ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คืออกุศลและกุศลนั้น มีประเภทต่างๆ มากมาย แต่ว่าความต่างทั้งปวงเหล่านั้นไม่มีในวิบากจิต วิบากจิตเป็นเพียงผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเมื่อกรรมสุกงอมพร้อมด้วยโอกาสปัจจัยก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิ กิจภวังค์ หรือกิจอื่นๆ ที่รู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขณะเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณจิต เป็นวิบากจิตเกิดแล้วเพราะอดีตกรรมเป็นปัจจัย แต่วิบากจิตที่เห็นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากอีกไม่ได้
ขณะกำลังได้ยิน คือ ขณะที่จิตกำลังรู้เสียงนั้น เป็นวิบากจิต แต่ว่าโสตวิญญาณจิตคือจิตที่ได้ยินเสียงนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากไม่ได้
เมื่อวิบากจิตไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต และไม่สามารถที่จะยังการกระทำทางกาย วาจา ใดๆ ให้เกิดขึ้น และวิบากจิตต่างไม่ประกอบด้วยธรรม เช่นกรุณาเจตสิก มุทิตาเจตสิก และวิรตีเจตสิก ๓ (คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิกสัมมาอาชีวเจตสิก)
ฉะนั้น วิบากจิตเองไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เลว ปานกลาง ประณีตแต่วิบากแห่งกรรมเลวจัดเป็นเลว วิบากแห่งกรรมปานกลางจัดเป็นปานกลาง วิบากแห่งกรรมประณีตจัดเป็นประณีต เมื่อวิบากเป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นผลของเหตุที่เป็นอกุศลหรือกุศล แต่ตัววิบากเองไม่ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เลว ปานกลาง ประณีต และไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก ฉะนั้น จึงรวมเป็นชาติวิบาก ๑ ชาติ เพราะไม่ต่างกันโดยประการต่างๆ อย่างสภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ อกุศล และ กุศล ซึ่งแยกเป็นอกุศล ๑ ชาติ และกุศล๑ ชาติ
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