[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 103
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ปารายนวรรค
เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔
ว่าด้วยปัญหาของท่านเมตตคู
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 67]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 103
เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔
ว่าด้วยปัญหาของท่านเมตตคู
[๑๔๖] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้น แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่าเป็นผู้จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว ทุกข์มีชนิดเป็นอันมากเหล่าใดเหล่าหนึ่งนี้ในโลก เกิดมาแต่ที่ไหนหนอ.
[๑๔๗] การถามมี ๓ อย่าง คือ อทิฏฐโชตนาปุจฉา ๑ ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ๑ วิมติเฉทนาปุจฉา ๑ ฯลฯ (เหมือนในข้อ ๑๒๒) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.
คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา เมตฺตคู เป็นคำเชื่อมบท ฯลฯ ชื่อว่า อิจฺจายสฺมา เมตฺตคู.
[๑๔๘] คำว่า มญฺามิ ตํ เวทคุํ ภาวิตตฺตํ ความว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่า ผู้จบเวท ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์อันอบรมแล้ว คือ ข้าพระองค์ย่อมสำคัญ ย่อมรู้ ย่อมรู้ทั่ว ย่อมรู้แจ้งเฉพาะ ย่อมแทงตลอดอย่างนี้ว่า พระองค์เป็นผู้จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเวทอย่างไร ฌาน ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรียกว่า เวท.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงที่สุด ทรงบรรลุถึงที่สุด ทรงไปสู่ที่สุด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 104
ทรงบรรลุซึ่งที่สุด ทรงถึงส่วนสุดรอบ ถึงส่วนสุดแล้ว ทรงถึงความจบ ทรงบรรลุความจบแล้ว แห่งชาติ ชรา และมรณะ ทรงถึงที่ต้านทาน ทรงบรรลุถึงที่ต้านทาน ทรงถึงที่เร้น ทรงบรรลุถึงที่เร้น ทรงถึงที่พึ่ง ทรงบรรลุถึงที่พึ่ง ทรงถึงความไม่มีภัย ทรงบรรลุถึงความไม่มีภัย ทรงถึงความไม่เคลื่อน ทรงบรรลุถึงความไม่เคลื่อน ทรงถึงความไม่ตาย ทรงบรรลุถึงความไม่ตาย ทรงถึงนิพพาน ทรงบรรลุนิพพาน ด้วยเวทเหล่านั้น.
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เวทคู.
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เวทคู.
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ชื่อว่า เวทคู เพราะพระองค์ทรงทราบแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ คือ ทรงทราบสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และพระองค์ทรงทราบอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป.
(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสภิยะ (๑)
บุคคลเลือกเวทเหล่าใดทั้งสิ้น เวทเหล่านั้น ของสมณพราหมณ์ก็มีอยู่ บุคคลนั้นปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเวทคู.
(๑) ขุ. สุ. ๒๕/ข้อ ๓๖๙.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 105
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์อันให้เจริญแล้วอย่างไร.
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระกาย มีศีล มีจิต มีปัญญา มีสติปัฏฐาน มีสัมมัปปธาน มีอิทธิบาท มีอินทรีย์ มีพละ มีโพชฌงค์ มีมรรค อันให้เจริญแล้ว ทรงละกิเลสแล้ว ทรงแทงตลอดอกุปปธรรมแล้ว มีนิโรธอันทรงทำให้แจ่มแจ้งแล้ว พระองค์ทรงกำหนดรู้ทุกข์ ทรงละสมุทัย ทรงเจริญมรรค ทรงทำให้แจ้งนิโรธแล้ว ทรงรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ทรงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ทรงละธรรมที่ควรละ ทรงเจริญธรรมที่ควรเจริญ ทรงทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง พระองค์มีธรรมไม่น้อย มีธรรมมาก มีธรรมลึก มีธรรมประมาณไม่ได้ มีธรรมยากที่จะหยั่งลงได้ มีธรรมรัตนะมาก เปรียบเหมือนทะเลหลวง ทรงประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา.
พระองค์ทรงเห็นรูปด้วยพระจักษุแล้ว ไม่ดีพระทัย ไม่เสียพระทัย ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญะอยู่ ทรงได้ยินเสียงด้วยพระโสตแล้ว ทรงดมกลิ่นด้วยพระฆานะแล้ว ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหาแล้ว ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกายแล้ว ทรงทราบธรรมารมณ์ด้วยพระมนัสแล้ว ไม่ดีพระทัย ไม่เสียพระทัย ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่.
ทรงเห็นรูปอันน่าพอใจด้วยพระจักษุแล้ว ไม่ทรงติดใจ ไม่ทรงรักใคร่ ไม่ทรงยังราคะให้เกิด พระองค์มีพระกายคงที่ มีพระทัยคงที่ ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว ทรงเห็นรูปนั้นอันไม่เป็นที่ชอบใจด้วยพระจักษุแล้ว ไม่ทรงเก้อเขิน มีพระทัยมิได้ขัดเคือง มีพระทัยไม่หดหู่ มีพระทัยไม่พยาบาท พระองค์มีพระกายคงที่ มีพระทัยคงที่ ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว ทรงได้ยินเสียงอันน่าพอใจด้วยพระโสตแล้ว ทรงดมกลิ่นอันน่าพอใจด้วยพระฆานะแล้ว ทรงลิ้มรสอัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 106
น่าพอใจด้วยพระชิวหาแล้ว ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าพอใจด้วยพระกายแล้ว ทรงทราบธรรมารมณ์อันน่าพอใจด้วยพระมนัสแล้ว ไม่ทรงติดใจ ไม่ทรงรักใคร่ ไม่ทรงยังราคะให้เกิด พระองค์มีพระกายคงที่ มีพระทัยคงที่ ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว ทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจด้วยพระมนัสแล้ว ไม่ทรงเก้อเขิน มีพระทัยมิได้ขัดเคือง มีพระทัยไม่หดหู่ มีพระทัยไม่พยาบาท พระองค์มีพระกายคงที่ มีพระทัยคงที่ ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว.
ทรงเห็นรูปด้วยพระจักษุแล้ว มีพระกายคงที่ในรูปทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ มีพระทัยคงที่ ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว ทรงได้ยินเสียงด้วยพระโสตแล้ว ทรงดมกลิ่นด้วยพระฆานะแล้ว ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหาแล้ว ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกายแล้ว ทรงทราบธรรมารมณ์ด้วยพระมนัสแล้ว มีพระกายคงที่ในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ มีพระทัยคงที่ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว ทรงเห็นรูปด้วยพระจักษุแล้ว ไม่ทรงรักในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่ทรงชังในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความชัง ไม่ทรงหลงในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่ทรงโกรธในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ไม่ทรงมัวเมาในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่ทรงเศร้าหมองในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง ทรงได้ยินเสียงด้วยพระโสตแล้ว ทรงดมกลิ่นด้วยพระฆานะแล้ว ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหาแล้ว ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกายแล้ว ทรงทราบธรรมารมณ์ด้วยพระมนัสแล้ว ไม่ทรงรักในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่ทรงขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ไม่ทรงหลงในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่ทรงโกรธในธรรมอันเป็นที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 107
ตั้งแห่งความโกรธ ไม่ทรงมัวเมาในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่ทรงเศร้าหมองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแต่เพียงทรงเห็นรูปที่ทรงเห็น เป็นแต่เพียงทรงได้ยินในเสียงที่ทรงได้ยิน เป็นแต่เพียงทรงทราบในอารมณ์ที่ทรงทราบ เป็นแต่เพียงทรงรู้ในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงติดในรูปที่ทรงเห็น ในเสียงที่ทรงได้ยิน ในอารมณ์ที่ทรงทราบ ในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงเข้าถึง ไม่ทรงอาศัย ไม่ทรงเกี่ยวข้อง ทรงพ้นวิเศษแล้ว ไม่ทรงเกี่ยวข้องในรูปที่ทรงเห็น มีพระทัยอันไม่ให้มีเขตแดนอยู่ ไม่ทรงเข้าถึง... ไม่ทรงเกี่ยวข้อง ในเสียงที่ทรงได้ยิน ในอารมณ์ที่ทรงทราบ ในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง มีพระทัยอันไม่มีเขตแดนอยู่.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระจักษุ ทรงเห็นรูปด้วยพระจักษุ แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระโสต ทรงสดับเสียงด้วยพระโสต แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระฆานะ ทรงสูดกลิ่นด้วยพระฆานะ แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระชิวหา ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระกาย ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมนัส ทรงรู้แจ้งธรรมด้วยพระมนัส แต่ไม่ทรงมีฉันทราคะ มีพระทัยพ้นวิเศษดีแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข่ม ทรงคุ้มครอง ทรงรักษา ทรงสำรวมพระจักษุอันชอบใจในรูป ยินดีในรูป พอใจในรูป และทรงแสดงธรรม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 108
เพื่อสำรวมจักษุนั้น ทรงข่ม ทรงคุ้มครอง ทรงรักษา ทรงสำรวมพระโสตอันชอบใจในเสียง ยินดีในเสียง ทรงข่ม ทรงคุ้มครอง ทรงสำรวมพระฆานะอันชอบใจในกลิ่น ยินดีในกลิ่น ทรงข่ม ทรงคุ้มครอง ทรงรักษา ทรงสำรวมพระชิวหาอันชอบใจในรส ยินดีในรส ทรงข่ม ทรงคุ้มครอง ทรงรักษา ทรงสำรวมพระกายอันชอบใจในโผฏฐัพพะ พระมนัสอันชอบใจในธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ พอใจในธรรมารมณ์ และทรงแสดงธรรมเพื่อสำรวมใจนั้น.
ชนทั้งหลาย ย่อมนำยานที่ตนฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาย่อมทรงประทับยานที่สารถีฝึกแล้ว บุคคลที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์. บุคคลใดย่อมอดทนคำที่ล่วงเกินได้ บุคคลนั้นเป็นผู้ประเสริฐ.
ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่คือกุญชรที่เขาฝึกแล้ว จึงประเสริฐ บุคคลฝึกตนแล้ว ประเสริฐกว่ายานมีม้าอัสดร ที่สารถีฝึกแล้วเป็นต้นนั้น.
ใครๆ พึงไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้ เหมือนบุคคลที่มีตนฝึก (ด้วยความฝึกอินทรีย์) ฝึกดี (ด้วยอริยมรรคภาวนา) ฝึกแล้ว ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปฉะนั้นหาได้ไม่.
พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะมานะทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นจากกรรมกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดบ่อยๆ บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว (อรหัตตผล)
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 109
พระขีณาสพเหล่านั้น เป็นผู้มีความชนะในโลกอินทรีย์ทั้งหลาย.
พระขีณาสพใดให้เจริญแล้ว อายตนะภายใน อายตนะภายนอก พระขีณาสพนั้น ทำให้หมดพยศแล้ว พระขีณาสพนั้น ล่วงแล้วซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ในโลกทั้งปวง มีธรรมอันให้เจริญแล้ว ฝึกดีแล้ว ย่อมหวังมรณกาล.
คำว่า เอวํ ภควา ภาวิตตฺโต ความว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่า จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว.
[๑๔๙] คำว่า กุโต นุ ในอุเทศว่า "กุโต นุ ทุกฺขา สมุปาคตาเม" ความว่า เป็นการถามด้วยความสงสัย เป็นการถามด้วยความเคลือบแคลง เป็นการถามสองแง่ ไม่เป็นการถามโดยส่วนเดียวว่า เรื่องนี้เป็นอย่างนี้หรือหนอแล หรือไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นไฉนหนอ หรือเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แต่อะไรหนอ.
