[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 263
เถรคาถา ติกนิบาต
วรรคที่ ๑
๗. วารณเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระวารณเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 263
๗. วารณเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระวารณเถระ
[๓๑๓] ได้ยินว่า พระวารณเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
บรรดามนุษย์ในโลกนี้ นรชนใดเบียดเบียนสัตว์เหล่าอื่น นรชนนั้นจะกำจัดหิตสุขในโลกทั้ง ๒ คือ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนนรชนใด มีเมตตาจิต อนุเคราะห์สัตว์ทั้งมวล นรชนนั้นผู้เช่นนั้น จะประสบบุญตั้งมากมาย เขาควรศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ การอยู่แต่ผู้เดียวในที่ลับ และธรรมเครื่องสงบระงับจิต.
อรรถกถาวารณเถรคาถา
คาถาของพระวารณเถระ มีคำเริ่มต้นว่า โยธ โกจิ มนุสฺเสสุ. มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
แม้ท่านพระวารณเถระนี้ มีบุญญาธิการที่ได้ทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อทำบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๒ (นับถอยหลัง) แต่กัปนี้ไป ก่อนแต่การเสด็จอุบัติขึ้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ติสสะนั่นเอง ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นผู้ถึงฝั่งในวิชาและศิลปะของพราหมณ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 264
บวชเป็นฤาษี บอกมนต์แก่อันเตวาสิก ประมาณ ๕๔,๐๐๐ คน อยู่.
ก็สมัยนั้น ได้มีการไหวแห่งมหาปฐพี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ติสสะ ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ก้าวลงสู่คัพโภทรของพระพุทธมารดาในภพสุดท้าย. มหาชนเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว ตกใจกลัว จึงพากันไปหาฤาษี ถามถึงเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว. ท่านบอกถึง บุรพนิมิตแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าว่า พระมหาโพธิสัตว์ก้าวลงสู่คัพโภทรของพระพุทธมารดา แผ่นดินไหวนี้มีด้วยเหตุนั้น เพราะฉะนั้น อย่าพากันกลัว แล้วให้เขาเบาใจกัน และได้ประกาศให้ทราบถึงปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์.
เขาท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก ด้วยบุญกรรมนั้น มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นโกศล มีชื่อว่า วารณะ เจริญวัยแล้ว ได้ฟังธรรมในสำนักของพระเถระผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง ได้ความเลื่อมใส บวชบำเพ็ญสมณธรรม. อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นงูเห่ากับพังพอนต่อสู้กัน ตายที่ระหว่างทาง สังเวชสลดใจว่า สัตว์เหล่านี้ ถึงความสิ้นชีวิต เพราะโกรธกันดังนี้แล้ว ได้ไปถึงสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบอาจาระอันงามของท่านแล้ว เมื่อจะทรงประทานพระโอวาทให้ เหมาะกับอาจาระนั้นนั่นแหละ จึงได้ทรง ภาษิตพระคาถา ๓ คาถาว่า
บรรดามนุษย์ในโลกนี้ นรชนใดเบียดเบียน สัตว์เหล่าอื่น นรชนนั้นย่อมกำจัดหิตสุขในโลกทั้ง ๒ คือ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนนรชนใดมีเมตตาจิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 265
อนุเคราะห์สัตว์ทั้งมวล นรชนนั้นผู้เช่นนั้น ย่อมประสบบุญตั้งมากมาย เขาควรศึกษาธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ การอยู่แต่ผู้เดียวในที่ลับ และธรรมเครื่องสงบระงับ จิต.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยธ โกจิ มนุสฺเสสุ ความว่า บรรดา มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ คนใดคนหนึ่งจะเป็นกษัตริย์ก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม แพศย์ก็ตาม ศูทรก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม. ศัพท์ว่า มนุสฺส ในคำว่า โยธ มนุสฺเสสุ นี้ พึงทราบว่า เป็นตัวอย่างของสัตว์ชั้นอุกฤษฎ์.
บทว่า ปรปาณานิ หึสติ ความว่า ฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อื่น. บทว่า อสฺมา โลกา ความว่า ในโลกนี้. บทว่า ปรมฺหา ความว่า ในโลกหน้า.
บทว่า อุภยา ธํสเต ความว่า ย่อมกำจัด (หิตสุข) ในโลกทั้ง ๒ อธิบายว่า ย่อมเสื่อมจากความเกื้อกูลและความสุขที่นับเนื่องในโลกทั้ง ๒. บทว่า นโร ได้แก่ สัตว์.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงบาปธรรมที่มีลักษณะเบียดเบียน ผู้อื่นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงกุศลธรรม ที่มีลักษณะห้ามการ เบียดเบียนผู้อื่น จึงได้ตรัสคาถาที่ ๒ ไว้โดยนัยมีอาทิว่า โย จ เมตฺเตน ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เมตฺเตน จิตฺเตน ความว่า มีจิตที่ประกอบด้วยเมตตา หรือมีจิตนอกจากนี้ที่ถึงอัปปนา.
