เพราะเมตตา จึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
ท. ลักษณะของโลภะเป็นความรักผูกพัน ความผูกพันในญาติมิตรก็เป็นโลภะ ถ้าบอกว่าคนที่มีความรักใคร่ผูกพันในญาติมิตร เป็นคนไม่ดี ก็รู้สึกว่าจะขัดๆ กับทางโลก
ส. ถ้าจะเจริญเมตตาก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะไม่ใช่เพียงแต่ท่องแต่ต้องรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ เมื่อเมตตาใครก็ไม่โกรธคนนั้น แต่ถ้ารักใคร่ผูกพันก็เป็นโลภะ ไม่ใช่เมตตา เมื่อเป็นโลภะก็เป็นปัจจัยให้โกรธได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดจะดีกว่ากัน เมตตาหรือโลภะ แม้แต่ในครอบครัวหรือในระหว่างพวกพ้อง วงศาคณาญาติ ลักษณะของเมตตาก็เป็นสภาพที่หวังดี ไม่ผูกพันอย่างโลภะ จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะคือความไม่พอใจในบุคคลนั้นๆ ฉะนั้น ยิ่งมีเมตตาแทนโลภะมากเท่าไร บุคคลอื่นย่อมได้รับผลจากเมตตามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลดีทั้งสองฝ่าย คือทั้งผู้ที่มีเมตตาและทั้งผู้ที่ได้รับความเมตตาด้วย ถ้ามีแต่โลภะ วันหนึ่งก็จะทำให้โกรธและโทมนัสขัดเคืองได้ แต่เมื่อเมตตาเจริญขึ้น ความโกรธก็จะน้อยลงความหวังดีจริงๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
ท. อาจารย์กล่าวว่า การเจริญเมตตาจะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญเมตตาก็จะต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติสัปชัญญะ ก็เจริญเมตตาไม่ได้ อย่างนั้นใช่ไหม
ส. การอบรมเจริญภาวนาทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แต่เป็นปัญญาต่างขั้น
ท. บุคคลบางคนเมตตาเกิดขึ้นได้สงสารบุคคลที่กำลังตกทุกข์ ในขณะนั้นมีสติแต่ไม่มีปัญญาที่รู้ลักษณะของสติ ขณะนั้นจะชื่อว่าเมตตาไหม
ส. ขณะที่เมตตาเกิดขึ้นนั้น จิตเป็นกุศล จึงประกอบด้วยสติซึ่งเป็นโสภณธรรม แม้ว่าผู้นั้นจะไม่มีสติสัมปชัญญะขั้นที่จะเจริญความสงบยิ่งขึ้น แต่เมตตาก็มีปัจจัยที่จะเกิดพร้อมกับสติขณะนั้น ทาน การให้เกิดขึ้นได้ฉันใด ศีล การละเว้นทุจริตเกิดขึ้นได้ตามอุปนิสัยที่สะสมมาฉันใด เมตตาจิตก็เกิดขึ้นได้ตามอุปนิสัยที่สะสมมาฉันนั้น แต่การที่จะอบรมเจริญเมตตาให้สงบมั่นคงยิ่งขึ้นถึงสมาธิขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นสมถภาวนานั้น จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถรู้สภาพของเมตตาซึ่งต่างกับสภาพของโลภะ
..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