ชื่อว่า ทุกข์ คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์ คือ ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจ ทุกข์ในนรก ทุกข์ในดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ในปิตติวิสัย ทุกข์ในมนุษย์ ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีการตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความออกจากครรภ์เป็นมูล ทุกข์เนื่องแต่สัตว์ผู้เกิด ทุกข์เนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ผู้เกิด ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของตน ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของผู้อื่น ทุกข์ในทุกข์ สังสารทุกข์ วิปริณามทุกข์ โรคตา โรคหู โรคจมูก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 110
โรคลิ้น โรคกาย โรคในศีรษะ โรคที่หู โรคในปาก โรคฟัน โรคไอ โรคมองคร่อ โรคริดสีดวงจมูก โรคร้อนใน โรคชรา โรคในท้อง โรคสลบ โรคลงแดง โรคจุกเสียด โรคลงท้อง โรคเรื้อน โรคฝี กลาก โรคหืด โรคลมบ้าหมู หิดด้าน หิดเปื่อย คุดทะราด ลำลาบ คุดทะราดใหญ่ โรครากเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคริดสีดวงทวาร โรคต่อม บานทะโรค อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีดีเป็นต้นประชุมกัน อาพาธเกิดเพราะฤดูแปรไป อาพาธเกิดเพราะเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน อาพาธเกิดเพราะความเพียร อาพาธเกิดเพราะผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์แต่เหลือบยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เสือกคลาน ความตายของมารดาก็เป็นทุกข์ ความตายของบิดาก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่ชายน้องชายก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่หญิงน้องหญิงก็เป็นทุกข์ ความตายของบุตรก็เป็นทุกข์ ความตายของธิดาก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งญาติก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งศีลก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งทิฏฐิก็เป็นทุกข์ รูปาทิธรรมเหล่าใดมีความเกิดในเบื้องต้นปรากฏ รูปาทิธรรมเหล่านั้นก็มีความดับไปในเบื้องปลายปรากฏ วิบากอาศัยกรรม กรรมอาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม นามก็อาศัยรูป นามรูปไปตามชาติ ชราก็ติดตาม พยาธิก็ครอบงำ มรณะก็ห้ำหั่น ตั้งอยู่ในทุกข์ ไม่มีอะไรต้านทาน ไม่มีอะไรเป็นที่เร้น ไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เหล่านี้เรียกว่าทุกข์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 111
ท่านพระเมตตคูย่อมทูลถาม ทูลวิงวอน ทูลเชื้อเชิญ ทูลให้ทรงประสาทซึ่งมูล เหตุ นิทาน เหตุเกิด แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร อารมณ์ ปัจจัย สมุทัย แห่งทุกข์เหล่านี้ ทุกข์เหล่านี้เข้ามาถึงพร้อม เกิด ประจักษ์ บังเกิด บังเกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแต่อะไร มีอะไรเป็นนิทาน มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นแดนเกิด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์เหล่านี้ เกิดมาแต่ที่ไหนหนอ.
[๑๕๐] คำว่า เยเกจิ ในอุเทศว่า "เยเกจิ โลกสฺมิํ อเนกรูปา" ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง ไม่เหลือ มีส่วนไม่เหลือ.
บทว่า เยเกจิ นี้ เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด.
คำว่า โลกสฺมิํ ความว่า ในอบายโลก ในมนุษยโลก ในเทวโลก ในขันธโลก ในธาตุโลก ในอายตนโลก.
คำว่า อเนกรูปา ความว่า ทุกข์ทั้งหลายมีอย่างเป็นอเนก คือ มีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์ทั้งหลายมีชนิดเป็นอเนกอย่างใดอย่างหนึ่งในโลก.
เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่าเป็นผู้จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว ทุกข์ทั้งหลายมีชนิดเป็นอันมากเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก เกิดมาแต่ที่ไหนหนอ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 112
[๑๕๑] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนเมตตคู)
ท่านถามถึงเหตุแห่งทุกข์กะเราแล้ว เรารู้อยู่อย่างไร ก็จะบอกเหตุนั้นแก่ท่าน ทุกข์ทั้งหลายมีชนิดเป็นอันมาก อย่างใดอย่างหนึ่งในโลก มีอุปธิเป็นเหตุ ย่อมเกิดขึ้น.
[๑๕๒] คำว่า ทุกฺขสฺส ในอุเทศว่า "ทุกฺขสฺส เว มํ ปภวํ อปุจฺฉสิ" ความว่า แห่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แห่งทุกข์.
คำว่า เว มํ ปภวํ อปุจฺฉสิ ความว่า ท่านถาม วิงวอน เชื้อเชิญ ให้ประสาทซึ่งมูล เหตุ นิทาน เหตุเกิด แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร อารมณ์ ปัจจัย สมุทัย แห่งทุกข์กะเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านถามถึงเหตุแห่งทุกข์กะเราแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า เมตตคู.
คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนเมตตคู.
[๑๕๓] คำว่า ตนฺเต ปวกฺขามิ ในอุเทศว่า "ตนฺเต ปวกฺขามิ ยถา ปชานํ" ดังนี้ ความว่า เราจักกล่าว... จักประกาศ ซึ่งมูล... สมุทัยแห่งทุกขึ้นในแก่ท่าน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักกล่าวซึ่งมูลแห่งทุกข์นั้นแก่ท่าน.
คำว่า ยถา ปชานํ ความว่า เรารู้อยู่ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดอย่างไร จะบอกธรรมที่ประจักษ์แก่ตนที่เรารู้เฉพาะด้วยตนเอง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 113
โดยจะไม่บอกว่า กล่าวกันมาดังนี้ๆ ไม่บอกตามที่ได้ยินกันมา ไม่บอกตามลำดับสืบๆ กันมา ไม่บอกโดยการอ้างตำรา ไม่บอกตามที่นึกเดาเอาเอง ไม่บอกตามที่คาดคะเนเอาเอง ไม่บอกด้วยความตรึกตามอาการ ไม่บอกด้วยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เรารู้อย่างไร.
[๑๕๔] คำว่า อุปธิ ในอุเทศว่า "อุปธินิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา" ดังนี้ ได้แก่ อุปธิ ๑๐ ประการ คือ ตัณหูปธิ ทิฏฐูปธิ กิเลสูปธิ กัมมูปธิ ทุจจริตูปธิ อาหารูปธิ ปฏิฆูปธิ อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ อุปธิคืออายตนะภายใน ๖ อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ ทุกข์แม้ทั้งหมดก็เป็น อุปธิ เพราะอรรถว่า ยากที่จะทนได้ เหล่านี้เรียกว่าอุปธิ ๑๐.
คำว่า ทุกฺขา คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ฯลฯ ไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เหล่านี้เรียกว่าทุกข์ ทุกข์เหล่านี้มีอุปธิเป็นนิทาน มีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นปัจจัย มีอุปธิเป็นการณะ ย่อมมี ย่อมเป็น เกิดขึ้น เกิดพร้อม บังเกิด ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์ทั้งหลายมีอุปธิเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น.
[๑๕๕] คำว่า เยเกจิ ในอุเทศว่า "เยเกจิ โลกสฺมิํ อเนกรูปา" ดังนี้ ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง ไม่เหลือ มีส่วนไม่เหลือ.
คำว่า เยเกจิ นี้เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด.
คำว่า โลกสฺมิํ ความว่า ในอบายโลก ในมนุษยโลก ในเทวโลก ในธาตุโลก ในอายตนโลก.
คำว่า อเนกรูปา ความว่า ทุกข์ทั้งหลายมีอย่างเป็นอเนก มีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์ทั้งหลาย มีชนิดเป็นอันมาก อย่างใดอย่างหนึ่งในโลก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 114
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ท่านได้ถามเหตุแห่งทุกข์กะเราแล้ว เรารู้อยู่อย่างไร ก็จะบอกเหตุนั้นแก่ท่าน ทุกข์ทั้งหลาย มีชนิดเป็นอันมาก อย่างใดอย่างหนึ่งในโลก มีอุปธิเป็นเหตุ ย่อมเกิดขึ้น.
[๑๕๖] ผู้ใดแลมิใช่ผู้รู้ ย่อมทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้รู้อยู่ ไม่พึงทำอุปธิ เป็นผู้พิจารณาเหตุเกิดแห่งทุกข์.
[๑๕๗] คำว่า โย ในอุเทศว่า "โย เว อวิทฺวา อุปธิํ กโรติ" ดังนี้ ความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ผู้ใด คือ เช่นใด ควรอย่างไร ชนิดใด ประการใด ถึงฐานะใด ประกอบด้วยธรรมใด.
คำว่า อวิทฺวา ความว่า ไม่รู้ คือ ไปแล้วในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทราม.
คำว่า อุปธิํ กโรติ ความว่า กระทำซึ่งตัณหูปธิ... อุปธิ คือ หมวดวิญญาณ ๖ คือ ให้เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิใช่ผู้รู้กระทำอุปธิ.
[๑๕๘] คำว่า ปุนปฺปุนํ ทุกฺขมุเปติ ในอุเทศว่า "ปุนปฺปุนํ ทุกฺขมุเปติ มนฺโท" ดังนี้ ความว่า ย่อมถึง คือ เข้าถึง เข้าไปถึง ย่อมจับ ย่อมลูบคลำ ย่อมยึดมั่น ซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เข้าถึงทุกข์บ่อยๆ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 115
คำว่า มนฺโท ความว่า เป็นคนเขลา คือ เป็นคนหลงมิใช่ผู้รู้ ไปแล้วในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทราม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นคนเขลา เข้าถึงทุกข์บ่อยๆ.
[๑๕๙] คำว่า ตสฺมา ในอุเทศว่า "ตสฺมา ปชานํ อุปธิํ น กยิรา " ดังนี้ ความว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะการณ์ เหตุ ปัจจัย นิทานนั้น บุคคลเมื่อเห็นโทษนี้ในอุปธิทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น.
คำว่า ปชานํ คือ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด คือ รู้... แทงตลอดว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
คำว่า อุปธิํ น กยิรา ความว่า ไม่พึงกระทำตัณหูปธิ... อุปธิ คือ อายตนะภายใน ๖ คือ ไม่พึงให้เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น รู้อยู่ ไม่พึงทำอุปธิ.
[๑๖๐] คำว่า ทุกฺขสฺส ความว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นแดนเกิด คือ เป็นผู้พิจารณาเห็นมูล เหตุ นิทาน สมภพ แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร อารมณ์ ปัจจัย สมุทัย แห่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความร่ำไร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ปัญญา คือ ความรู้ชัด กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิเรียกว่า อนุปัสสนา บุคคลเป็นผู้เข้าไป คือ เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบแล้วด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 116
ปัญญาอันพิจารณาเห็นนี้ บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้พิจารณาเห็น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้พิจารณาเห็นแดนเกิดแห่งทุกข์.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ผู้ใดแลมิใช่ผู้รู้ ย่อมทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้รู้อยู่ ไม่พึงทำอุปธิ เป็นผู้พิจารณาเห็นแดนเกิดแห่งทุกข์.
[๑๖๑] ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้วซึ่งปัญหาใด พระองค์ได้ตรัสบอกปัญหานั้นแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอทูลถามปัญหาข้ออื่น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น ธีรชนทั้งหลายย่อมข้ามซึ่งโอฆะ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ พระองค์เป็นพระมุนี ขอทรงโปรดแก้ปัญหาแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยดี แท้จริง ธรรมนั้น อันพระองค์ทรงทราบแล้ว.
[๑๖๒] คำว่า ยนฺตํ อปุจฺฉิมฺห อกิตฺตยี โน ความว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทูลถาม คือ ทูลวิงวอน ทูลเชื้อเชิญ ทูลให้ทรงประสาทแล้วซึ่งปัญหาใด.
คำว่า อกิตฺตยี โน ความว่า พระองค์ได้ตรัส คือ บอก... ทรงทำให้ง่าย ทรงประกาศแล้ว ซึ่งปัญหานั้นแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทูลถามปัญหาใดแล้ว พระองค์ได้ตรัสแก้ปัญหานั้นแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 117
[๑๖๓] คำว่า กถํ นุ ในอุเทศว่า "อญฺํ ตํ ปุจฺฉาม ตทิงฺฆ พฺรูหิ กถํ นุ ธีรา วิตรนฺติ โอฑํ ชาติชฺชรํ โสกปริเทวญฺจ" ดังนี้ ความว่า เป็นการถามด้วยความสงสัย เป็นการถามด้วยความเคลือบแคลง เป็นการถามสองแง่ ไม่เป็นการถามโดยส่วนเดียวว่า เรื่องนี้เป็นอย่างนี้หรือหนอแล หรือไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นไฉนหนอแล หรือเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อย่างไรหนอ.
คำว่า ธีรา คือ นักปราชญ์ บัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้มีความรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส.
คำว่า โอฆํ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความก้าวลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชาติ.
ความแก่ ความเสื่อม ความเป็นผู้มีฟันหัก ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชรา.
ความโศก กิริยาที่โศก ความเป็นผู้โศก ความโศก ณ ภายใน ความกรมเกรียม ณ ภายใน ความร้อน ณ ภายใน ความเร่าร้อน ณ ภายใน ความเกรียมกรอม แห่งจิต โทมนัส ลูกศรคือความโศก ของคนที่ถูกความฉิบหายแห่งญาติกระทบเข้า หรือของคนที่ถูกความฉิบหายแห่งโภคะกระทบเข้า ของคนที่ถูกความฉิบหายเพราะโรคกระทบเข้า หรือของคนที่ถูกความฉิบหายแห่งศีลกระทบเข้า ของคนที่ถูกความฉิบหายแห่งทิฏฐิกระทบเข้า ของคนที่ประจวบกับความฉิบหายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือของ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 118
คนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ความโศก.
