ส่วนการที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น มีหนทางที่จะทราบได้ไหม
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชฏิลสูตร ที่ ๑ เป็นสูตรที่ยาว แต่จะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้เทียบเคียงธรรมกับความเข้าใจของท่านไม่ให้คลาดเคลื่อน เพราะโดยมากท่านผู้ฟังตื่นเต้นในบุคคล ถ้าผู้ใดอยู่ในป่า ท่านก็เข้าใจว่า ท่านผู้นั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านเห็นผู้ใดแสดงธรรมแล้วซาบซึ้ง โดยที่ท่านยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ ท่านก็ตื่นเต้นว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์
เคยมีท่านผู้ฟังที่เล่าให้ฟังว่า เวลาที่ไปฟังธรรมจะมีผู้ที่ไปด้วยถามว่า มีความเห็นอย่างไรในท่านผู้บรรยายธรรมท่านนั้น ท่านบรรลุคุณธรรมขั้นไหนแล้ว คือ คอยแต่จะวัด คอยแต่จะเปรียบ คอยที่จะแสวงหาพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง โดยลืมเทียบเคียงเหตุผลของธรรมวินัย เพียงแต่เป็นผู้ที่อาจจะอยู่ป่าเท่านั้น ท่านก็เข้าใจเอาเองว่า ท่านผู้นั้นอาจจะเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว แต่ข้อความในชฏิลสูตรจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเทียบเคียงธรรมวินัยด้วย
ข้อความใน ชฏิลสูตร ที่ ๑ มีว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของ วิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงพักผ่อนแล้วประทับนั่งที่ภายนอกซุ้มประตู ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่างๆ เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ทันใดนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกระทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจรดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้ง ว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล
ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นเดินผ่านไปได้ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์ หรือท่านผู้บรรลุพระอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุณจันทน์อันมาแต่แคว้นกาสี ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตตมรรค
ใครเป็นพระอรหันต์ รู้ยากหรือง่าย ถ้าเป็นพระภิกษุผู้ทรงพระวินัยครบถ้วนแล้ว จะไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้รู้ได้ว่า พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะเสมอเหมือนกันหมด โดยความเป็นเพศบรรพชิตผู้ทรงพระวินัย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ดูกร มหาบพิตร ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน ก็ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ศีลนั้นเป็นข้อต้น แล้วแต่ท่านผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รักษาศีลขั้นใด และผิดศีลขั้นใดบ้าง ต้องอาศัยกาลเวลานาน และเป็นผู้ที่สนใจจึงจะรู้ ผู้มีปัญญารู้ว่า อย่างใดเป็นศีล อย่างใดทุศีล ก็จะทราบได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีศีล หรือเป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่ว่าเห็นครู่เดียวก็จะรู้ว่า ผู้นั้นมีศีล หรือว่าไม่มีศีล
สำหรับความสะอาดก็ละเอียดขึ้น เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่จะรู้กันได้ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อย แต่จะพึงรู้ได้ด้วยกาลนานว่า ผู้ใดมีกายสะอาด มีวาจาสะอาด บางทีก็ไม่ใช่การผิดศีล แต่เป็นความสะอาดทางวาจา ความสะอาดของการกระทำทางกายที่จะไม่เบียดเบียน และไม่เป็นโทษกับบุคคลอื่น แต่ทั้งหมดนี้จะละคลายให้หมดไปได้ก็ด้วยการเจริญสติ
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร มหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ที่ว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย อันตรายก็มีหลายอย่าง อันตรายเพราะโรคเกิดขึ้น อันตรายเพราะญาติ ทรัพย์สมบัติวิบัติเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่หวั่นไหวน้อย ถ้าผู้ใดที่หวั่นไหวมาก ผู้นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
บางท่านฟังธรรมติดต่อกัน แล้วพิจารณาใคร่ครวญในเหตุผล ท่านย่อมจะทราบได้ว่า คำใดถูกต้องตามความเป็นจริง หรือว่าคำใดคลาดเคลื่อน แต่ปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะทราบได้ถ้าไม่สนทนากัน ไม่ใช่เรื่องเหาะเหินเดินอากาศ แต่เป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรม และความรู้ก็มีหลายขั้นด้วย เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าผู้ใดมีปัญญาหรือว่าผู้ใดไม่มีปัญญา ก็จะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องไม่เคยมีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ยากที่จะรู้เรื่องนี้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ดังนี้ เป็นอันตรัสดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้นเป็นคนของหม่อมฉัน เป็นจารบุรุษ เป็นคนสืบข่าวลับ เที่ยวสอดแนมไปยังชนบท แล้วพากันมา ในภายหลังข้าพระองค์จึงจะรู้เรื่องราวที่คนเหล่านั้นสืบได้ก่อน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้คนเหล่านั้นชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว อาบดี ประเทืองผิวดี โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณ บำเรอข้าพระองค์อยู่
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนี้แล้ว จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา เหล่านี้ ในเวลานั้นว่า
คนผู้เกิดมาดีไม่ควรไว้วางใจเพราะผิวพรรณและรูปร่าง ไม่ควรไว้ใจเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปยังโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกะโลหะหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในโลก
นี่เป็นพระสูตรที่เตือนให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ไม่ใช่ตัดสินผิวเผินตามที่ท่านเห็น หรือตามที่ท่านคิด ตามที่ท่านเข้าใจ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 173
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 174