สังโยชน์ ๑๐ ได้แก่ สภาพธรรมที่ร้อย เย็บภพนี้กับภพต่อไป
โดย สารธรรม  30 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44410

อกุศลยังไม่หมด ยังมีที่เป็นสังโยชน์ ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงย่อๆ

สังโยชน์ ได้แก่ สภาพธรรมที่ร้อย เย็บภพนี้กับภพต่อไป ถ้าสังโยชน์ยังไม่หมด ก็ทำให้มีภพต่อไป

ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงสังโยชน์ ๑๐ ประการ ได้แก่

กามราคสังโยชน์ ๑ ปฏิฆสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ ทิฏฐิสังโยชน์ ๑ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ๑ ภวราคสังโยชน์ ๑ อิสสาสังโยชน์ ๑ มัจฉริยสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑

อิสสา ความริษยาในสมบัติของผู้อื่น ใครรู้ว่า ใครมี ใครไม่มี หรือใครมีมาก ใครมีน้อย สติระลึกรู้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน แม้ว่าอิสสายังไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้ลาภ จะได้สักการะ จะได้สรรเสริญอย่างไร ท่านก็รู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอิสสาหรือริษยาบุคคลใดเลย

สำหรับมัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่อาวาสที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ คือ การสรรเสริญ ตระหนี่ธรรม

ในเรื่องของสังโยชน์ได้แสดงไว้ต่างกันอีกนัยหนึ่ง คือ จัดเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ที่ผูกไว้ในภพเบื้องต่ำ ๕ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้แก่สังโยชน์ที่ผูกไว้ในภพเบื้องสูง ๕

สำหรับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ มี สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาปาทะ ๑

สำหรับอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ มี รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

ผู้ที่จะละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ที่ผูกไว้ ร้อยไว้กับภพเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันนั้น ละได้เพียงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาปาทะ ซึ่งแล้วแต่คุณธรรมของแต่ละท่านด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 136