ความร้องไห้ ความรำพัน กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่รำพัน ความเป็นผู้ร้องไห้ ความเป็นผู้รำพัน ความพูดถึง ความพูดเพ้อเจ้อ ความพูดบ่อยๆ ความร่ำไร กิริยาที่ร่ำไร ความเป็นผู้ร่ำไร ของคนที่ถูกความฉิบหายแห่งญาติกระทบเข้า... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ปริเทวะ.
คำว่า ธีรชนทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ ความว่า ธีรชนทั้งหลายย่อมข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วงซึ่งโอฆะ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ธีรชนทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ.
[๑๖๔] คำว่า ตํ ในอุเทศว่า "ตมฺเม มุนี สาธุ วิยากโรหิ" ดังนี้ ความว่า ข้าพระองค์ย่อมทูลถาม ทูลวิงวอน ทูลให้ทรงประกาศ ปัญหาใด ญาณ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ท่านกล่าวว่า โมนะ ในคำว่า มุนี พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกอบด้วยญาณนั้น จึงเป็นมุนี คือ ถึงความเป็นพระมุนี โมเนยยะ (ความเป็นมุนี) ๓ ประการ คือ กายโมเนยยะ วจีโมเนยยะ มโนโมเนยยะ.
กายโมเนยยะเป็นไฉน การละกายทุจริต ๓ อย่าง เป็นกายโมเนยยะ กายสุจริต ๓ อย่าง เป็นกายโมเนยยะ ญาณมีกายเป็นอารมณ์ เป็นกายโมเนยยะ ความกำหนดรู้กาย เป็นกายโมเนยยะ มรรคอันสหรคตด้วยความกำหนดรู้ เป็นกายโมเนยยะ ความละฉันทราคะในกาย เป็นกาย-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 119
โมเนยยะ ความดับกายสังขาร ความเข้าถึงจตุตถฌาน เป็นกายโมเนยยะ นี้ชื่อว่า กายโมเนยยะ.
วจีโมเนยยะเป็นไฉน การละวจีทุจริต ๔ อย่าง เป็นวจีโมเนยยะ วจีสุจริต ๔ อย่าง เป็นวจีโมเนยยะ ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ เป็นวจีโมเนยยะ การกำหนดรู้วาจา เป็นวจีโมเนยยะ มรรคอันสหรคตด้วยการกำหนดรู้ เป็นวจีโมเนยยะ การละฉันทราคะในวาจาเป็นวจีโมเนยยะ ความดับวจีสังขาร ความเข้าทุติยฌาน เป็นวจีโมเนยยะ นี้ชื่อว่า วจีโมเนยยะ.
มโนโมเนยยะเป็นไฉน การละมโนทุจริต ๓ อย่าง เป็นมโนโมเนยยะ มโนสุจริต ๓ อย่าง เป็นมโนโมเนยยะ ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ เป็นมโนโมเนยยะ การกำหนดรู้จิต เป็นมโนโมเนยยะ มรรคอันสหรคตด้วยความกำหนดรู้ เป็นมโนโมเนยยะ การละฉันทราคะในจิต ความดับจิตสังขาร ความเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ นี้ชื่อว่า มโนโมเนยยะ.
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงมุนี ผู้เป็นมุนีโดยกาย เป็นมุนีโดยวาจา เป็นมุนีโดยใจ ผู้ไม่มีอาสวะถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนีว่า เป็นผู้ละอกุศลธรรมทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงมุนี ผู้เป็นมุนีโดยกาย เป็นมุนีโดยวาจา เป็นมุนีโดยใจ ผู้ไม่มีอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนีว่า เป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว.
มุนีผู้ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นมุนีเหล่านี้ เป็นมุนี ๖ จำพวก คือ เป็นอาคารมุนี ๑ อนาคารมุนี ๑ เสกขมุนี ๑ อเสกขมุนี ๑ ปัจเจก-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 120
มุนี ๑ มุนิมุนี ๑. อาคารมุนีเป็นไฉน คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน มีบทอันเห็นแล้ว มีศาสนาอันรู้แจ้ง นี้ชื่อว่า อาคารมุนี.
อนาคารมุนีเป็นไฉน บรรพชิตผู้มีบทอันเห็นแล้ว มีศาสนาอันรู้แจ้งแล้ว นี้ชื่อว่า อนาคารมุนี. พระเสกขบุคคล ๗ จำพวก ชื่อว่า เสขมุนี. พระอรหันต์ ชื่อว่า อเสกขมุนี. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า ปัจเจกมุนี. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า มุนิมุนี.
บุคคลย่อมไม่เป็นมุนีด้วยความเป็นผู้นิ่ง เป็นผู้หลง มิใช่ผู้รู้ ก็ไม่เป็นมุนี ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ เหมือนบุคคลประคองตราชั่ง ย่อมละเว้นบาปทั้งหลาย บุคคลนั้นเป็นมุนี โดยเหตุนั้น บุคคลนั้นเป็นมุนี บุคคลใดรู้จักโลกทั้งสอง บุคคลนั้นท่านเรียกว่าเป็นมุนี โดยเหตุนั้น บุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและธรรมของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง ทั้งในภายในทั้งในภายนอก อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว บุคคลนั้นล่วงแล้วซึ่งราคาทิธรรมเป็นเครื่องข้อง และตัณหาดังว่าข่าย ชื่อว่า เป็นมุนี.
คำว่า สาธุ วิยากโรหิ ความว่า ขอพระองค์ทรงตรัสบอก คือ ทรงแสดง... ทรงประกาศด้วยดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์เป็นมุนี ขอทรงโปรดแก้ปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยดี.
[๑๖๕] คำว่า ตถา หิ เต วิทิโต เอส ธมฺโม ความว่า จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว ทรงเทียบเคียงแล้ว ทรงพิจารณาแล้ว ทรงให้เจริญแล้ว ทรงแจ่มแจ้งแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 121
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จริงอย่างนั้น ธรรมนี้อันพระองค์ทรงทราบแล้ว.
เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้วซึ่งปัญหาใด พระองค์ได้ตรัสบอกปัญหานั้นแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะขอทูลถามปัญหาข้ออื่น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น ธีรชนทั้งหลายย่อมข้ามซึ่งโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ พระองค์เป็นพระมุนี ขอทรงโปรดแก้ปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยดี แท้จริง ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว.
[๑๖๖] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเมตตคู)
เราจักบอกธรรมในธรรมที่เราเห็นแล้ว อันประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลทราบแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ท่าน.
[๑๖๗] คำว่า เราจักบอกธรรม... แก่ท่าน ความว่า เราจักบอก... ประกาศซึ่งพรหมจรรย์ อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง และสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาอันให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักบอกธรรมแก่ท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า เมตตคู.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 122
[๑๖๘] คำว่า ทิฏฺเ ธมฺเม ในอุเทศว่า "ทิฏฺเ ธมฺเม อนีติหํ" ดังนี้ ความว่า ในธรรมที่เราเห็น รู้ เทียบเคียง พิจารณา ให้เจริญแล้ว ปรากฏแล้ว คือ ในธรรมอันเห็นแล้ว... ปรากฏแล้วว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เราจักบอกธรรมในธรรมที่เราเห็นแล้ว.
อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เราจักบอกทุกข์ในทุกข์ที่เราเห็นแล้ว จักบอกสมุทัยในสมุทัยที่เราเห็นแล้ว จักบอกมรรคในมรรคที่เราเห็นแล้ว จักบอกนิโรธในนิโรธที่เราเห็นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า จักบอกธรรมในธรรมที่เราเห็นแล้ว.
อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เราจักบอกธรรมที่จะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เราจักบอกธรรมในธรรมที่เราเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว.
คำว่า อนีติหํ อวามว่า เราจักบอกซึ่งธรรมอันประจักษ์แก่ตน ที่เรารู้เฉพาะด้วยตนเอง โดยไม่บอกว่ากล่าวกันมาอย่างนี้ ไม่บอกตามที่ได้ยินกันมา ไม่บอกตามลำดับสืบๆ กันมา ไม่บอกโดยการอ้างตำรา ไม่บอกตามที่นึกเดาเอาเอง ไม่บอกตามที่คาดคะเนเอาเอง ไม่บอกโดยความตรึกตรองตามอาการ ไม่บอกโดยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อันประจักษ์แก่ตน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 123
[๑๖๙] คำว่า ยํ วิทิตฺวา สโต จรํ ความว่า กระทำให้รู้แจ้ง คือ เทียบเคียง พิจารณา ให้เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง คือ ทำให้รู้... ทำให้แจ่มแจ้งว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
คำว่า สโต ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ.
คำว่า จรํ คือ เที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้ธรรมใดแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป.
[๑๗๐] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า วิสัตติกา ตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในอุเทศว่า "ตเร โลเก วิสตฺติกํ."
ชื่อว่า วิสัตติกา ในคำว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่า กระไร เพราะอรรถว่า แผ่ไป เพราะอรรถว่า กว้างขวาง เพราะอรรถว่า ซ่านไป เพราะอรรถว่า ครอบงำ เพราะอรรถว่า นำไปผิด เพราะอรรถว่า ให้กล่าวผิด เพราะอรรถว่า มีรากเป็นพิษ เพราะอรรถว่า มีผลเป็นพิษ เพราะอรรถว่า มีการบริโภคเป็นพิษ.
อนึ่ง ตัณหานั้นกว้างขวาง ซ่านไป แผ่ไป แผ่ซ่านไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญา-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 124
นาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุบันกาล ธรรม คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่รู้แจ้ง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วิสัตติกา.
คำว่า โลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.
คำว่า ตเร โลเก วิสตฺติกํ ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ พึงข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง ซึ่งตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข้ามตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลก.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
เราจักบอกธรรมในธรรมที่เราเห็นแล้ว อันประจักษ์แก่ตนที่บุคคลทราบแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ท่าน.
[๑๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น และธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามพ้นตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้.
[๑๗๒] คำว่า ตํ ในอุเทศว่า "ตญฺจาหํ อภินนฺทามิ" ความว่า ซึ่งพระดำรัส คือ ทางแห่งถ้อยคำ เทศนา อนุสนธิ ของพระองค์.
คำว่า อภินนฺทามิ คือ ข้าพระองค์ย่อมยินดี ชอบใจ เบิกบาน อนุโมทนา ปรารถนา พอใจ ขอ ประสงค์ รักใคร่ ติดใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ย่อมชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 125
[๑๗๓] คำว่า มเหสี ในอุเทศว่า มเหสี ธมฺมมุตฺตมํ ดังนี้ ความว่า ชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่ากระไร. ชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหาซึ่งศีลขันธ์ใหญ่ ซึ่งสมาธิขันธ์ใหญ่ ซึ่งปัญญาขันธ์ใหญ่ ซึ่งวิมุตติขันธ์ใหญ่ ซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ใหญ่.
ชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหาแล้วซึ่งความทำลายกองมืดใหญ่ ซึ่งความทำลายวิปลาสใหญ่ ซึ่งความถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ ซึ่งความตัดความสืบต่อทิฏฐิใหญ่ ซึ่งความให้มานะเป็นเช่นธงใหญ่ตกไป ซึ่งความระงับอภิสังขารใหญ่ ซึ่งความสละโอฆะใหญ่ ซึ่งความปลงภาระใหญ่ ซึ่งความตัดสังสารวัฏฏ์ใหญ่ ซึ่งการให้ความเร่าร้อนใหญ่ดับไป ซึ่งความสงบระงับความเดือดร้อนใหญ่ ซึ่งความยกขึ้นซึ่งธรรมเป็นดังว่าธงใหญ่ ซึ่งสติปัฏฐานใหญ่ ซึ่งสัมมัปปธานใหญ่ ซึ่งอิทธิบาทใหญ่ ซึ่งอินทรีย์ใหญ่ ซึ่งพละใหญ่ ซึ่งโพชฌงค์ใหญ่ ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ใหญ่ ซึ่งอมตนิพพานอันเป็นปรมัตถ์ใหญ่.
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่า อันสัตว์ทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่แสวงหา เสาะหา สืบหาว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเทวดาล่วงเทวดาประทับ ณ ที่ไหน พระนราสภประทับ ณ ที่ไหน.
อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมอุดม ในคำว่า ธมฺมมุตฺตมํ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 126
คำว่า อุตฺตมํ คือ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธานสูงสุด อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่... ซึ่งธรรมอุดม.
