สัมปยุตต์ปัจจัยและสหชาตปัจจัย
โดย papon  21 มี.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24616

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

สัมปยุตต์ปัจจัยและสหชาตปัจจัย แตกต่างกันอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 21 มี.ค. 2557

สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาตปัจจัย

สห แปลว่า ร่วมกัน พร้อมกัน

ชาต แปลว่า เกิด

ปัจจัย คือ ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือ ดำรงอยู่

แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ และสภาพธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน แต่สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง

ฉะนั้น จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น และเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใดจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์หนึ่ง แล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด โสตวิญญาณจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์

สัมปยุตตปัจจัย

สํ (พร้อม) + ป (ทั่ว) + ยุตฺต (ประกอบ) + ปจฺจย (อาศัยเป็นไป) สภาพเป็นที่อาศัยเป็นไปโดยการประกอบร่วมกัน หมายถึง นามธรรมที่อาศัยนามธรรมที่เกิดร่วมกันอย่างกลมกลืน เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ได้แก่ ...

จิต ...อาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นสัมปยุตตปัจจัย

เจตสิก ...ก็อาศัย จิตที่เกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย

และ เจตสิก ...ก็อาศัย เจตสิกที่เกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 21 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากธรรม แม้แต่ในส่วนของสหชาตปัจจัย กับ สัมปยุตตปัจจัย ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นธรรม เพราะกล่าวถึงเหตุที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นโดยความเป็นสหชาตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดพร้อมกันกับเจตสิก ๗ ประเภท มีผัสสะเป็นต้นดังนั้น จักขุวิญญาณจึงเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น ถ้าได้ศึกษาไปก็จะได้พบความละเอียดเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าเป็นสัมปยุตตปัจจัย นั้น หมายถึงความเป็นปัจจัยโดยความประกอบพร้อมกัน เข้ากันได้สนิทระหว่างนามธรรมกับนามธรรม และในขณะเดียวกันที่เกิดพร้อมกัน ไม่ใช่ในขณะที่ต่างกัน จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ทั้งจิตและเจตสิกก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เป็นปัจจัยแก่เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกันโดยความเป็นสัมปยุตตปัจจัย และยกตัวอย่างต่ออีก ผัสสะที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ทั้งหมดนั้นแสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 21 มี.ค. 2557

ธรรมเกิดขึ้นร่วมกัน พร้อมกัน คือ จิต เจตสิกเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย j.jim  วันที่ 21 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