ติดข้องด้วยความไม่รู้ว่าเป็นเราเป็นของเรา_สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @ลัคเนา เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พ.ย. ๒๕๖๖
โดย เมตตา  29 พ.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 47027

รู้ไหมความเป็นพระโสดาบันคืออย่างไร? หมดความเห็นผิดและความไม่รู้ในสิ่งที่มีทุกอย่างไม่เหลือเลยสักขณะเดียว ถ้ายังเหลืออยู่แสดงว่ากิเลสยังไม่ได้ดับ ดับหมายความว่าที่เกิดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์มากมายมหาศาลไม่เกิดอีกเลยแต่ละประเภท คือความไม่รู้เดี๋ยวนี้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ การหลงยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าแตกย่อยออกไปแต่ละหนึ่งขณะ เราอยู่ไหน? เห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดไม่มีเห็น เกิดเห็นแล้วดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ต้องฟังธรรมอย่างละเอียด ถ้าไม่มีปัจจัยให้เห็นเกิด เห็นเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ปรากฏแล้ว เกิดแล้วดับ เพราะละเอียดที่จะรู้ว่าปัจจัยทำให้เกิด ถ้าเข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ นั่นคือ ความเข้าใจตามลำดับ เพราะว่าจากความไม่รู้เลยจะไปสู่การดับกิเลสเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้เรียนหนังสือเลยแล้วจะไปจบปริญญาเอกได้อย่างไร? คิดไป ฝันไป หวังไป แต่ไม่ได้เข้าใจความลึกซึ้งของธรรม ลึกซึ้งแค่ไหน?

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 20

พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมิจฉาทิฏฐิต่อไป.

สภาวะที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เห็นตามความไม่เป็นจริง. ที่ชื่อว่า ทิฏฐิคตะ (ความเห็นไปข้างทิฏฐิ) เพราะอรรถว่า ความเห็นนี้เป็นไปในทิฏฐิทั้งหลาย เพราะเป็นสภาวะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒. เนื้อความแห่งทิฏฐิแม้นี้ ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหลังนั่นแหละ. ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิคหณะ (ป่าชัฏคือทิฏฐิ) เพราะอรรถว่า ก้าวล่วงไปโดยยาก เหมือนชัฏหญ้า ชัฏป่า ชัฏภูเขา ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิกันดาร (กันดารคือทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่า น่าระแวงและมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารน้ำ กันดารทุพภิกขภัย. ที่ชื่อว่า ทิฏฐิวิสูกายิกะ (ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่าขัดแย้งและทวนกับสัมมาทิฏฐิ.

ผู้ที่มีความเห็นผิด ย่อมลูบคลำข้อปฏิบัติผิด เป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย เพราะหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องเริ่มจากมีความเห็นถูกคือสัมมาทิฏฐิ ดังนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิดจึงเป็นตอของวัฏฏะ

ทุกคนที่จะรู้ความจริง มั่นคง อธิษฐานะ ในการที่ตรงต่อสัจจะ เดี๋ยวนี้มีจริง เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้ความจริงของเดี๋ยวนี้ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นเราพยายามมากมายมหาศาล หารู้ความฉลาดของโลภะไม่ได้เลยพาไปทุกแห่งที่คิดว่าจะเข้าใจธรรม แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ ไปไหนจะเข้าใจ? ไปเลย ไปไหนก็ได้ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจไม่มีทางจะเข้าใจ แต่ถ้าเดี๋ยวนี้เริ่มมั่นคงรู้ความจริงว่า เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ แล้วละอะไร? ละความไม่รู้ เดี๋ยวนี้กำลังไม่รู้ใช่ไหม? กำลังติดข้องด้วยความไม่รู้ใช่ไหมว่า เป็นเราและเป็นของเรา แต่ไม่ลืมแม้แต่คำที่พระองค์ตรัสสั้นๆ แต่เป็นความจริง ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งหมด เว้นได้ไหมในเมื่อ ทั้งปวงทั้งหลายทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของใคร แม้ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ความลึกซึ้ง.

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๓๔๐

[๖๗๐] ธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ เป็นไฉน

สัญโญชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

ธรรมอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ เป็นไฉน

โลภะ โทสะ โมหะ ที่เหลือ และกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันกับโลภะโทสะ โมหะ นั้น เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ อันสัมปยุตด้วยโลภะโทสะ โมหะ นั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันมีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมอันมรรคเบื้องสูง ๓ ประหาณ

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 433

ก็สังโยชน์เหล่านี้ ควรนำมาแสดง โดยลำดับกิเลสบ้าง โดยลำดับ มรรคบ้าง ว่าโดยลำดับกิเลส กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์อันอนาคามิมรรคย่อมประหาณ มานสังโยชน์อันอรหัตตมรรคย่อมประหาณ ทิฏฐิวิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสอันโสดาปัตติมรรคย่อมประหาณ ภวราคสังโยชน์อันอรหัตตมรรคย่อมประหาณ อิสสา มัจฉริยะอันโสดาปัตติมรรคย่อมประหาณ อวิชชาอันอรหัตตมรรคย่อมประหาณ ว่าโดยลำดับแห่งมรรค โสดาปัตติมรรคย่อมประหาณทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีสัพพตปรามาส อิสสา และมัจฉริยะ อนาคามรรคย่อมประหาณกามราคะ และปฏิฆะ อรหัตตมรรคย่อมประหาณมานะ ภวราคะ และอวิชชา ดังนี้แล

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

เห็นภัยความเห็นผิด

คำที่ทำให้พ้นจากความเห็นผิด

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

กว่าจะเข้าใจอนัตตา

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา รู้ จำ หรือพูดตาม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจาiรย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 29 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 2    โดย swanjariya  วันที่ 1 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลค่ะน้องเมตตา