[๑๗๔] คำว่า ยํ วิทิตฺวา สโต จรํ ความว่า ทำให้ทราบ คือ เทียบเคียงพิจารณา ให้เจริญ ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คือ ทำให้ทราบ... ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
คำว่า สโต ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีสติ.
คำว่า จรํ คือ เที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว... เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป.
[๑๗๕] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า วิสัตติกา ตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในอุเทศว่า "ตเร โลเก วิสตฺติกํ."
วิสัตติกา ในบทว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่ากระไร ฯลฯ ซ่านไป แผ่ซ่านไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฯลฯ ธรรม คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมที่รู้แจ้ง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วิสัตติกา.
คำว่า โลเก คือ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก.
คำว่า ตเร โลเก วิสตฺติกํ ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ พึงข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วงซึ่งตัณหา อันเกาะเกี่ยวใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 127
อารมณ์ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข้ามตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลก.
เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น และธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบแล้ว เป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันเกาะเกี่ยวในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้.
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนเมตตคู)
ท่านย่อมรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลางส่วนกว้าง ท่านจงบรรเทาความยินดี ความพัวพันและวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ.
[๑๗๗] คำว่า ท่านย่อมรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ความว่า ท่านย่อมรู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดซึ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านย่อมรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้น โดยชื่อว่า เมตตคู.
คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูก่อนเมตตคู.
[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนาคตว่า ชั้นสูง ในอุเทศว่า "อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ" ดังนี้ ตรัสอดีตว่า ชั้นต่ำ ตรัสปัจจุบันว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 128
ชั้นกลางส่วนกว้าง. ตรัสเทวโลกว่า ชั้นสูง ตรัสนิรยโลกว่า ชั้นต่ำ ตรัสมนุษยโลกว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. ตรัสกุศลธรรมว่า ชั้นสูง ตรัสอกุศลธรรมว่า ชั้นต่ำ ตรัสอพยากตธรรมว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. ตรัสอรูปธาตุว่า ชั้นสูง ตรัสกามธาตุว่า ชั้นต่ำ ตรัสรูปธาตุว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. ตรัสสุขเวทนาว่า ชั้นสูง ตรัสทุกขเวทนาว่า ชั้นต่ำ ตรัสอทุกขมสุขเวทนาว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. ตรัสส่วนเบื้องบนตลอดถึงพื้นเท้าว่า ชั้นสูง ตรัสส่วนเบื้องต่ำตลอดถึงปลายผมว่า ชั้นต่ำ ตรัสส่วนกลางว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลางส่วนกว้าง.
[๑๗๙] คำว่า เอเตสุ ในอุเทศว่า "เอเตสุ นนฺทิญฺจ นิเวสนญฺจ ปนุชฺช วิญฺาณํ ภเว น ติฏฺเ" ดังนี้ ความว่า ในธรรมทั้งหลายที่เราบอกแล้ว... ประกาศแล้ว ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่าความยินดี.
ความพัวพันในบทว่า นิเวสนํ มี ๒ อย่าง คือ ความพัวพันด้วยตัณหา ๑ ความพัวพันด้วยทิฏฐิ ๑ ความพัวพันด้วยตัณหาเป็นไฉน ความถือว่าของเราอันทำให้เป็นแดน... ด้วยส่วนตัณหาเท่าใด ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความพัวพันด้วยตัณหา. ความพัวพันด้วยทิฏฐิเป็นไฉน สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความพัวพันด้วยทิฏฐิ.
คำว่า ปนุชฺช วิญฺาณํ ความว่า วิญญาณอันสหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร วิญญาณอันสหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณอันสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร ท่านจงบรรเทา คือ จงสลัด จงถอน จงถอนทิ้ง จงละ จงทําให้ไกล จงทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งความยินดี ความพัวพัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 129
และวิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขารในธรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงบรรเทาความยินดี ความพัวพัน และวิญญาณในธรรมเหล่านี้.
ภพมี ๒ คือ กรรมภพ ๑ ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ๑ ชื่อว่า ภพ ในอุเทศว่า "ภเว น ติฏฺเ." กรรมภพเป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร นี้เป็นกรรมภพ. ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีในปฏิสนธินี้เป็นภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ.
คำว่า ภเว น ติฏฺเ ความว่า เมื่อละขาด บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งความยินดี ความพัวพัน วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ไม่พึงตั้งอยู่ในปฏิสนธิ ไม่พึงอยู่ในกรรมภพ ไม่พึงดำรงอยู่ ไม่พึงประดิษฐานอยู่ในภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงบรรเทา... วิญญาณไม่พึงตั้งอยู่ในภพ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ท่านย่อมรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง ส่วนกว้าง ท่านจงบรรเทาความยินดี ความพัวพัน และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ.
[๑๘๐] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศกและความรำพัน อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 130
[๑๘๑] คำว่า เอวํวิหารี ในอุเทศว่า "เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต" ดังนี้ ความว่า ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยินดี ความพัวพัน วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้.
คำว่า สโต ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐานเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีสติ.
คำว่า อปฺปมตฺโต ความว่า ภิกษุเป็นผู้ทำด้วยความเต็มใจ คือ ทำเนืองๆ ทำไม่หยุด มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระ ไม่ประมาท ในกุศลธรรม คือ ความพอใจ ความพยายาม ความหมั่น ความเป็นผู้มีความหมั่น ความไม่ถอยหลัง สติ สัมปชัญญะ ความเพียรให้กิเลสร้อนทั่ว ความเพียรชอบ ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใด ในกุศลธรรมนั้นว่า เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์สมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุตติขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ความพอใจ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 131
เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม ความพอใจ ความพยายาม... ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใด ในกุศลธรรมนั้นว่า เมื่อไร เราพึงกำหนดทุกข์ที่ยังไม่กำหนดรู้ เราพึงละกิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้ละ เราพึงเจริญมรรคที่ยังไม่เจริญ หรือเราพึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ความพอใจเป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีสติไม่ประมาท.
[๑๘๒] ภิกษุเป็นกัลยาณปุถุชนก็ดี ภิกษุเป็นพระเสขะก็ดี ชื่อว่า ภิกษุ ในอุเทศว่า "ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ" ดังนี้.
คำว่า จรํ ความว่า เที่ยวไป คือ เที่ยวไป... เยียวยา.
ความยึดถือว่าของเรามี ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเรา ละความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา สละคืนความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ละ สละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ... ละแล้วซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลายเที่ยวไป.
[๑๘๓] ความเกิด ความเกิดพร้อม... ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชาติ ในอุเทศว่า "ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเมว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกขํ" ดังนี้ ความแก่ ความเสื่อม... ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่า ชรา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 132
ความโศก กิริยาที่โศก... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ความโศก. ความร้องไห้ ความรำพัน... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ปริเทวะ.
คำว่า อิธ ความว่า ในทิฏฐินี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้.
คำว่า วิทฺวา ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความแจ่มแจ้ง เป็นนักปราชญ์ ชาติทุกข์ ฯลฯ ทุกข์คือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ชื่อว่า ทุกข์.
คำว่า ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเธว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกฺขํ ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความแจ่มแจ้งเป็นปราชญ์ พึงละ คือ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งชาติ ชรา ความโศก และความร่ำไรในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้รู้แจ้งพึงละชาติ ชรา ความโศก และความร่ำไรอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเรา แล้วเที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศก และความรำพันอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว.
[๑๘๔] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัส ของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมไม่มีอุปธิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 133
เป็นแน่ จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว.
[๑๘๕] คำว่า เอตํ ในอุเทศว่า "เอตาภินนฺทามิ วโจ มเหสิโน" ดังนี้ ความว่า ถ้อยคำ ทางถ้อยคำ เทศนา อนุสนธิของพระองค์.
คำว่า อภินนฺทามิ ความว่า ย่อมยินดี คือ ชอบใจ เบิกบาน อนุโมทนา ปรารถนา พอใจ ขอประสงค์ รักใคร่ ติดใจ.
คำว่า มเหสิโน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ศีลขันธ์ใหญ่ ฯลฯ พระนราสภประทับที่ไหน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่.
[๑๘๖] คำว่า สุกิตฺติตํ ในอุเทศว่า "สุกิตฺติตํ โคตม นูปธีกํ" ดังนี้ ความว่า อันพระองค์ตรัสแล้ว คือ ตรัสบอก... ทรงประกาศแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตรัสดีแล้ว.
กิเลสทั้งหลายก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ท่านกล่าวว่า อุปธิในอุเทศว่า "โคตม นูปธีกํ" เป็นธรรมที่ละอุปธิ คือ เป็นที่สงบอุปธิ ที่สละคืนอุปธิ ที่ระงับอุปธิ อมตนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระโคดม... ตรัสดีแล้ว เป็นธรรมไม่มีอุปธิ.
[๑๘๗] คำว่า อทฺธา ในอุเทศว่า "อทฺธา หิ ภควา ปหาสิ ทุกฺขํ" ดังนี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยส่วนเดียว เป็นเครื่องกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นเครื่องกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นเครื่องกล่าวโดยไม่เป็นสองแง่ เป็นเครื่องกล่าวแน่นอน เป็นเครื่องกล่าวไม่ผิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 134
คำว่า อทฺธา นี้ เป็นเครื่องกล่าวแน่แท้. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ.
คำว่า ปหาสิ ทุกฺขํ ความว่า พระองค์ทรงละ คือ ทรงละขาด ทรงบรรเทา ทรงทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่.
[๑๘๘] คำว่า จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว ความว่า จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้ ทรงเทียบเคียง ทรงพิจารณา ทรงให้แจ่มแจ้ง ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมไม่มีอุปธิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่ จริงอย่างนั้น ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว.
[๑๘๙] พระองค์เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดบ่อยๆ ก็ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ข้าพระองค์มาพบแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ จักขอนมัสการ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 135
พระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสสอนข้าพระองค์บ่อยๆ.
[๑๙๐] คำว่า เต จาปิ ในอุเทศว่า "เต จาปิ นูน ปชเหยฺยุํ ทุกฺขํ" ดังนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์ พึงละได้.
คำว่า ทุกฺขํ ความว่า พึงละ คือ พึงบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งชาติทุกข์... ความคับแค้นใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ก็แม้ชนเหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่.
[๑๙๑] คำว่า เย ในอุเทศว่า "เย ตฺวํ มุนี อฏฺิตํ โอวเทยฺย" ดังนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์ เมตตคูพราหมณ์ย่อมกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตฺวํ.
ญาณ เรียกว่า โมนะ ในคำว่า มุนี ฯลฯ บุคคลนั้นล่วงแล้ว ซึ่งราคาทิธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเป็นดังว่าข่าย ย่อมเป็นมุนี.
คำว่า อฏฺิตํ โอวเทยฺย ความว่า ตรัสสอนโดยเอื้อเฟื้อ คือ ตรัสสอนเนืองๆ ตรัสสอน พร่ำสอนบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดบ่อยๆ.
[๑๙๒] เมตตคูพราหมณ์กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตํ ในอุเทศว่า ตนฺตํ นมสฺสามิ สเมจฺจ นาคํ.
คำว่า นมสฺสามิ ความว่า ข้าพระองค์ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ บูชาด้วยกาย ด้วยจิต ด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นไปตามประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 136
คำว่า สเมจฺจ ความว่า ข้าพระองค์มาพบ คือ มาประสบ มาหา มาเฝ้าแล้ว ขอนมัสการพระองค์เฉพาะพระพักตร์.
คำว่า นาคํ ความว่า ผู้ไม่มีความชั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค ไม่เสด็จไปสู่ความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค ไม่เสด็จมาสู่ความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำความชั่วอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค. อกุศลธรรมทั้งปวงอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป ท่านกล่าวว่า ความชั่ว.
บุคคลไม่ทำความชั่วน้อยหนึ่งในโลก สลัดแล้วซึ่งกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ทั้งปวง ซึ่งเครื่องผูกทั้งหลาย เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องในที่ทั้งปวง บุคคลนั้นท่านกล่าวว่าเป็นนาค ผู้คงที่ มีจิตอย่างนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำความชั่วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จไปอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จไปสู่ฉันทาคติ ไม่เสด็จไปสู่โทสาคติ ไม่เสด็จไปสู่โมหาคติ ไม่เสด็จไปสู่ภยาคติ พระองค์ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจราคะ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจมานะ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่เสด็จไปด้วยอำนาจอนุสัย ไม่ดำเนิน ไม่เสด็จออก ไม่ถูกพัดไป ไม่ถูกนำไป ไม่ถูกเคลื่อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 137
ไปด้วยธรรมอันเป็นพวก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จมาอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสทั้งหลาย ที่พระองค์ทรงละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค... ด้วยสกทาคามิมรรค... ด้วยอนาคามิมรรค... ด้วยอรหัตตมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนาค จึงขอนมัสการพระองค์.
