโดยไม่ได้เทียบเคียงกับคำสอน เพียงเพราะความอยากได้บุญ อยากได้สิ่งทีดีกับชีวิต แต่ กระทำสิ่งที่ผิด ย่อมไม่ได้รับสิ่งทีดีได้เลย
ประเด็นการรดน้ำมนต์
การใช้น้ำ ประพรม ในสมัยพุทธกาล เพื่อให้ประชาชน เกิดสติ มิใช่ เพื่อรักษาโรค ป้องกันอันตราย เพราะ ขณะที่พรมน้ำนั้น ได้มีการแสดงธรรม ให้ ประชาชนเข้าใจด้วย คือ แสดงรัตนสูตร ชาวเมืองเกิด กุศลจิตที่ได้ฟัง ได้เข้าใจ และ เกิด การรู้ตัวที่ได้โดนน้ำปะพรม ให้เกิด รู้ตัวที่จะฟังธรรมไปในขณะนั้น กุศลจิตของตนเองที่เกิดนั่นแหละเป็นเครื่องป้องกันอันตรายในขณะนั้นครับ ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงติเตียน การทำน้ำมนต์
ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่ามนต์ก่อนครับ เพราะ มนต์ (ภาษาบาลี คือ มนฺต) หมายถึง ปัญญา บางครั้งก็มีคำว่า พุทธมนต์ (พระปัญญาของพระพุทธเจ้า) ด้วย และประการที่สำคัญ คือ มนต์ในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเท่านั้น เช่น พระสูตร ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นไปตามกรรม ดังนั้น นำมนต์ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดความสุข สวัสดี มงคลอะไรเลย แต่ ความดีที่เป็นกุศลธรรมต่างหาก เป็นมงคล เพราะจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีจริงๆ ทั้งการได้รับสิ่งดี และสะสมสิ่งดีในจิตใจ ดังนั้น ยันต์เกราะเพชร และ น้ำมนต์จึงไม่มีผลอะไร เพราะเป็นเพียงความเชื่อที่เข้าใจผิดว่า จะทำให้ได้รับสิ่งที่ดีจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่ตรงตามหลักกรรมและผลของกรรม ครับ
การรดน้ำมนต์ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ในสมัยครั้งพุทธกาล ท่านเว้นจากการรดน้ำมนต์ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 14
ข้อความบางตอนจาก พรหมชาลสูตร
(๒๕) ๗. พระสมณะโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล
เรื่อง วัตถุมงคล
การจะได้รับสิ่งที่ดี ได้รับผลของกรรมที่ดี ต้องมีเหตุ ดังนั้นเหตุที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่ เป็นผลของกรรมดี ได้รับการช่วยเหลือ เป็นต้น เพราะกรรมดีที่เป็นกุศลกรรมทีได้ทำมา ให้ผลนั่นเองครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือดลบันดาล ให้เราได้รับสิ่งที่ดี หากไม่มีกรรมดีทีทำมาแล้ว ก็จะไม่มีทางได้รับสิ่งที่ดีได้เลย เพราะการช่วยเหลือหรือการได้รับสิ่งที่ดี ที่เป็นผลของกรรมดี เหตุจะต้องตรงกับผลคือเกิดจากการกระทำที่ดีนั่นเองที่เป็นเหตุครับ
ดังนั้น สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถที่จะมีใคร มีสัตว์ บุคคล บันดาลให้ ไม่มี เพราะมีแต่สภาพธรรม ที่เป็นจิต เจตสิก และรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ บุคคล เมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล ก็ไม่มีใครบันดาลและไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคลด้วย เพราะฉะนั้น ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ที่เป็นไปตามสัจจะ ความจริง ศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ทำดีก็ย่อมได้รบผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว การได้รับการช่วยเหลือ ได้รับสิ่งที่ดี ก็เพราะการทำดีเป็นปัจจัยนั่นเองครับ ดังนั้น กรรมต่างหากที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม้เทวดา พรหมที่คิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่พ้นไปจากกรรม และตัวเทวดาเองและพรหมเอง ก็ต้องได้รับผลของกรรมที่ตัวเองทำมา ไม่สามารถบันดาลให้ตัวเองไม่ตาย ได้รับผลของกรรมดีได้ตลอด เพราะเป็นไปอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของกรรม ไม่ใช่เพราะของตัวเองครับ จึงไม่ใช่พรหมลิขิต ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคล แต่เป็นกรรมลิขิต คือ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม ครับ
เพราะฉะนั้นที่น่าพิจารณาว่า วัตถุ เหรียญ มงคลที่ได้รับการปลุกเสก พระเครื่อง แท้ที่จริง ในสภาพธรรมก็คือ รูปธรรม ที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่สามารถจะดลบันดาล และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เลย เพราะ สภาพธรรมที่จะให้ผลดี ไม่ดี คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ที่เกิดจากการทำดี และ ไม่ดี ซึ่งกรรมจึงศักดิ์สิทธิ์ คือ ตรงต่อเหตุผลและยุติธรรม พุทธาภิเษก จึงไม่ใช่การที่ทำให้สิ่งใดศักด์สิทธิ์ แต่พระพุทธเจ้าทรงภิเษกสัตว์โลกให้เข้าใจถูก เกิดปัญญา ดับกิเลส ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ ครับ.