บทว่า สพฺพปาณานุกมฺปติ ความว่า เมตตาสัตว์ทั้งหมดเหมือนบุตรเกิดแต่อกของตน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 266
บทว่า พหุํ หิ โส ปสวติ ปุญฺญํตาทิโส นโร ความว่า บุคคลนั้นคือ ผู้อยู่ด้วยเมตตาแบบนั้น ย่อมประสบคือได้เฉพาะ ได้แก่บรรลุกุศลมาก คือมากมาย ได้แก่ไม่น้อย.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกอบท่านไว้ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนา พร้อมด้วยองค์ประกอบ จึงได้ตรัสคาถาที่ ๓ ไว้ โดยนัยมีอาทิว่า สุภาสิตสฺส ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุภาสิตสฺส สิกฺเขถ ความว่า พึงศึกษา สุภาษิตซึ่งแยกเป็นกถาของผู้มักน้อยเป็นต้น คือปริยัติธรรม ด้วยสามารถแห่งการฟัง การทรงจำและการสอบถามเป็นต้น.
บทว่า สมณูปาสนสฺส จ ความว่า พึงศึกษาการเข้าไปนั่งใกล้ สมณะผู้ระงับบาปแล้ว (และ) อุบาสกผู้เป็นกัลยาณมิตร ตามกาลเวลาที่สมควร และจริยาที่ใกล้เคียงของท่านเหล่านั้น ด้วยข้อปฏิบัติ.
บทว่า เอกาสนสฺส จ รโห จิตฺตวูปสมสฺส จ ความว่า พึงศึกษา อาสนะ คือที่นั่งของคนๆ เดียว ผู้ไม่มีเพื่อน หมั่นพอกพูนกายวิเวก ด้วยอำนาจการหมั่นประกอบกรรมฐานในที่ลับ. เมื่อหมั่นประกอบกรรมฐานอยู่อย่างนี้ และยังภาวนาให้ถึงที่สุด ศึกษาความสงบแห่งกิเลส และความสงบแห่งจิต ด้วยอำนาจการตัดขาด (สมุจเฉทปหาน). กิเลสทั้งหลายที่สงบไปแล้ว โดยส่วนเดียวนั่นเอง เป็นอันท่านละได้แล้ว ด้วยสิกขาเหล่าใด มีอธิสีลสิกขา เป็นต้น เมื่อท่านศึกษาสิกขาเหล่านั้น คือสิกขาที่เกี่ยวเนื่องกับมรรคและผล จิตก็ชื่อว่าสงบไปแล้วโดยส่วนเดียว. ในที่สุดแห่งคาถา ท่านเจริญวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตตผล. ด้วยเหตุนั้น ในอปทานท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 267
ครั้งนั้น ข้าพเจ้ายึดอาศัยป่าหิมพานต์ สอนมนต์ ศิษย์ของข้าพเจ้า จำนวน ๕๔,๐๐๐ คน ได้อุปัฏฐากข้าพเจ้า เขาเหล่านั้นทั้งหมดได้สำเร็จ จบพระเวทถึงบารมี มีองค์ ๖ ควรจะบรรลุด้วยวิชาของตน จึงพากันอยู่ในป่าหิมพานต์ เทพบุตรผู้มียศมาก จุติจากหมู่เทวดาชั้นดุสิต มีสติมีสัมปชัญญะ เกิดในท้องของมารดา เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว คนตาบอดได้ดวงตา ในเมื่อพระผู้เป็นนายกโลกเสด็จอุบัติขึ้น ผืนแผ่นดินนี้ทั้งผืน หวั่นไหวไปทั่วทุกอาการ มหาชนได้สดับเสียงกึกก้อง หวาดกลัว มวลชนหลั่งมาชุมนุมกันยังสำนักของข้าพเจ้า (ถามว่า) พสุธานี้ไหว จักมีผลอย่างไร? ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้บอกพวกเขาว่า สูเจ้าทั้งหลายอย่าพากันนอน สูเจ้าทั้งหลายจะไม่มีภัย สูเจ้าแม้ทุกคนจะประเสริฐ นี้เป็นการเกิดขึ้นที่อำนวยความสวัสดี พสุธานี้ไหวต้องด้วยเหตุ ๘ ประการ นิมิตอย่างนั้น แสดงให้เห็น จะมีแสงสว่างที่ไพบูลย์มาก พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ผู้มีพุทธจักษุ จักเสด็จอุบัติขึ้นแน่ ไม่ต้องสงสัย พระองค์จะตรัสบอกศีล ๕ ให้ชุมนุมชนเข้าใจ เขาเหล่านั้นได้ยินศีล ๕ และการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าที่หาได้ยาก เกิดความตื่นเต้นดีใจ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 268
ได้พากันร่าเริงหรรษา ในกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้ ข้าพเจ้าได้พยากรณ์นิมิตใดไว้ ด้วยการพยากรณ์นิมิตนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการพยากรณ์. กิเลส ทั้งหลายข้าพเจ้าเผาแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
จบอรรถกถาวารณเถรคาถา