[๑๙๓] คำว่า อปฺเปว มํ ภควา อฏิฺิตํ โอวเทยฺย ความว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสสอนข้าพระองค์บ่อยๆ คือ โปรดตรัสสอนโดยเอื้อเฟื้อ ตรัสสอนเนืองๆ ตรัสสอน พร่ำสอนบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสสอนข้าพระองค์บ่อยๆ บ้าง เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า
พระองค์เป็นพระมุนี ตรัสสอนชนเหล่าใดบ่อยๆ ก็ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ข้าพระองค์มาพบแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ จักขอนมัสการพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสสอนข้าพระองค์บ่อยๆ.
[๑๙๔] บุคคลพึงรู้จักผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ข้องเกี่ยวในกามภพ ผู้นั้นข้ามได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 138
แล้วซึ่งโอฆะนี้โดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีความสงสัย.
[๑๙๕] คำว่า พฺราหฺมณํ ในอุเทศว่า ยํ พฺราหฺมณํ เวทคุํ อภิชญฺา ความว่า ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยเสียแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ลอยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพัตตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ เป็นผู้ลอยอกุศลบาปธรรมอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป.
(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนสภิยะ (๑) ) พระผู้มีพระภาคเจ้า ลอยเสียแล้วซึ่งธรรมอันลามกทั้งปวง ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดี มีจิตคงที่ ล่วงแล้วซึ่งสงสาร เป็นผู้บริบูรณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย เป็นผู้คงที่ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ประเสริฐ.
ญาณในมรรค ๔ ตรัสว่าเวท ในคำว่า เวทคุํ ฯลฯ พราหมณ์นั้นเป็นเวทคู เพราะล่วงเสียซึ่งเวททั้งปวง.
คำว่า อภิชญฺา ความว่า พึงรู้จัก คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงรู้จักผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท.
[๑๙๖] คำว่า อกิญฺจนํ ในอุเทศว่า อกิญฺจนํ กามภเว อสตฺตํ ดังนี้ ความว่า เครื่องกังวล คือ ราคะ เครื่องกังวล คือ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้อันผู้ใดละขาดแล้ว ตัด
(๑) ขุ. สุ. ๒๕/ข้อ ๓๖๗.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 139
ขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล.
โดยอุทานว่า กาม กามมี ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ เหล่านี้ตรัสว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ตรัสว่า กิเลสกาม.
ชื่อว่า ภพ คือ ภพ ๒ อย่าง คือ กรรมภพ ๑ ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ.
คำว่า อกิญฺจนํ กามภเว อสตฺตํ ความว่า ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ข้องเกี่ยว คือ ไม่ข้องแวะ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่พัวพัน ในกามภพ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ข้องเกี่ยวในกามภพ.
[๑๙๗] คำว่า อทฺธา ในอุเทศว่า อทฺธา หิ โส โอฆมิมํ อตาริ ดังนี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยส่วนเดียว ฯลฯ. คำว่า อทฺธา นี้เป็นเครื่องกล่าวแน่แท้.
คําว่า โอฆํ คือ กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ.
คำว่า อตาริ ความว่า ข้ามแล้ว คือ ข้ามขึ้นแล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วงแล้ว เป็นไปล่วงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นได้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะนี้โดยแท้.
[๑๙๘] คำว่า ติณฺโณ ในอุเทศว่า "ติณฺโณ จ ปารํ อขิโล อกงฺโข" ดังนี้ ความว่า ผู้นั้นข้ามได้แล้ว คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ล่วงพ้นแล้ว เป็นไปล่วงแล้ว ซึ่งกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ มีความอยู่จบแล้ว มีจรณะอันประพฤติแล้ว มีทางไกลอันถึงแล้ว มีทิศอันถึงแล้ว มีที่สุดอันถึงแล้ว มีพรหมจรรย์อันรักษาแล้ว ถึงแล้วซึ่งทิฏฐิอันอุดม มีมรรคอันเจริญแล้ว มีกิเลสอันละแล้ว มีอกุปปธรรมอันแทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ละสมุทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 140
แล้ว เจริญมรรคแล้ว ทํานิโรธให้แจ่มแจ้งแล้ว รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว กำหนดรู้ซึ่งธรรมที่ควรกำหนดรู้แล้ว ละซึ่งธรรมที่ควรละแล้ว เจริญซึ่งธรรมที่ควรเจริญแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งแล้ว ผู้นั้นมีอวิชชาเพียงดังกลอนอันถอดออกแล้ว มีชาติสงสารเพียงดังคูอันกลบแล้ว มีตัณหาเพียงดังเสาระเนียดอันถอนขึ้นแล้ว ไม่มีลิ่มสลัก เป็นผู้ไกลจากกิเลสดังข้าศึก มีอัสมิมานะดังว่าธงล้มไปแล้ว มีภาระปลงเสียแล้ว เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง ละนิวรณ์มีองค์ ๕ เสียแล้ว ประกอบด้วย อุเบกขามีองค์ ๖ มีสติเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก มีธรรมเป็นที่พึ่งพิง ๔ มีทิฏฐิสัจจะเฉพาะอย่างหนึ่งๆ บรรเทาเสียแล้ว มีความแสวงหาอันประเสริฐบริบูรณ์โดยชอบ มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารระงับแล้ว มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว มีปัญญาพ้นวิเศษดีแล้ว เป็นผู้บริบูรณ์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นบุรุษอุดม เป็นบุรุษประเสริฐ เป็นผู้ถึงอรหัตตผลอันประเสริฐ.
ผู้นั้นย่อมไม่ก่อ ไม่ทำลาย ทำลายเสร็จแล้วดำรงอยู่ ไม่ต้องละ ไม่ต้องยึดถือ ละเสร็จแล้วดำรงอยู่ ย่อมไม่เย็บ ไม่ยก ตัดเสร็จแล้วดำรงอยู่ ไม่ต้องกำจัด ไม่ต้องก่อ ก่อเสร็จแล้วดำรงอยู่ ชื่อว่า ดำรงอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ ยังอริยสัจทั้งปวงให้ถึงเฉพาะแล้วดำรงอยู่ ล่วงเสียอย่างนี้แล้วดำรงอยู่ ดับไฟกิเลสแล้วดำรงอยู่ ดำรงอยู่ในความเป็นผู้ไม่วนเวียน ยึดถือความชนะเสร็จแล้วดำรงอยู่ ดำรงอยู่ในความซ่องเสพวิมุตติ ดำรงอยู่ในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ส่วนเดียว ดำรงอยู่ในความเป็นผู้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 141
ไม่มีกัมมัญญะ (ตัณหา ทิฏฐิ มานะ) ดำรงอยู่เพราะความเป็นผู้พ้นวิเศษแล้ว ดำรงอยู่เพราะความเป็นผู้มีจิตสงบ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งขันธ์ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งธาตุ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งอายตนะ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งคติ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งอุปบัติ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งปฏิสนธิ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งภพ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งสังขาร ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ดำรงอยู่ในภพอันมีในที่สุด ดำรงอยู่ในอัตภาพอันมีในที่สุด เป็นพระอรหันต์ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด.
พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นครั้งหลัง มีอัตภาพนี้และมีสงสาร คือ ชาติ ชรา และมรณะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีภพใหม่.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้ามแล้ว.
อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสํารอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด ตรัสว่า ฝั่ง ในบทว่า ปารํ ดังนี้. ผู้นั้นถึงแล้วซึ่งฝั่ง คือ บรรลุถึงฝั่ง ไปสู่ส่วนสุด ถึงส่วนสุด ไปสู่ที่สุด ถึงที่สุด ไปสู่ส่วนสุดรอบ ถึงส่วนสุดรอบ ไปสู่ที่จบ ถึงที่จบ ไปสู่ที่ต้านทาน ถึงที่ต้านทาน ไปสู่ที่เร้น ถึงที่เร้น ไปสู่ที่พึ่ง ถึงที่พึ่ง ไปสู่ที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่มีภัย ไปสู่ที่ไม่เคลื่อน ถึงที่ไม่เคลื่อน ไปสู่อมตะ ถึงอมตะ ไปสู่นิพพาน ถึงนิพพาน ผู้นั้นมีพรหมจรรย์อันเป็นเครื่องอยู่จบแล้ว มีจรณะประพฤติแล้ว ฯลฯ ไม่มีสงสาร คือ ชาติ ชรา และมรณะ ไม่มีภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้ามแล้วถึงฝั่ง.
คำว่า ไม่มีเสาเขื่อน คือ ราคะเป็นเสาเขื่อน โทสะเป็นเสาเขื่อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 142
โมหะเป็นเสาเขื่อน ความโกรธเป็นเสาเขื่อน ความผูกโกรธเป็นเสาเขื่อน ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงเป็นเสาเขื่อน ผู้ใดละเสาเขื่อนเหล่านี้แล้ว ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นตรัสว่า เป็นผู้ไม่มีเสาเขื่อน.
คำว่า ผู้ไม่มีความสงสัย คือ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความสงสัยในเงื่อนเบื้องต้น ความสงสัยในเงื่อนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปปันธรรม คือ ความเป็นปัจจัยแห่งสังขาราทิธรรมนี้ ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ความเป็นผู้สงสัย ความเคลือบแคลง ความไม่ตกลง ความเป็นสองแง่ ความเป็นสองทาง ความลังเล ความไม่ถือเอาโดยส่วนเดียว ความระแวง ความระแวงรอบ ความตัดสินไม่ลง ความมีจิตครั่นคร้าม ความมีใจสนเท่ห์เห็นปานนี้ ผู้ใดละความสงสัยเหล่านี้... เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นตรัสว่า เป็นผู้ไม่มีความสงสัย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้ามแล้วถึงฝั่ง ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีความสงสัย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
บุคคลพึงรู้จักผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ข้องเกี่ยวในกามภพ ผู้นั้นได้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะนี้โดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีความสงสัย.
[๑๙๙] นรชนใดในศาสนานี้ มีความรู้ เป็นเวทคู สลัดแล้วซึ่งบาปธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ ในภพน้อยและภพใหญ่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 143
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและชรา.
[๒๐๐] คำว่า วิทฺวา ในอุเทศว่า "วิทฺวา จ โย เวทคู นโร อิธ" ดังนี้ ความว่า ไปแล้วในวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส.
คำว่า โย ความว่า ฯลฯ มนุษย์ใด คือ เช่นใด.
ญาณในมรรค ๔ ตรัสว่า เวท ในบทว่า เวทคู นรชนนั้น ชื่อว่า เป็นเวทคู เพราะล่วงเสียซึ่งเวททั้งปวง.
คำว่า นโร ได้แก่ สัตว์ นระ มาณพ ผู้อันเขาเลี้ยง บุคคลผู้เป็นอยู่ ผู้ถึงชาติ สัตว์เกิด ผู้ถึงความเป็นใหญ่ ชนผู้เกิดแต่พระมนู.
คำว่า อิธ คือ ในทิฏฐินี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใดในศาสนานี้ มีความรู้ เป็นเวทคู.
[๒๐๑] คำว่า ภวาภเว ในอุเทศว่า "ภวาภเว สงฺคมิมํ วิสชฺช" ดังนี้ ความว่า ในภพน้อยและภพใหญ่ คือ ในกรรมภพ (กรรมวัฏฏ์) ในปุนัพภพ (วิปากวัฏฏ์) ในกามภพ (กามธาตุ) ในกรรมภพ ในกามภพ ในปุนัพภพ ในรูปภพ ในกรรมภพ ในรูปภพ ในปุนัพภพ ในอรูปภพ ในกรรมภพ ในวิปากวัฏฏ์อันให้เกิดใหม่ ในอรูปภพ ในภพบ่อยๆ ในคติบ่อยๆ ในอุปบัติบ่อยๆ ในปฏิสนธิบ่อยๆ ในความเกิดแห่งอัตภาพบ่อยๆ.
บาปธรรมเป็นเครื่องข้อง ในบทว่า สงฺคํ มี ๗ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เป็นเครื่องข้อง.
