ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๒?
สามเณรปัญหา (ผู้ถาม: พระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้ตอบ: โสปากสามเณร)
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 96
อะไรเอ่ยชื่อว่า ๒ นามและรูป.
ปฐมมหาปัญหาสูตร
อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 93
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีวาทะอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ... ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ เป็นอย่างไร ...
ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๒ อย่าง ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ในธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือในนาม ๑ ในรูป ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๒ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน คำที่เรากล่าวว่า ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
สังคีติสูตร
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 162
ว่าด้วยสังคีติหมวด ๒ (ท่านพระสารีบุตรแสดงที่เมืองปาวา แคว้นมัลละ)
[๒๒๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๒ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ธรรม ๒ เป็นไฉน. คือ นาม และ รูป ๑. อวิชชา และ ภวตัณหา ๑. ภวทิฏฐิ และ วิภวทิฏฐิ ๑. อหิริกะ ความไม่ละอาย และ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัว ๑. หิริ ความละอาย และ โอตตัปปะ ความเกรงกลัว ๑. โทวจัสสตา ความเป็นผู้ว่ายาก และ ปาปมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย และ กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ...
พรรณนาปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๒ (อรรถกถาสามเณรปัญหา)
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 101
พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหายิ่งขึ้นไป เหมือนนัยแรกว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๒ พระเถระกล่าวซ้ำว่า เทฺว ๒ ทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐานว่า คือนามและรูป. บรรดานามและรูปนั้น เรื่องที่มิใช่รูปทั้งหมด ท่านเรียกว่านาม เพราะน้อมมุ่งหน้าสู่อารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุน้อมจิตไปอย่างหนึ่ง. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาธรรมที่มีอาสวะเท่านั้น เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพิทาความหน่าย ส่วนมหาภูตรูป ๔ และรูปทั้งหมดที่อาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไป ท่านเรียกว่ารูป เพราะอรรถว่า แตกสลาย. รูปนั้นในที่นี้ ท่านประสงค์เอาทั้งหมด.แต่พระเถระกล่าวในที่นี้ว่า ชื่อว่า ๒ คือนามและรูป ก็โดยความประสงค์นี้แล มิใช่กล่าวเพราะไม่มีธรรม ๒ อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๒ อย่าง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในธรรม ๒ อย่าง คือนามและรูป ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในธรรม ๒ อย่างนี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใดว่า ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ คำนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.
ก็ในปัญหาข้อนี้ พึงทราบว่า ภิกษุละอัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตนได้ ด้วยการเห็นเพียงนามรูปแล้ว เมื่อหน่ายโดยมุขคือการพิจารณาเห็นอนัตตาย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
เมื่อใด เห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งวิสุทธิ ดังนี้.
ว่าด้วยธรรมหมวด ๒ (อรรถกถาสังคีติสูตร)
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 274