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า ติดวัตถุมงคล ดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล คำนี้กล่าวผิด เพราะ วัตถุใด ที่มาด้วยเชื่อกับการผิดหลักกรรมและผลของกรรม เพราะ ความดีเท่านั้นที่เป็นมงคล นำมาซึ่งความสวัสดี ไม่ใช่วัตถุปลุกเสก วัตถุมงคลที่มาจากความเข้าใจผิดเช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นวัตถุอัปมงคล เพราะ เป็นความเห็นผิด เป็นกิเลส นั่นเองครับ
คำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุผล ความจริง ที่ไม่เชื่อ เพราะความจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น จึงไม่ลบหลู่ แต่ปฏิเสธในสิ่งที่ไม่จริง ด้วยความจริงอันเกิดจากปัญญา ความเห็นถูกเป็นสำคัญนั่นเอง ครับ ขณะนั้นเป็นกุศลที่เข้าใจถูก จะไม่นำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดี อันเกิดจากความเห็นถูก ที่ปฏิเสธในสิ่งที่เป็นความเชื่อผิดเลย เพราะกุศลย่อมให้ผลในสิ่งที่ดีเท่านั้น
และจากคำกล่าวอ้างที่ว่า ส่วนปทปรมะ ฉลาดเกินไป ไม่ควรที่จะสอน ปทปรมะไม่ได้โง่นะ ฉลาดเกินมนุษย์ เป็นต้น นั่นเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงตามคำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในเรื่อง ปทปรมะ ขอเชิญอ่าน ปทปรมะที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกที่ลิ้งนี้ครับ
//www.dhammahome.com/webboard/topic/25258
ประเด็นเรื่องการร้องเพลง
การ้องเพลง พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามเพศคฤหัสถ์ที่จะกระทำอย่างเพศคฤหัสถ์ มีการร้องเพลง ทรงแสดงให้แก้ด้วยเพลงขับที่เป็นธรรม ซึ่งสามารถเข้าใจถูกต้องได้ด้วยการพิจารณาเนื้อเพลงนั้น อันคฤหัสถ์ทำได้ แต่พระภิกษุจะมาร้องเพลงขับ แบบชาวบ้านทำกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม เพราะเป็นเพศที่ละ สละ การกระทำดังเช่นคฤหัสถ์ได้ ดังนั้น ภิกษุไม่มีกิจมาร้องเพลงดั่งเช่นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีปัญญาสูงสุด รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ตามแต่ละเพศ คือ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ครับ ขอเชิญคลิกอ่านที่ลิ้งนี้ เรื่องการร้องเพลงของพระภิกษุ ต้องอาบัติ ไม่สมควร ครับ
//www.dhammahome.com/webboard/topic18963.html
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ (พระมหาสัตว์) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่ง เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งจะได้เกื้อกูลสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้โปรดสัตว์โลก ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมายนับไม่ถ้วน
อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการประมาทพระธรรมว่า ง่าย ไม่ต้องศึกษา ความประพฤติที่ผิดทั้งหมด มาจากไม่ได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะแท้จริงแล้ว พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่ใช่ อกุศลธรรม ถ้าคำสอนใดที่สอนให้พอกพูนอกุศลให้มากๆ สอนให้คนหลงงามงาย นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ถ้าพุทธบริษัทไม่มีการศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลย และ สำหรับในการศึกษานั้น ก็จะต้องมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาด้วย เพื่ออย่างเดียวเท่านั้น คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ความประพฤติอันดีงามทั้งหลายทั้งปวง ก็ย่อมจะคล้อยไปตามความเข้าใจพระธรรม นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูล ทั้งนั้น ย่อมไม่เป็นเหตุให้กระทำการใดๆ ที่ผิด หรือ นอกเหนือไปจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างแน่นอน
สิ่งที่ไม่ดี ได้แก่ กิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต นั้น การที่จะขับไล่สิ่งที่ไม่ดี คือ กิเลส ออกได้ ไม่ใช่ด้วยการสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เป็นต้น แต่ด้วยการสะสมกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา กุศลจิต เกิดขึ้นได้ตาม เหตุปัจจัยโดยอาศัยความเข้าใจและการเห็นโทษของกิเลส ที่เกิดจากได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ายังไม่เห็นโทษของกิเลส ก็ยังละกิเลสไม่ได้ และถ้ายังไม่เข้าใจ ก็หมายความว่า ยังไม่เห็นโทษของกิเลส อยู่นั่นเอง
จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อเห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง และเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล กุศลธรรมและปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับสิ่งที่ไม่ดี อันได้แก่ กิเลสได้ตามลำดับ ในที่สุด ครับ.
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาที่มีการแชร์แผยแพร่ต่อๆ ไปกันไปครับ
กำลังอยากได้คำอธิบายที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นนี้
ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ และทุกท่านที่ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน ที่มีความเข้าใจถูก เห็นถูก และเกื้อกูลผู้อื่นด้วยจิตเมตตา
เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับอ.ผเดิม และ อ. คำปั่น ครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์วิทยากรที่ให้ความกระจ่าง
เพื่อให้สังคมได้ทราบความจริง และมั่นคงเรื่องกรรมกันมากกว่านี้
ไม่ไปหวังพึ่งการแก้กรรม สวดมนต์ รดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา
นอกจากไม่ได้ช่วยแก้กรรมแล้วยังเสียทั้งเวลาและเงินทอง
และยังเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีความโลภ มุ่งลาภสักการะ
อาศัยการไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องของคนทั่วไป
ขยายพิธีกรรมเหล่านี้ให้กว้างขวางออกไป
สร้างรายได้ให้ตนเองและพวก โดยไม่สนใจว่า
เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาให้เสื่อมลง
กราบอนุโมทนาจริงๆ ค่ะ
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์และอาจารย์วิทยากรทุกท่านค่ะและขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