คำว่า สละแล้ว คือ สลัดแล้ว ซึ่งบาปธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เปลื้องปล่อยบาปธรรมเป็นเครื่องข้อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 144
ทั้งหลาย คือ เป็นเครื่องผูก เครื่องพัน เครื่องคล้อง เครื่องเกี่ยวข้อง เครื่องผูกพัน เครื่องพัวพัน เปรียบเหมือนชนทั้งหลายย่อมทำความปลดปล่อยยาน คานหาม รถ เกวียน หรือล้อเลื่อน ย่อมทำให้เสียไป ฉันใด นรชนนั้น สละสลัดบาปธรรมเป็นเครื่องข้องเหล่านั้น หรือปลดเปลื้องบาปธรรมทั้งหลายเป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูกไว้ เป็นเครื่องพัน เป็นเครื่องคล้องไว้ เป็นเครื่องเกี่ยวข้อง เป็นเครื่องพัวพัน เป็นเครื่องผูกพัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สลัดแล้วซึ่งบาปธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ ในภพน้อยและภพใหญ่.
[๒๐๒] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า "โส วีตตณฺโห อนิโฆ นิราโส อตฺตาริ โส ชาติชรนฺติ พฺรูมิ" ดังนี้ นรชนใดละตัณหานี้แล้ว... เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ นรชนนั้นตรัสว่า เป็นผู้ปราศจากตัณหา คือ เป็นผู้สละตัณหา คายตัณหา ปล่อยตัณหา ละตัณหา สละคืนตัณหา ปราศจากราคะ สละราคะ คายราคะ ปล่อยราคะ ละราคะ สละคืนราคะ ไม่มีความหิว เป็นผู้ดับ เยือกเย็นแล้ว เสวยสุขอยู่ด้วยตนอันประเสริฐ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหา.
คำว่า อนิโฆ ความว่า ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ นรชนใดละทุกข์เหล่านี้แล้ว... เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ นรชนนั้นตรัสว่า ไม่มีทุกข์.
คำว่า ไม่มีความหวัง ความว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่าความหวัง นรชนใดละความหวัง คือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 145
ตัณหานี้แล้ว... เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ นรชนนั้นตรัสว่า ไม่มีความหวัง.
ความเกิด ความเกิดพร้อม... ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์นั้นๆ ชื่อว่า ชาติ. ความแก่ ความเสื่อม... ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ เเห่งสัตว์นั้นๆ ชื่อว่า ชรา. ความตาย ความจุติ... ความทอดทิ้งซากศพ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ทั้งหลาย จากหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์นั้นๆ ชื่อว่า มรณะ.
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นได้ข้ามแล้ว ซึ่งชาติ ชรา ความว่า นรชนนั้นใดเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าว บอก... ประกาศว่า นรชนนั้นได้ข้ามแล้ว คือ ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วง ซึ่งชาติ ชราและมรณะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและชรา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
นรชนใดในศาสนานี้ มีความรู้ เป็นเวทคู สลัดแล้วซึ่งบาปธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ ในภพน้อยและภพใหญ่ นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่านรชนนั้นได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและชรา.
พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา เมตตคูพราหมณ์ ฯลฯ นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 146
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้แล.
จบเมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔
อรรถกถาเมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔
พึงทราบวินิจฉัยใน เมตตคูสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
บทว่า มญฺามิ ตํ เวทคุํ ภาวิตตฺตํ คือ ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่าเป็นผู้จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว.
บทว่า อปริตฺโต คือ ไม่น้อย.
บทว่า มหนฺโต มาก คือ ไม่เล็กน้อย.
บทว่า คมฺภีโร ลึกซึ้ง คือ ไม่ง่าย.
บทว่า อปฺปเมยฺโย ประมาณไม่ได้ คือ ไม่สามารถจะนับได้.
บทว่า ทุปฺปริโยคาฬฺโห คือ ยากที่จะหยั่งลงได้.
บทว่า พหุรตโน สาครูปโม มีธรรมรัตนะมาก เปรียบเหมือนทะเลหลวง คือ มีธรรมรัตนะมาก เพราะเป็นบ่อเกิดของธรรมรัตนะมาก เช่นกับสาคร คือ ดุจสมุทรอันบริบูรณ์ด้วยรัตนะหลายๆ อย่าง.
บทว่า น มงฺกุ โหติ ไม่ทรงเก้อเขิน คือ ไม่ทรงเสียหน้า.
บทว่า อปฺปติฏฺีนจิตฺโต มีพระทัยมิได้ขัดเคือง คือ มิได้มีพระทัยเป็นไปด้วยอำนาจโทสะ.
บทว่า อทินมนโส (๑) คือ มีพระทัยไม่หดหู่.
บทว่า อพฺยาปนฺนเจตโส มีพระทัยไม่พยาบาท คือ มิได้มีพระทัยประทุษร้าย.
บทว่า ทิฏฺเ ทิฏฺมตฺโต เพียงแต่ทรงเห็นรูปที่ทรงเห็น คือ เป็นแต่เพียงเห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสัยของจักษุเท่านั้น. อารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุเป็นเพียงสี
(๑) บาลีว่า อาทินมนโส. ม. ว่า อลีนมนโส.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 147
เท่านั้น ไม่มีผู้กระทำหรือผู้ให้กระทำ. แม้ในเสียงที่ได้ยินเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทิฏฺเ ท่านแสดงวรรณายตนะเพราะประกอบด้วยการเห็น แสดงสัททายตนะเพราะประกอบด้วยการฟัง แสดงฆานายตนะ ชิวหายตนะ และกายายตนะ เพราะประกอบด้วยการทราบ. ท่านแสดงคันธะ เป็นอายตนะของฆานะ แสดงรส เป็นอายตนะของชิวหา แสดงโผฏฐัพพะ คือ ปฐวี เตโช วาโย เป็นอายตนะของกาย แสดงธัมมายตนะ เพราะประกอบด้วยการรู้แจ้ง.
บทว่า ทิฏฺเ อนูปโย ไม่ทรงติดในรูปที่ทรงเห็น คือ เว้นจากการติดด้วยราคะในรูปที่เห็นด้วยจักษุวิญญาณ.
บทว่า อนปฺปิโย คือ เว้นจากความโกรธ ไม่มีปฏิฆะ.
บทว่า อนิสฺสิโต ไม่ทรงอาศัย คือ ไม่ติดอยู่ด้วยตัณหา.
บทว่า อปฺปฏิพทฺโธ ไม่ทรงเกี่ยวข้อง คือ ไม่เกี่ยวข้องผูกพันด้วยมานะ.
บทว่า วิปฺปมุตฺโต ทรงพ้นวิเศษแล้ว คือ พ้นจากอารมณ์ทั้งปวง.
บทว่า วิสญฺญุโต ทรงแยกออกแล้ว คือ แยกจากกิเลส ดำรงอยู่.
บทว่า สํวิชฺชติ ภควโต จกฺขุํ จักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอยู่ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้มังสจักษุตามปกติ.
บทว่า ปสฺสติ คือ ทรงเห็น ทรงดู.
บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ คือ ทรงเห็นรูปารมณ์ด้วยจักษุวิญญาณ.
บทว่า ฉนฺทราโค ฉันทราคะ คือ ความพอใจในตัณหา.
บทว่า ทนฺตํ นยนฺติ สมิติํ ชนทั้งหลายย่อมนำยานที่ตนฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม คือ ชนทั้งหลายผู้ไปสู่ท่ามกลางมหาชนในอุทยาน และสนามกีฬาเป็นต้น ย่อมเทียมโคหรือม้าอาชาไนยที่ฝึกแล้ว เทียมในยานนำไป.
บทว่า ราชา คือ แม้พระราชาเสด็จไปสู่สถานที่เช่นนั้น ก็ประทับยานที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 148
สารถีฝึกแล้วนั่นเอง.
บทว่า มนุสฺเส คือ บุคคลที่ฝึกแล้วหมดพยศ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์ด้วยอริยมรรค ๔.
บทว่า โยติวากฺยํ ความว่า บุคคลใดย่อมอดทน ไม่กระสับกระส่ายไม่เดือดร้อนต่อถ้อยคำล่วงเกินเห็นปานนี้ แม้เขาพูดอยู่บ่อยๆ บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
บทว่า อสฺสตรา ม้าอัสดร คือ ม้าที่เกิดจากแม่ม้า พ่อลา.
บทว่า อาชานิยา ม้าอาชาไนย คือ ม้าที่สามารถรู้เหตุที่สารถีผู้ฝึกให้ทำได้โดยเร็ว.
บทว่า สินฺธวา ม้าสินธพ คือ ม้าที่เกิดในแคว้นสินธพ.
บทว่า มหานาคา คือ ช้างใหญ่จำพวกกุญชร.
บทว่า อตฺตทนฺโต ฝึกตนแล้ว ความว่า ม้าอัสดรก็ดี ม้าสินธพก็ดี ช้างกุญชรก็ดี เหล่านี้ที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่ยังมิได้ฝึก เป็นสัตว์ไม่ประเสริฐ อนึ่ง บุคคลใดฝึกตนแล้ว เพราะฝึกตนด้วยมรรค ๔ เป็นผู้หมดพยศ บุคคลนี้เป็นผู้ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ยังมิได้ฝึกตนนั้น คือ ประเสริฐยิ่งกว่ายานเหล่านั้นทั้งหมด.
บทว่า น หิ เอเตหิ ยาเนหิ บุคคลพึงไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้หาได้ไม่ ความว่า บุคคลไรๆ พึงไปสู่ทิศ คือ นิพพานที่ไม่เคยไป เพราะไม่เคยไปแม้แต่ฝันด้วยยานอันสูงสุด มียานช้างเป็นต้นหาได้ไม่ โดยที่บุคคลผู้มีปัญญาหมดพยศฝึกแล้วด้วยการฝึกอินทรีย์ในเบื้องต้น ภายหลังฝึกดีแล้วด้วยอริยมรรคภาวนา ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปนั้นได้ คือ ถึงภูมิที่ตนฝึกแล้ว เพราะฉะนั้น การฝึกตนนั่นแลประเสริฐกว่า.
บทว่า วิธาสุ น วิกมฺปติ คือ พระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวในส่วนของมานะ ๙ อย่าง.
บทว่า วิปฺปมุตฺตา ปุนพฺภวา พ้นจากการเกิดอีก คือ พ้นด้วยดีจากกรรมกิเลสด้วยสมุจเฉทวิมุตติ.
บทว่า ทนฺตภูมิํ อนุปฺปตฺตา บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว คือ บรรลุพระอรหัตตผลตั้ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 149
อยู่แล้ว.
บทว่า เต โลเก วิชิตาวิโน พระขีณาสพเหล่านั้นเป็นผู้ชนะแล้วในโลก คือ พระขีณาสพดังกล่าวแล้วนั้น ชื่อว่า เป็นผู้ชนะแล้วในสัตวโลก.
บทว่า ยสฺสนฺทฺริยานิ ภาวิตานิ พระขีณาสพเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว คือ พระขีณาสพเจริญอินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้นให้บรรลุถึงอรหัตตผล.
บทว่า อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก คือ ทำอายตนะภายในมีจักขวายตนะเป็นต้น และอายตนะภายนอกมีรูปายตนะเป็นต้น ให้หมดพยศ.
บทว่า สพฺพโลเก ในโลกทั้งปวง คือ ในโลกมีธาตุ ๓ ทั้งสิ้น.
บทว่า นิพฺพิชฺฌ อิมญฺจ ปรญฺจ โลกํ พระขีณาสพนั้นล่วงแล้วซึ่งโลกนี้และโลกอื่น คือ พระขีณาสพล่วงอัตภาพนี้และอัตภาพในโลกอื่นตั้งอยู่แล้ว.
บทว่า กาลํ กงฺขติ ภาวิโต สุทนฺโต มีธรรมอันให้เจริญแล้ว ฝึกแล้วย่อมหวังมรณกาล คือ พระขีณาสพนั้น ฝึกแล้วตั้งต้นแต่จักขวายตนะ มีจิตเจริญแล้ว ย่อมปรารถนามรณกาล.
บทว่า เยสํ ธมฺมานํ อาทิโต สมุทาคมนํ ปญฺายติ ธรรมเหล่าใด มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นปรากฏ คือ ธรรมมีขันธ์เป็นต้นเหล่าใด มีความเกิดขึ้นปรากฏ.
บทว่า อตฺถงฺคมโต นิโรโธ คือ ความไม่มีธรรมเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการดับปรากฏ.
บทว่า กมฺมสนฺนิสฺสิโต วิปาโก วิบากอาศัยกรรม คือ วิบากอาศัยกุศลกรรมและอกุศลกรรม ชื่อว่าวิบากอาศัยกรรม เพราะไม่ปล่อยกรรมเป็นไป.
บทว่า นามสนฺนิสฺสิตํ รูปํ รูปอาศัยนาม คือ รูปทั้งหมดชื่อว่าอาศัยนาม เพราะยึดถือนามเป็นไป.