ครั้นแสดงสามัคคีรส ด้วยว่าอํานาจธรรมหมวดหนึ่งดังกล่าวมานี้แล้วบัดนี้ พระเถระได้เริ่มเทศนาต่อไป เพื่อแสดงด้วยอํานาจธรรมหมวดสอง. ในธรรมหมวดสอง คือ นามรูป นั้น นาม ได้แก่อรูปขันธ์ ๔ และนิพพาน ๑. บรรดาธรรมเหล่านี้ ขันธ์ ๔ ชื่อว่า นาม ด้วยอรรถว่าน้อมไป. คําว่า ด้วยอรรถว่า น้อมไป หมายความว่า ด้วยอรรถว่ากระทําชื่อ. เหมือนอย่างว่า พระเจ้ามหาสมมต มีพระนามว่า "มหาสมมต" ก็เพราะมหาชนสมมติ (ยกย่อง, หมายรู้พร้อมกันขึ้น) , หรือเหมือนอย่างพ่อแม่ ตั้งชื่อให้เป็นที่กําหนดหมายแก่บุตร อย่างนี้ว่า "คนนี้ชื่อดิศ คนนี้ชื่อบุส" หรือเหมือนอย่างชื่อที่ได้มา โดยคุณสมบัติว่า "พระธรรมกถึก พระวินัยธร" ดังนี้ฉันใด, ขันธ์ทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น จะได้ชื่อฉันนั้นหามิได้. แท้จริง เวทนาเป็นต้น ย่อมมีชื่อของตนเกิดขึ้น (เอง) เหมือนมหาปฐพี เป็นต้น. เมื่อขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ชื่อของขันธ์เหล่านั้น ก็เป็นอันเกิดขึ้นด้วยทีเดียว. เพราะไม่มีใครที่จะมากล่าวกับเวทนาที่เกิดขึ้นว่า "เจ้าจงชื่อว่าเวทนา". และธุระที่จะต้องตั้งชื่อแก่เวทนานั้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็หามีไม่. เหมือนอย่างเมื่อแผ่นดินเกิดขึ้น ก็ไม่มีธุระที่จะต้องตั้งชื่อว่า เจ้าจงชื่อแผ่นดิน, เมื่อจักรวาล เขาพระสุเมรุ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวนักษัตรเกิดขึ้น ก็ไม่มีธุระที่จะต้องตั้งชื่อว่า "เจ้าจงชื่อจักรวาล ฯลฯ เจ้าจงชื่อนักษัตร" ชื่อเป็นอันเกิดขึ้นทีเดียว ตกลงเป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นได้เองฉันใด, เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่มีธุระที่จะต้องตั้งชื่อว่า "เจ้าจงชื่อเวทนา" เวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นอันเกิด มีชื่อว่า เวทนาเลยทีเดียว ฉันนั้น. แม้สัญญาเป็นต้น ก็มีนัยอย่างนี้. เวทนาแม้ในอดีต ก็คือชื่อว่า เวทนา, สัญญา, สังขาร วิญญาณ ในอดีต แม้ในอนาคต แม้ในปัจจุบัน ก็คงชื่อว่า สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นเดียวกัน. อนึ่ง นิพพาน ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน ก็คงชื่อว่านิพพาน ทุกเมื่อไปแล. ชื่อว่า นาม ด้วยอรรถว่า กระทําชื่อ ด้วยประการดังนี้. อนึ่ง ขันธ์ ๔ ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ก็ชื่อว่า นาม แม้ด้วยอรรถว่า น้อมไป. เพราะขันธ์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหน้าน้อมไปในอารมณ์. แม้สิ่งทั้งปวงก็ชื่อว่า นาม ด้วยอรรถว่า น้อมไป. ขันธ์ ๔ ย่อมยังกันและกันให้น้อมไปในอารมณ์. นิพพานย่อมยังธรรมอันไม่มีโทษให้น้อมไปในตน เพราะเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นใหญ่ในอารมณ์. คําว่ารูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔. ทั้งหมดนั้นชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่า ต้องย่อยยับไป. คําบรรยายโดยละเอียดสําหรับรูปนั้นพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคปกรณ์.
[สรุป]
- ชื่อว่า นาม เพราะอรรถว่า น้อมไป หมายถึง กระทำชื่อ (น้อมไปสู่การเกิดชื่อ) เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ และถ้านามธรรมนั้น ได้แก่ จิต และเจตสิก ก็เป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ และยังกันและกันให้น้อมไปสู่อารมณ์ และสิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่ไม่ใช่รูป ก็เป็นนาม
- ชื่อว่า นิพพาน เพราะน้อมไปสู่การเกิดชื่อ และ เพราะยังโสภณธรรมให้น้อมไปในตน ได้แก่ นิพพานเป็นอารมณ์เมื่อมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น เป็นต้น
(ในสามเณรปัญหา รวมถึงปฐมปัญหาสูตร ท่านกล่าว นามธรรม เฉพาะจิตและเจตสิก ที่เนื่องกับอาสวะเท่านั้น เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดสติปัญญาที่ระลึกสภาพธรรมนั้นๆ ได้ จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณสูงขึ้นไป มีนิพพิทาญาณ เป็นต้น ส่วนสังคีติสูตร ท่านกล่าวรวมพระนิพพานด้วยว่าเป็นนามธรรม)
-ชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่า แตกสลาย หรือ ต้องย่อยยับไป ท่านกล่าวถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิด (อุปาทายรูป)
-ถ้าไม่รู้ว่านามธรรมคืออะไร รูปธรรมคืออะไร ตามความเป็นจริง จะกล่าวว่าดับกิเลสแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย
-ธรรม๑ คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร แท้จริงไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย ส่วนธรรม๒ เพราะว่าแท้จริงสิ่งที่มีจริงหรือธรรมจำแนกได้ ๒ ประเภท โดยความเป็นรูปและนาม
ขอกราบอนุโมทนา