[คำที่ ๒๘๙] พาลธมฺม
โดย Sudhipong.U  9 มี.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32409

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “พาลธมฺม”

คำว่า พาลธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียง ตามภาษาบาลีว่า พา - ละ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า พาล (ไม่รู้ความจริง,โง่เขลา) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น พาลธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า พาลธรรม หมายถึง ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล มีความไม่ละอายต่อบาป และความไม่เกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ก็ทำให้เป็นคนพาล เป็นคนไม่รู้ความจริง ขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น นั้น โง่เขลา ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้เลย และ ทุกขณะที่เป็นอกุศล จะไม่ปราศจาก อวิชชา (ความไม่รู้) เลย

ข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ และ อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ มีคำอธิบายถึง พาลธรรมไว้ดังนี้ คือ

พาลธรรม เป็นไฉน? อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า พาลธรรม.

อหิริกะและอโนตตัปะ ปรากฏแล้วในพาลชนทั้งหลาย. อนึ่ง อหิริกะ และ อโนตตัปปะเหล่านั้น ยังเป็นมูลแห่งพาลธรรมที่เหลือ ด้วยว่า คนที่ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ชื่อว่า ไม่ทำอกุศลอะไรๆ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง ๒ เหล่านั้น จึงตรัสแยกไว้ก่อนทีเดียว.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง และมีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้แต่ในเรื่องของ “พาลธรรม” ก็ทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเตือนที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จะได้รู้จักตัวเองว่า ยังไม่พ้นจากความเป็นพาล เมื่อว่าโดยสภาพธรรม แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มี มีแต่ธรรม เท่านั้น เพราะมีธรรมฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกว่า คนพาล เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยพาลธรรม คือ ธรรมที่เป็นพาล ทำให้เป็นพาล เพราะทำให้ไม่รู้ความจริง ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชน ก็ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรม เป็นส่วนใหญ่ กุศลจิตจึงเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน คนพาล ก็มีหลากหลายตามความเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น คนพาลที่หยาบ คือ คนที่ทำบาปกรรม ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ มี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด เป็นต้น พาลที่ละเอียดกว่านั้น แม้ไม่ได้ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ แต่ก็ยังไม่พ้นจากความเป็นคนพาล เพราะยังมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แม้ไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตกรรมก็ตาม ซึ่งจะต้องพิจารณาไปแต่ละขณะจิตจริงๆ กล่าวคือ ขณะที่จิตไม่ดี คือ อกุศลจิตเกิดขึ้น มีความติดข้องต้องการยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ มีความโกรธ ความไม่พอใจเกิดขึ้น เป็นต้น ก็ชื่อ เป็นคนพาล เป็นคนไม่ดีแล้วในขณะนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะรู้ความจริงว่าขณะไหนที่ ไม่ดีซึ่งเป็นคนพาล

ชีวิต คือ ความเป็นไปของจิตแต่ละขณะ มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละชาตินั้น แต่ละคนก็สะสมมาทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทันที จะเห็นได้ว่าเมื่อจิตเศร้าหมองด้วยอำนาจของอกุศล สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะมาจากอกุศล บุคคลที่ทำแต่สิ่งไม่ดี ไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง ไม่ร้าย ไม่ถูกอกุศลครอบงำ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน คือ ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล นั่นเอง

จะเห็นได้ตามความเป็นจริง ว่า คนที่เป็นบัณฑิต เป็นคนดี เพราะจิตเป็นกุศล กุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม จิตที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะใดขณะนั้นเป็นกุศล, ส่วนคนพาล คนไม่ดี เพราะจิตเป็นอกุศล อกุศลจิตเป็นจิตที่ไม่ดี จิตที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเข้าใจและรู้แน่ชัดแล้วว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรที่จะอบรมเจริญความดีซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น ให้มีกำลังพอที่จะขัดเกลาอกุศลของตนเองให้เบาบางลงได้เพราะอกุศลมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เริ่มขัดเกลา ก็ย่อมจะมีแต่พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมากอยู่แล้ว จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ แล้วเริ่มเป็นกุศลที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน มีการคิดดี พูดดี ทำดีมากยิ่งขึ้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะช่วยบรรเทาอกุศลจิตซึ่งเป็นจิตที่ไม่ดีให้ลดน้อยลง จนกว่าจะดับได้เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือถึงความเป็นพระอรหันต์ ปัญญาที่เกิดขึ้นเจริญขึ้นจะค่อยๆ ละกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นพาลธรรม จนถึงดับพาลธรรมได้หมดสิ้น บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างนี้เพราะธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคน เพราะฉะนั้นแล้ว โอกาสที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต คือ ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นการฟังการศึกษาในสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เป็นโทษกับใครเลยแม้แต่น้อย มีแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