บทว่า ชาติยา อนุคตํ นามรูปไปตามชาติ คือ นามรูปมีกรรมเป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 150
ทั้งหมด เข้าไปตามชาติ.
บทว่า ชราย สนุสฏํ ชราก็ติดตาม คือ ถูกชราครอบงำ.
บทว่า พฺยาธินา อภิภูตํ พยาธิก็ครอบงำ คือ ถูกพยาธิทุกข์ย่ำยี.
บทว่า มรเณน อพฺภาหตํ คือ ถูกมรณะเบียดเบียน.
บทว่า อตาณํ ไม่มีอะไรต้านทาน คือ ไม่มีอะไรต้านทาน เพราะบุตรเป็นต้นก็ต้านทานไม่ได้ ไม่มีการรักษา ไม่ได้รับความปลอดภัย.
บทว่า อเลณํ ไม่มีอะไรเป็นที่เร้น คือ ไม่อาจหลีกเร้นอาศัยอยู่ คือทำกิจเป็นที่หลีกเร้นไม่ได้.
บทว่า อสรณํ ไม่มีอะไรเป็นสรณะ คือ ผู้อาศัยจะนำภัยออกไปก็ไม่ได้ จะทำภัยให้พินาศไปก็ไม่ได้.
บทว่า อสรณีภูตํ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง คือ ไม่มีที่พึ่ง เพราะความไม่มีของตนแต่การเกิดในกาลก่อน อธิบายว่า ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งตลอดกาลที่เกิดนั่นเอง.
ศัพท์ว่า อ ในบทว่า อปุจฺฉสิ นี้ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ทำบทให้เต็ม แปลว่า ย่อมถามเท่านั้น.
บทว่า ปวกฺขามิ ยถา ปชานํ เราจะบอกตามที่เรารู้ คือ เรารู้อย่างใดก็จักบอกอย่างนั้น.
บทว่า อุปธินิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา ทุกข์ทั้งหลายมีอุปธิเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น คือทุกข์พิเศษ มีชาติทุกข์เป็นต้น มีอุปธิคือตัณหาเป็นต้นเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น.
บทว่า ตณฺหูปธิ ความว่า ตัณหานั้นแล ชื่อว่า ตัณหูปธิ.
สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐินั่นแล ชื่อว่า ทิฏฐูปธิ.
กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นแล ชื่อว่า กิเลสูปธิ.
กรรมมีบุญเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า กัมมูปธิ.
ทุจริต ๓ อย่างนั่นแล ชื่อว่า ทุจจริตูปธิ.
อาหารมีกพฬีการาหารเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า อาหารูปธิ.
โทสะและปฏิฆะนั่นแล ชื่อว่า ปฏิฆูปธิ.
ธาตุ ๔ มีปฐวีธาตุเป็นต้นที่กรรมถือเอา มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั่นแล ชื่อว่า อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔.
อายตนะภายใน ๖ มีจักขวายตนะเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า อายตนูปธิ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 151
หมวดวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖.
บทว่า สพฺพมฺปิ ทุกฺขํ ทุกฺขมนฏฺเน คือ ทุกข์แม้ทั้งหมด อันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่า อุปธิ เพราะอรรถว่า ยากที่จะทนได้.
เมื่อทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีอุปธิเป็นเหตุอย่างนี้ พึงทราบคาถามีอาทิว่า โย เว อวิทฺวา ผู้ใดแลมิใช่ผู้รู้ดังนี้ต่อไป.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ปชานํ รู้อยู่ คือ บุคคลผู้รู้อยู่ซึ่งสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
บทว่า ทุกฺขสฺส ชาติปฺปภวานุปสฺสี เป็นผู้พิจารณาเหตุแห่งทุกข์ คือ พิจารณาว่าอุปธิเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ในวัฏฏะ ในนิเทศแห่งคาถานี้ไม่มีคำที่จะพึงกล่าว.
บทว่า โสกปริทฺเทวญฺจ คือ ความโศกและความร่ำไร.
บทว่า ตถา หิ เต วิทิโต เอส ธมฺโม แท้จริงธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้วด้วยอำนาจแห่งการดำรงอยู่ของญาณ โดยอาการที่สัตว์ทั้งหลายรู้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตรนฺติ ย่อมข้าม คือ ย่อมข้ามทิฏโฐฆะด้วยปฐมมรรค.
บทว่า อุตฺตรนฺติ ย่อมข้ามขึ้น คือ ย่อมข้ามขึ้นด้วยการทำกาโมฆะให้เบาบางด้วยทุติยมรรค.
บทว่า ปตรนฺติ ย่อมข้ามพ้น คือ ข้ามกาโมฆะนั่นแลโดยพิเศษด้วยตติยมรรค ด้วยอำนาจแห่งการละไม่ให้เหลือ.
บทว่า สมติกฺกมนฺติ ย่อมก้าวล่วง คือ ก้าวล่วงโดยชอบด้วยจตุตถมรรคด้วยอำนาจแห่งการละภโวฆะและอวิชโชฆะ.
บทว่า วีติวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปล่วง คือ บรรลุผลตั้งอยู่.
บทว่า กิตฺติยิสฺสามิ เต ธมฺมํ เราจักบอกธรรมแก่ท่าน คือ เราจักแสดงนิพพานธรรม และธรรมอันเป็นปฏิปทาให้เข้าถึงนิพพานแก่ท่าน.
บทว่า ทิฏฺเ ธมฺเม ในธรรมมีทุกข์เป็นต้นที่เราเห็นแล้ว คือ ในอัตภาพ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 152
นี้.
บทว่า อนีติหํ คือ ประจักษ์แก่ตน.
บทว่า ยํ วิทิตฺวา รู้ชัดแล้ว คือ พิจารณารู้ชัดธรรมใด โดยนัยมีอาทิว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อาทิกลฺยาณํ งามในเบื้องต้น คือ เราแม้ละแล้วก็จักบอกธรรมอันเป็นความสุขเกิดแต่วิเวก หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้แก่ท่าน เมื่อเราบอกธรรมนั้นน้อยก็ตาม มากก็ตาม จักบอกประการมีธรรมงามในเบื้องต้นเป็นต้นแก่ท่าน. อธิบายว่า เราจักประกาศธรรมทำให้งามให้เจริญให้ไม่มีโทษในเบื้องต้น แม้ในท่ามกลาง แม้ในที่สุด เราก็จักประกาศธรรมทำให้เจริญ ทำให้ไม่มีโทษเหมือนกัน.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแม้คาถาหนึ่งใด คาถานั้นงามในเบื้องต้นด้วยบาทแรกของธรรม งามในท่ามกลางด้วยบาทที่สอง ที่สาม งามในที่สุดด้วยบาทที่สี่ เพราะเป็นคาถาที่เจริญครบถ้วน. พระสูตรที่มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน งามในเบื้องต้นด้วยนิทาน งามในที่สุดด้วยบทสรุป ง่ามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ. พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างๆ กัน งามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิที่หนึ่ง งามในที่สุดด้วยอนุสนธิสุดท้าย งามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะมีนิทานและมีเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะมีอรรถไม่วิปริต และเพราะประกอบด้วยการยกเหตุขึ้นมาอ้าง โดยอนุรูปแก่เวไนยสัตว์. ชื่อว่า งามในที่สุด เพราะทำให้ผู้ฟังทั้งหลายได้เกิดศรัทธา และเพราะบทสรุป.
จริงอยู่ ศาสนธรรมทั้งสิ้นงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์ของตน งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค และผล งามในที่สุดด้วยนิพพาน. หรืองามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ งามในท่ามกลาง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 153
ด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน. หรือชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะเป็นการตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่างามในที่สุด เพราะเป็นการปฏิบัติดีของสงฆ์.
ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะอภิสัมโพธิญาณ อันผู้ฟังธรรมนั้นปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้นแล้วพึงบรรลุ ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะปัจเจกโพธิญาณ (รู้เฉพาะตัว) ชื่อว่างามในที่สุด เพราะสาวกโพธิญาณ. ธรรมอันผู้ฟังนั้นย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการฟัง เพราะข่มนิวรณ์เสียได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า งามในเบื้องต้น. ธรรมอันผู้ปฏิบัติอยู่ ย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการปฏิบัติ เพราะนำความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนามาให้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า งามในท่ามกลาง. เมื่อผลแห่งการปฏิบัติสำเร็จลงแล้ว ย่อมนำความงามมาให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างนั้นๆ แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า งามในที่สุด.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรมใด ย่อมประกาศศาสนพรหมจรรย์ และมรรคพรหมจรรย์ ย่อมทรงแสดงโดยนัยต่างๆ. ย่อมทรงแสดงธรรมตามสมควร คือพร้อมทั้งอรรถ เพราะสมบูรณ์ด้วยอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะสมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ พร้อมทั้งอรรถ เพราะประกอบพร้อมด้วยการชี้แจง การประกาศ เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย บัญญัติและบทแห่งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะสมบูรณ์ด้วยบทอักษร บทพยัญชนะ ภาษา และนิเทศ พร้อมทั้งอรรถ เพราะลึกซึ้งด้วยอรรถ ลึกซึ้งด้วยปฏิเวธ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะลึกซึ้ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 154
ด้วยธรรม ลึกซึ้งด้วยเทศนา พร้อมทั้งอรรถ เพราะเป็นวิสัยแห่งอรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นวิสัยแห่งธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา พร้อมทั้งอรรถ เพราะเป็นที่เลื่อมใสแก่ชนผู้ตรวจสอบ โดยความเป็นผู้ฉลาด พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นที่เลื่อมใสแก่โลกิยชน โดยความเป็นผู้เชื่อถือ พร้อมทั้งอรรถ โดยอธิบายได้ลึกซึ้ง พร้อมทั้งพยัญชนะ โดยบทที่ยาก บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะไม่มีข้อที่ควรนำเข้าไปได้อีกโดยบริบูรณ์ทุกอย่าง. บริสุทธิ์ เพราะไม่มีข้อที่ควรตัดออกไปโดยความไม่มีโทษ.
อีกอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งอรรถ เพราะเฉียบแหลมในความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเฉียบแหลมในการศึกษาคัมภีร์แห่งปริยัติ บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีลขันธ์เป็นต้น บริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส เพราะเป็นไปเพื่อต้องการข้ามไป และเพราะไม่เพ่งต่อโลกามิส ชื่อว่าเป็นพรหมจรรย์ เพราะอันผู้ประเสริฐเป็นดุจพรหมควรประพฤติ และเพราะเป็นธรรมที่ควรประพฤติ เพราะกำหนดด้วยไตรสิกขา.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงปริยัติธรรมอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อทรงแสดงถึงโลกุตรธรรม จึงตรัสว่า จตฺตาโร สติปฏฺานา ดังนี้เป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการแล้ว เพื่อทรงแสดงโลกุตรธรรมอันเกิดขึ้นแล้ว จึงตรัสว่า นิพฺพานญฺจ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า นิพฺพานคามินิญฺจ ปฏิปทํ ปฏิปทาอันให้ถึงนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักบอกธรรม คือ ศีลสมาธิและวิปัสสนาอันเป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 155
ส่วนเบื้องต้น.
บทว่า ทุกฺเข ทิฏฺเ ทุกข์ในทุกข์ที่เราเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักบอกทุกขสัจในทุกขสัจที่เราเห็นแล้ว พร้อมด้วยรสและลักษณะ.
แม้ในสมุทัยเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า ตญฺจาหํ อภินนฺทามิ ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น เมตตคูทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาพระดำรัสของพระองค์ เพื่อรู้ธรรมที่พระองค์ตรัสนั้น.
บทว่า ธมฺมมุตฺตมํ ธรรมอันอุดม คือ ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันอุดมนั้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า มหโต ตโมกายสฺส ปทาลนํ ทำลายกองมืดใหญ่ คือ ตัดอวิชชาใหญ่. แสวงหาด้วยอนิจจลักษณะ เสาะหาด้วยทุกขลักษณะ สืบหาด้วยอนัตลักษณะโดยรอบ.
บทว่า มหโต วิปลฺลาสสฺส ปเภทนํ คือ ทำลายวิปลาสใหญ่ ๑๒ อย่าง โดยมีอาทิว่า อสุเภ สุภํ เห็นในสิ่งไม่งามว่างามดังนี้.
บทว่า มหโต ตณฺหาสลฺลสฺส อพฺพูหนํ ถอนลูกศร คือ ตัณหาใหญ่ คือถอนหนามคือตัณหาใหญ่เพราะเจาะแทงในภายใน.
