หน้าที่ของอุบาสิกา และ อุบาสก ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม
โดย สารธรรม  7 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43741

ในครั้งก่อนได้กล่าวถึงชีวิตของพุทธบริษัท และในครั้งที่แล้วก็ตอบปัญหาของท่านผู้ฟังที่ต้องการจะบวชเป็นอุบาสิกา และได้กล่าวถึงชีวิตของอุบาสิกาซึ่งมีหลายประเภท เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทนั้นก็ทราบแล้วว่า ถ้าเป็นกุลบุตรที่ได้ฟังพระธรรม เห็นว่าชีวิตของฆราวาสนั้นคับแคบ จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ติดตามพระผู้มีพระภาค นั่นก็เป็นชีวิตของกุลบุตรผู้เห็นว่า ชีวิตของการเพียงเป็นอุบาสกนั้นไม่สามารถที่จะเจริญกุศลได้เต็มที่ และสำหรับในครั้งพุทธกาลมีสตรีที่เห็นว่า ชีวิตของฆราวาสนั้นคับแคบ ก็ใคร่ที่จะสละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นภิกษุณี เพราะเหตุว่าชีวิตนั้นก็มีหลากหลาย ถ้าผู้ใดได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา แต่ไม่ได้สะสมอบรมมา ที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นก็อาจจะปฏิบัติธรรม และสามารถที่จะได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีในเพศของฆราวาสได้ แต่ถ้าผู้นั้นได้อบรมจนบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์เหมือนในครั้งพุทธกาลแล้ว ผู้นั้นจะไม่ครองบ้านเรือน แต่ออกบวชเป็นภิกษุณี

แต่ในกาลต่อมา ไม่ใช่กาลสมัยที่บุคคลใดจะได้บรรลุพระอรหันต์ได้มากมายเหมือนอย่างในครั้งพุทธกาลที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ย่อมลดน้อยลง นี่ก็เป็นเหตุที่ในกาลภายหลังสตรีที่ต้องการละอาคารบ้านเรือนบวชเป็นพระภิกษุณีนั้นก็เสื่อมสิ้นไป เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุณี ก็สามารถจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีได้

เพราะฉะนั้น ก็คงจะได้ทราบว่า จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ เพราะเหตุว่าในกาลครั้งนั้นมีผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมี มีคุณธรรมพร้อมจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่า ในกาลต่อๆ มานั้นก็ยากที่ผู้ใดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อุบาสิกาก็ย่อมมีทั้งที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมด้วยความสนใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามมากเท่าที่จะทำได้ด้วยการรักษาศีล ๕ บ้าง รักษาศีล ๘ บ้าง

นี่เป็นสิ่งที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่จะสละอาคารบ้านเรือนมาเป็นเพศภิกษุณีดังเช่นฝ่ายกุลบุตรนั้น ในสมัยนี้ไม่ใช่กาล เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมของพระผู้มีพระภาคจริงๆ นั้น ก็ควรศึกษาธรรมให้เข้าใจละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้น้อมนำธรรมที่ได้ศึกษาและได้เข้าใจแล้วนั้น มาเป็นประโยชน์แก่ตน เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ศึกษา แต่ว่าให้ประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะกระทำตามได้ แล้วการประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นก็เป็นการขัดเกลากิเลสตนเอง ไม่ว่าขั้นศีล หรือขั้นสมาธิ ขั้นปัญญาก็ตาม ผู้นั้นย่อมทำให้จิตใจของตน เบาบางจากอกุศล แล้วก็เพิ่มพูนกุศลยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบชัดเจนและรู้จักตัวเองดีด้วย ไม่ฝืนหรือไม่เพียงศรัทธา เมื่อเห็นเพศหนึ่งเพศใดมีความสงบ และมิได้พิจารณาจิตใจของตนเองว่ามีความมั่นคงที่จะสละอาคารบ้านเรือนไปบำเพ็ญชีวิตอย่างนั้นได้ ก็อาจจะทำให้เดือดร้อนใจได้ เพราะเหตุว่าเรื่องระเบียบ กฎ วินัย ข้อบังคับต่างๆ นั้น ถ้าบางท่านไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้แล้ว ก็ย่อมทำให้จิตเดือดร้อนมากกว่าที่จะทำให้จิตสงบ

