[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 339
๓. วิสสาสโภชนชาดก
ว่าด้วยการไว้วางใจ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 339
๓. วิสสาสโภชนชาดก
ว่าด้วยการไว้วางใจ
[๙๓] "ก็บุคคลไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น".
จบ วิสสาสโภชนชาดกที่ ๓
อรรถกถาวิสสาสโภชนชาดกที่ ๓
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบริโภคด้วยความวางใจ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "น วิสฺสเส อวิสฺสฏฺเ" ดังนี้.
ความย่อว่า ในสมัยนั้น พวกภิกษุโดยมากพากันวางใจ ไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ที่หมู่ญาติถวาย เพราะคิดเสียว่า มารดาของพวกเราถวาย บิดาของพวกเราถวาย พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว น้า อา ลุง ป้า ถวาย คนเหล่านี้สมควรจะให้แก่เราแม้ในเวลาเป็นคฤหัสถ์มาแล้ว ถึงในเวลาเราเป็นภิกษุก็คงเป็นผู้สมควรจะให้ได้ พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น ทรงพระดำริว่า สมควรที่เราจะแสดงพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 340
ทั้งหลาย ดังนี้แล้วรับสั่งให้เรียกประชุมภิกษุ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยทำการบริโภคปัจจัย ๔ แม้ที่พวกญาติพากันถวาย ด้วยว่าพวกภิกษุที่ไม่พิจารณาแล้วบริโภคเมื่อทำกาละ ย่อมไม่พ้นจากอัตภาพแห่งยักษ์และเปรต ขึ้นชื่อว่า การบริโภคปัจจัย ๔ ที่ไม่พิจารณานี้ เป็นเช่นกับการบริโภคยาพิษ แม้ที่คนคุ้นเคยกันให้แล้วก็ตาม แม้ที่คนไม่คุ้นกันให้แล้วก็ตาม ย่อมทำให้ตายได้ทั้งนั้น แม้ในครั้งก่อนสัตว์ทั้งหลายบริโภคยาพิษที่เขาให้ด้วยความพิศวาส ถึงความสิ้นชีวิตไปแล้ว อันภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก คนเลี้ยงโคของท่านคนหนึ่ง ต้อนฝูงโคเข้าป่า ในสมัยที่ภูมิภาคแออัดไปด้วยข้าวกล้า ตั้งคอกเลี้ยงโคอยู่ในป่านั้น และนำโครสมาให้ท่านเศรษฐีตามเวลา ก็แลในที่ไม่ห่างคนเลี้ยงโคนั้น สีหะยึดเอาเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อพวกโคซูบผอมไปเพราะหวาดหวั่นต่อสีหะ น้ำนมก็ใส อยู่มาวันหนึ่งคนเลี้ยงโคนำเอานมมาให้ ท่านเศรษฐีจึงถามว่า สหายโคบาลเป็นอย่างไรหรือ น้ำนมจึงได้ใส เขาแจ้งเหตุนั้น ท่านเศรษฐีถามว่า สหาย ก็ความปฏิพัทธ์ในอะไรๆ ของสีหะนั้น มีบ้างไหม เขาตอบว่า มีครับนาย มันติดพันแม่เนื้อตัวหนึ่ง ท่านเศรษฐีถามว่า แกสามารถจะจับแม่เนื้อนั้นได้ไหม เขา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 341
ตอบว่า พอจะทำได้ครับนาย ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงจับมันให้ได้ เอายาพิษย้อมขนที่ตัว ตั้งแต่หน้าผากของมันขึ้นไปหลายๆ ครั้ง ทำให้แห้ง กักไว้สองสามวัน ค่อยปล่อยแม่เนื้อนั้นไป สีหะนั้นจักเลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หา ถึงความสิ้นชีวิตเป็นแน่ ทีนั้นเจ้าจงเอาหนัง เล็บ เขี้ยวและเนื้อของมันมาให้ แล้วมอบยาพิษอย่างแรงให้ส่งตัวไป คนเลี้ยงโควางข่ายจับแม่เนื้อนั้นได้ด้วยอุบาย แล้วได้กระทำตามสั่ง สีหะ เห็นแม่เนื้อนั้นแล้ว เลียสรีระของแม่เนื้อนั้นด้วยเสน่หาอย่างรุนแรงถึงความสิ้นชีวิต ฝ่ายคนเลี้ยงโคก็เอาหนังเป็นต้นไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้นแล้ว กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า เสน่หา ในพวกอื่นไม่ควรกระทำ สีหะผู้เป็นมฤคราช ถึงจะสมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างนี้ ก็เพราะอาศัยความติดพันด้วยอำนาจกิเลส เลียสรีระของแม่เนื้อ ทำการบริโภคยาพิษ ถึงสิ้นชีวิตไปแล้ว เมื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน กล่าวคาถานี้ ความว่า.
"บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น" ดังนี้.
ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ ผู้ใดในกาลก่อนเคยเป็นภัยยังไม่เป็นที่มักคุ้นกับตน ไม่พึงวางใจ คือไม่พึงทำความมักคุ้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 342
กับผู้ไม่คุ้นเคยนั้น ผู้ใดแม้ในกาลก่อนจะไม่เคยเป็นภัยเป็นผู้สนิทสนมมักคุ้นอยู่กับตน แม้ในผู้มักคุ้นกันนั้น ก็ไม่ควรวางใจ คือไม่พึงทำความสนิทสนมเลยทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน ได้แก่ ภัยนั่นแหละ ย่อมมาแต่ความคุ้นเคยทั้งในมิตร ทั้งในอมิตร อย่างไร เหมือนอย่างภัยของราชสีห์เกิดแต่แม่เนื้อ ฉะนั้น คืออย่างเดียวกันกับภัยที่มาถึงกระชั้นชิดประจวบเข้าแก่สีหะ จากสำนักแม่เนื้อที่ตนกระทำความวางใจด้วยอำนาจมิตตสันถวะ อีกนัยหนึ่งมีอธิบายว่า อย่างเดียวกันกับแม่เนื้อที่ปรารถนาจะมาหา เข้าใกล้สีหะด้วยความพิศวาสดังนี้บ้าง.
พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกัน ด้วยประการฉะนี้ ทำบุญทั้งหลายมีให้ทานเป็นต้น แล้วไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า มหาเศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาวิสสาสโภชนชาดกที่ ๓