[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 235
ทุติยปัณณาสก์
อปัณณกวรรคที่ ๓
๗. อจินติตสูตร
ว่าด้วยอจินไตย ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 235
๗. อจินติตสูตร
ว่าด้วยอจินไตย ๔
[๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า อจินไตย ๔ คือ อะไรบ้าง คือ
๑. พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลาย เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำปากเปล่า
๓. วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
๔. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล อจินไตย ๔ ไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า.
จบอจินติตสูตรที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 236
อรรถกถาอจินติตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอจินติตสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อจินฺเตยฺยานิ ได้แก่ไม่ควรคิด. บทว่า น จินฺเตตพฺพานิ ความว่า บุคคลไม่ควรคิด เพราะเป็นอจินไตยนั่นเอง. บทว่า ยานิ จินฺเตนฺโต คือ คิดสิ่งที่ไม่มีเหตุเหล่าใด. บทว่า อุมฺมาทสฺส ได้แก่ ความเป็นคนบ้า. บทว่า วิฆาตสฺส คือ เป็นทุกข์. บทว่า พุทฺธวิสโย แปลว่า วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ความเป็นไปและอานุภาพของพระพุทธคุณมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น. บทว่า ฌานวิสโย ได้แก่ ฌานวิสัยในอภิญญา. บทว่า กมฺมวิปาโก ได้แก่ วิบากของกรรมมีกรรมที่จะพึงเสวยผลในปัจจุบัน เป็นต้น. บทว่า โลกจินฺตา ความว่า โลกจินดา ความคิดเรื่องโลกเช่นว่า ใครหนอสร้างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ใครสร้างแผ่นดินใหญ่ ใครสร้าง มหาสมุทร ใครสร้างสัตว์ให้เกิด ใครสร้างภูเขา ใครสร้างต้นมะม่วงต้นตาล และต้นมะพร้าวเป็นต้น ดังนี้.
จบอรรถกถาจินติตสูตรที่ ๗