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า จะต้องทราบหน้าที่ของอุบาสิกาและ อุบาสกว่า ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตามยิ่งขึ้น บางท่านก็วิตกว่า ถ้าเป็นอุบาสิกาแล้วคงต้องศึกษาธรรมมากมาย แล้วแต่อัธยาศัยอีกเหมือนกันว่า ท่านจะสนใจศึกษาได้มากเท่าไร ประพฤติปฏิบัติตามได้มากเท่าไร เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่เป็นพุทธศาสนิกชนควรเข้าใจพระธรรมของพระผู้มีพระภาคมากขึ้น แล้วประพฤติปฏิบัติตามมากขึ้นด้วย

สำหรับกิจของอุบาสิกาที่สนใจและศรัทธาในการศึกษาพระธรรม หรือรักษาศีล ๘ เป็นนิจนั้น ก็ย่อมมีโอกาสรักษาพระธรรมได้มากทีเดียว และจะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ได้ทรงเห็นความสำคัญของพุทธบริษัททั้ง ๔ โดยไม่เว้น และไม่ได้ทรงมอบหมายพระธรรมไว้ กับพุทธบริษัทส่วนหนึ่งส่วนใดโดยเฉพาะ

สิ่งที่น่าคิดอีกประการหนึ่งสำหรับในสมัยนี้ก็คือ พุทธบริษัทซึ่งรวมทั้งอุบาสิกาด้วยนั้นสนใจศึกษาธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะโดยมากท่านจะศึกษาเพียงง่ายๆ บ้าง โดยรวดเร็วบ้าง หรือว่าผิวเผินบ้าง แต่ส่วนละเอียดและลึกซึ้งของธรรมนั้น ก็ควรช่วยกันศึกษา ตรวจสอบ ค้นคว้าให้มากขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านก็กล่าวว่า เข้าใจธรรมหมดแล้ว บางท่านก็กล่าวว่า ธรรมสูงเหลือเกิน ยากที่จะเข้าใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถ้าในสมัยนี้พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน สมมติว่าประทับอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในเขตนี้ ไม่ทราบว่าจะมีพุทธบริษัทไปฟังธรรมไหม หรือจะเห็นว่าธรรมยากเหลือเกิน ฟังก็คงไม่เข้าใจเหมือนกับเวลาที่อ่านพระไตรปิฎก และมีข้อความในพระไตรปิฎกส่วนมากที่ต้องศึกษาโดยละเอียด

เพราะฉะนั้น ลองสำรวจดูจิตใจของท่านเอง ท่านที่เห็นว่า ธรรมยากเกินไปก็ดี หรือท่านคิดว่า รู้ธรรมแล้วนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในเขตนี้ ท่านจะไปเฝ้าฟังธรรมไหม ถ้าไปเฝ้าฟังธรรม ไม่มีอะไรที่ผิดกับพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบัญญัติที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกได้ทรงแสดงแล้ว เนื้อความไม่ผิดกัน ถ้าจะไปเฝ้าฟังธรรมในบัดนี้ก็จะได้ฟังเหมือนอย่างบุคคลในครั้งอดีตได้ฟัง ส่วนความยากและลึกซึ้งของธรรมนั้นก็เป็นเรื่องที่ว่า บุคคลในครั้งโน้นฟังและเข้าใจ ถ้าบุคคลในครั้งนี้เปิดพระไตรปิฎกอ่าน และยังมีข้อความที่สงสัย ยังไม่เข้าใจชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่บุคคลในครั้งนี้จะต้องพากเพียรศึกษา พยายามเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเท่าที่จะกระทำได้ แล้วก็ต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่ายด้วย

สำหรับอุบาสิกาก็ไม่ควรจะท้อใจ คือถ้าสนใจ ก็ศึกษาเท่าที่จะกระทำได้ ข้อสำคัญก็คือว่า อย่าท้อใจ อย่าคิดว่า ยากนัก เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ถึงพระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดในสมัยนี้ ท่านก็ไม่ไปฟังพระธรรมของพระองค์ เพราะมีความเห็นว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นสูงนัก ยากนัก

เรื่องหน้าที่ของอุบาสิกา ไม่ใช่ไม่มีหน้าที่ เป็นพุทธบริษัทแล้วต้องมีหน้าที่ทั้งนั้น แต่ไม่ต้องกลัวว่า จะต้องเสียสละเวลามากๆ หรืออะไรอย่างนั้น ทำตามความสามารถเท่าที่จะทำได้ ข้อสำคัญคือ อย่าประมาทว่า ธรรมนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ว่าธรรมนั้นเป็นเรื่องลึก เป็นเรื่องละเอียด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 40