[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 14
[๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ
อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น. มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสนกามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นมีความต่างกันเพียงบทว่า มิจฺฉา เท่านั้น คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในอธิการแห่งกุศลนั้นแหละ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น