บุคคลแม้เห็นอยู่ (ซึ่งพระอริยะ) ด้วยจักษุ
โดย bansadet  26 ก.พ. 2551
หัวข้อหมายเลข 7557

บุคคลแม้เห็นอยู่ (ซึ่งพระอริยะ) ด้วยจักษุ แต่ไม่เห็นอนิจจลักษณะ เป็นต้น ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นแล้ว ด้วยญาณและไม่บรรลุธรรม ที่พระอริยเจ้าบรรลุแล้ว พึงทราบ ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะธรรมที่ทำให้พระอริยะ และความเป็นพระอริยะอันบุคคลนั้นยังไม่เห็น ดังนี้.

สองบทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ความว่า ไม่ฉลาดในอริยธรรม อันแยกออกเป็นสติปัฏฐาน เป็นต้น.

ก็ชื่อว่า วินัย มี ๒ อย่าง แต่ละอย่างในแต่ละประเภท มี ๕ เพราะความไม่มีวินัยทั้ง ๒ นั้น อันนี้ท่านเรียกว่า อวินีต ในคำว่า อริยธมฺเม อวินีโตนี้.

วินัย ๒ อย่าง จริงอยู่วินัยนี้มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑. และวินัยแต่ละอย่าง ในวินัยแม้ทั้ง ๒ นี้ แยกออกเป็น ๕ จริงอยู่ แม้สังวรวินัยมี ๕ คือสีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร และวิริยสังวร แม้ปหานสังวร ก็มี ๕ อย่างเหมือนกันคือ ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหานและนิลสรณปหาน.

สังวรวินัยทั้ง ๕ นั้น

สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าถึงด้วยปาฏิโมกข์สังวรนี้ นี้เรียกว่าสีลสังวร

สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ คือถึงการสำรวมในจักขุนทรีย์นี้เรียกว่า สติสังวร.

สังวรที่ตรัสไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน อชิตะ กระแส (ตัณหา) เหล่าใดในโลกมีอยู่ สติย่อมเป็นเครื่องห้ามกระแสเหล่านั้น เราตถาคตกล่าวสติว่าเป็นเครื่องระวังกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้น อันบุคคลย่อมละด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ญาณสังวร

สังวร ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมอดทน ต่อหนาวและร้อน นี้เรียกว่า ขันติสังวร

สังวร ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมหยุดกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้นี้เรียกว่า วิริยสังวร

อนึ่ง สังวรนี้แม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า สังวร เพราะเป็นเครื่องระวัง กายทุจริต และวจีทุจริต เป็นต้น ที่ตนต้องระวังตามหน้าที่ของตนและเรียกว่า วินัย เพราะเป็นเครื่องขจัดกายทุจริต และวจีทุจริต เป็นต้น ที่ตนต้องขจัดตามหน้าที่ของตน สังวรวินัยพึงทราบว่า แยกออกเป็น ๕ ดังอธิบายมานี้ก่อน



ความคิดเห็น 2    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 26 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 26 ก.พ. 2551

ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรมและไม่ประมาท


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 18 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น