บทว่า ทิฏฺิสงฺฆาฏสฺส วินิเวธนํ ตัดความสืบต่อทิฏฐิใหญ่ คือ ความสืบต่อ เพราะอรรถว่า ติดต่อกันไปโดยไม่ขาดสายแห่งทิฏฐิ การกลับความสืบต่อทิฏฐินั้น.
บทว่า มานทฺธชสฺส ปาตนํ ให้มานะเป็นธงตกไป คือ ให้มานะเป็นเช่นธงมีลักษณะเย่อหยิ่ง เพราะอรรถว่า ยกขึ้นตกไป.
บทว่า อภิสงฺขารสฺส วูปสมํ ระงับอภิสังขาร คือ ระงับอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
บทว่า โอฆสฺส นิตฺถรณํ สละโอฆะใหญ่ คือ ถอนซัดไปซึ่งโอฆะมีกาโมฆะเป็นต้น อันให้สัตว์จมในวัฏฏะ.
บทว่า ภารสฺส นิกฺเขปนํ ปลงภาระใหญ่ คือ ซัดทิ้งภาระคือเบญจขันธ์มีรูปเป็นต้น.
บทว่า สํสารวฏฺฏสฺส อุปจฺเฉทํ ตัดสังสารวัฏฏ์ใหญ่ คือ ตัด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 156
สังสารวัฏฏ์อันเป็นไปแล้วด้วยการท่องเที่ยวไปตามลำดับ มีขันธ์เป็นต้น.
บทว่า สนฺตาปสฺส นิพฺพาปนํ ให้ความเร่าร้อนดับไป คือ ดับความเร่าร้อนคือกิเลส.
บทว่า ปริฬาหสฺส ปฏิปสฺสทฺธิํ สงบระงับความเดือดร้อน คือ สงบระงับความเร่าร้อนคือกิเลส.
บทว่า ธมฺมทฺธชสฺส อุสฺสาปนํ ยกขึ้นซึ่งธรรมเป็นดุจธง คือยกโลกุตรธรรม ๙ ประการตั้งไว้.
บทว่า ปรมตฺถํ อมตํ นิพฺพานํ ซึ่งอมตนิพพานเป็นปรมัตถ์ คือ ชื่อว่า ปรมัตถะ เพราะอรรถว่า สูงสุด. ชื่อว่า อมตะ เพราะไม่มีความตาย. ชื่อว่า อมตะ เพราะเป็นยาห้ามพิษคือกิเลสบ้าง. ชื่อว่า นิพพาน เพราะดับความครอบงำในสังสารทุกข์. ชื่อว่า นิพพาน เพราะไม่มีเครื่องร้อยรัดคือตัณหาในนิพพานนี้บ้าง.
บทว่า มเหสกฺเขหิ สตฺเตหิ สัตว์ทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ คือ ท้าวสักกะเป็นต้นผู้มีอานุภาพใหญ่ยิ่ง.
บทว่า ปริเยสิโต คือ แสวงหาแล้ว.
บทว่า กหํ เทวเทโว คือ เทวดาผู้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลายอยู่ที่ไหน.
บทว่า นราสโภ คือ บุรุษผู้สูงสุด.
บทว่า อุทฺธํ ชั้นสูง ในบทนี้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ ชั้นสูง ชั้นต่ำ ชั้นกลางส่วนกว้าง ท่านกล่าวถึงทางยาวนานในอนาคต.
บทว่า อโธ คือ ทางยาวนานในอดีต.
บทว่า ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ คือ ทางยาวนานในปัจจุบัน.
บทว่า เอเตสุ นนฺทิญฺจ นิเวสนญฺจ ปนุชฺช วิญฺาณํ ท่านจงบรรเทาความยินดี ความพัวพันและวิญญาณในธรรมเหล่านี้ คือ ท่านจงบรรเทาตัณหาความพัวพัน ความถือทิฏฐิ และอภิสังขาร วิญญาณ ในธรรมชั้นสูงเป็นต้นเหล่านี้ ครั้นบรรเทาได้แล้วไม่ตั้งอยู่ในภพ คือว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ ไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้สองอย่าง.
ศัพท์ว่า ปนุชฺช พึงเชื่อมในอรรถวิกัปนี้ว่า ปนุเทหิ.
บทว่า ปนุทิตฺวา ในอรรถวิกัปนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 157
พึงเชื่อมความว่า ภเว น ติฏฺเ ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ. เอาความว่า ครั้นบรรเทาความยินดี ความพัวพัน และวิญญาณเหล่านี้ได้แล้ว ไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้สองอย่าง.
ในบทเหล่านั้นบทว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมเป็นกุศล คือ ธรรมเป็นกุศลตรัสว่าชั้นสูง เพราะละอบายแล้วให้ปฏิสนธิในเบื้องบน. ธรรมเป็นอกุศลตรัสว่าชั้นต่ำ เพราะให้ปฏิสนธิในอบายทั้งหลาย. อัพยากตธรรมตรัสว่าชั้นกลางส่วนกว้าง. เทวโลกพร้อมด้วยโอกาสโลกตรัสว่าชั้นสูง. อบายโลกตรัสว่าชั้นต่ำ. มนุษยโลกตรัสว่าชั้นกลาง. สุขเวทนาตรัสว่าชั้นสูง ด้วยให้เกิดอาพาธทางกายและจิต. ทุกขเวทนาตรัสว่าชั้นต่ำ ด้วยให้ถึงทุกข์. อทุกขมสุขเวทนาตรัสว่าชั้นกลาง ด้วยอำนาจแห่งความไม่ทุกข์ไม่สุข. อรูปธาตุตรัสว่าชั้นสูง ด้วยอยู่เบื้องบนธรรมทั้งปวง. กามธาตุตรัสว่าชั้นต่ำ ด้วยอยู่ชั้นต่ำกว่าธรรมทั้งปวง. รูปธาตุตรัสว่าชั้นกลาง ด้วยอยู่ระหว่างธรรมทั้งสองนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงการกำหนด ด้วยอำนาจแห่งอัตภาพ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อุทฺธนฺติ อุทฺธํ ปาทตลา ตั้งแต่พื้นเท้าถึงส่วนเบื้องบนตรัสว่าชั้นสูง.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทธํ ปาทตลา คือ ส่วนเบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป.
บทว่า อโธ เกสมตฺถกา ส่วนเบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา.
บทว่า มชฺเฌ ชั้นกลาง คือ ระหว่างทั้งสอง.
บทว่า ปุญฺาภิสงฺขารสหคตํ วิญฺาณํ วิญญาณสหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร คือ กรรมวิญญาณ อันสัมปยุตด้วยปุญญาภิสังขาร ๑๓ ประเภท.
บทว่า อปุญฺาภิสงฺขารสหคตํ วิญฺาณํ วิญญาณสหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร คือ กรรมวิญญาณที่สัมปยุตด้วยอปุญญาภิสังขาร ๑๒ ประเภท.
บทว่า อเนญฺชาภิสงฺขารสหคตํ วิญฺาณํ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 158
วิญญาณสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร คือ กรรมวิญญาณอันสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร ๔ ประเภท.
บทว่า นุชฺช จงบรรเทา คือ จงซัดไป.
บทว่า ปนุชฺช คือ จงสลัดไป.
บทว่า นุท คือ จงดึงออก.
บทว่า ปนุท คือ จงถอนทิ้ง.
บทว่า ปชห คือ จงละ.
บทว่า วิโนเทหิ คือ จงทำให้ไกล.
บทว่า กมฺมภวญฺจ กรรมภพ คือ เจตนามีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
บทว่า ปฏิสนฺธิกญฺจ ปุนพฺภวํ ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ คือ ภพใหม่มีรูปภพเป็นต้นแห่งปฏิสนธิ. ละด้วยปฐมมรรค. บรรเทาด้วยทุติยมรรค. ทำให้สิ้นไปด้วยตติยมรรค. ให้ถึงความไม่มีด้วยจตุตถมรรค.
บทว่า กมฺมภเว น ติฏฺเยฺย ไม่พึงตั้งอยู่ในกรรมภพ คือ ไม่พึงตั้งอยู่ในอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
ภิกษุนั้น ครั้นบรรเทาความยินดี ความพัวพัน และวิญญาณเหล่านั้นได้แล้ว. ไม่ตั้งอยู่ในภพ.
พึงทราบคาถามีอาทิว่า เอวํ วิหารี ภิกษุมีปกติประพฤติอยู่อย่างนี้ ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้ หรือในอัตภาพนี้แล.
นิเทศแห่งคาถานี้มีความง่ายทั้งนั้น.
บทว่า นูปธิกํ เป็นธรรมไม่มีอุปธิ.
ในบทนี้ว่า สุกิตฺติตํ โคตม นูปธิกํ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมไม่มีอุปธิคือ นิพพาน.
เมตตคูมาณพ เมื่อจะทูลสนทนากะพระผู้มีพระภาคเจ้า หมายถึงนิพพานนั้น จึงทูลว่า สุกิตฺติตํ โคตม นูปธิกํ ดังนี้เป็นต้น.
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า กิเลสา จ คือ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น เพราะอรรถว่า ทำให้เดือดร้อน เบญจ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 159
ขันธ์อันเป็นวิบาก เพราะอรรถว่า เป็นกอง และเจตนาคืออภิสังขารมีกุศลเป็นต้น ท่านเรียกว่าอุปธิ. ละอุปธิด้วยตทังคปหาน. สงบอุปธิด้วยวิกขัมภนปหาน. สละอุปธิด้วยสมุจเฉทปหาน. สงบอุปธิด้วยผล.
มิใช่ละทุกข์ได้อย่างเดียวเท่านั้น พึงทราบคาถาต่อไปว่า เต จาปิ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺิตํ คือ โดยความเคารพหรือโดยเอื้อเฟื้อ.
บทว่า ตนฺตํ นมสฺสามิ คือ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักขอนมัสการพระองค์.
บทว่า สเมจฺจ คือ เข้าไปใกล้.
เมตตคูมาณพทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระนาคะ ผู้ประเสริฐ.
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
บทว่า สเมจฺจ คือ รู้ หรือเป็นอยู่ร่วมกัน.
บทว่า อภิสเมจฺจ คือ รู้แจ้งแทงตลอด.
บทว่า สมาคนฺตวา คือ อยู่พร้อมหน้ากัน.
บทว่า อภิสมาคนฺตฺวา คือ เข้าไปใกล้.
บทว่า สมฺมุขา คือ ต่อหน้า.
บทว่า อาคุํ น กโรติ คือ ไม่กระทำบาป.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พราหมณ์นั้นรู้อย่างนี้ว่า ความจริงพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แน่นอน ก็ยังไม่น้อมตนเข้าไป เมื่อจะตรัสสอนพราหมณ์ ด้วยบุคคลผู้ละทุกข์ได้แล้ว จึงตรัสคาถาว่า ยํ พฺราหฺมณํ ดังนี้เป็นอาทิ.
บทนั้นมีความดังนี้ บุคคลพึงรู้จักผู้ใดว่า ผู้นี้เป็นพราหมณ์ เพราะลอยบาปได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ถึงเวท เพราะไปด้วยเวททั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล เพราะล่วงกิเลสเครื่องกังวลได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ข้องในกามภพ เพราะไม่ติดอยู่ในกามและในภพดังนี้ ผู้นั้นได้ข้ามโอฆะนี้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีความสงสัยโดยแท้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 160
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไปดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ราคกิญฺจนํ เครื่องกังวล คือ ราคะ ได้แก่เครื่องห่วงใยคือราคะ.
แม้ในบทว่า โทสกิญฺจนํ เป็นอาทิ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
ข้ามกาโมฆะได้ด้วยอนาคามิมรรค. ข้ามทิฏโฐฆะได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. ข้ามอวิชโชฆะได้ด้วยอรหัตตมรรค. ข้ามคลองแห่งสงสารทั้งหมดได้ด้วยการตัดกุศลกรรมและอกุศลกรรม. ข้ามขึ้นไปได้ด้วยปฐมมรรค. ข้ามออกไปได้ด้วยทุติยมรรค. ก้าวล่วงไปด้วยตติยมรรค. ก้าวพ้นไปได้ด้วยจตุตถมรรค. ล่วงเลยไปแล้วด้วยผล.
มีอะไรอีก.
มีซิ.
พึงทราบคาถามีอาทิว่า วิทฺวา จ โย ผู้ใดมีความรู้ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้หรือในอัตภาพนี้.
บทว่า วิสชฺช คือ สละแล้ว.
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไป.
บทว่า สชฺชํ คือ ปล่อย.
บทว่า วิสชฺชํ คือ สละ.
บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดแห่งพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
เมื่อจบเทศนา ได้มีผู้ตรัสรู้ธรรมเช่นกับที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
จบอรรถกถาเมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