๙. เรื่องพระสันตกายเถระ [๒๖๐]
โดย บ้านธัมมะ  26 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35067

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 386

๙. เรื่องพระสันตกายเถระ [๒๖๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 386

๙. เรื่องพระสันตกายเถระ [๒๖๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสันตกายเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สนฺตกาโย" เป็นต้น.

พระเถระเคยเกิดเป็นราชสีห์

ดังได้สดับมา ชื่อว่าการคะนองมือและเท้าของพระเถระนั้น มิได้มีแล้ว. ท่านได้เป็นผู้เว้นจากการบิดกาย เป็นผู้มีอัตภาพสงบ.

ได้ยินว่า พระเถระนั้นมาจากกำเนิดแห่งราชสีห์. นัยว่า ราชสีห์ทั้งหลาย ถือเอาอาหารในวันหนึ่งแล้ว เข้าไปสู่ถ้ำเงิน ถ้ำทอง ถ้ำแก้ว มณี และถ้ำแก้วประพาฬ ถ้ำใดถ้ำหนึ่ง นอนที่จุรณ แห่งมโนศิลา และหรดาลตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ลุกขึ้นแล้ว ตรวจดูที่แห่งตนนอนแล้ว, ถ้าเห็นว่าจุรณแห่งมโนศิลาและหรดาลกระจัดกระจายแล้ว เพราะความที่ หาง หู หรือเท้าอันตัวกระดิกแล้ว จึงคิดว่า "การทำเช่นนี้ ไม่สมควรแก่ชาติหรือโคตรของเจ้า" แล้วก็นอนอดอาหารไปอีกตลอด ๗ วัน แต่เมื่อไม่มีความที่จุรณทั้งหลายยกระจัดกระจายไป จึงคิดว่า "การทำเช่นนี้ สมควรแก่ชาติและโคตรของเจ้า" ดังนี้แล้ว ก็ออกจากที่อาศัย บิดกาย ชำเลืองดูทิศทั้งหลาย บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วก็หลีกไปหากิน. ภิกษุนี้มาแล้วโดยกำเนิดแห่งราชสีห์เห็นปานนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย เห็นความประพฤติเรียบร้อยทางกายของท่าน จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุผู้เช่นกับพระสันตกายเถระ พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นแล้ว, ก็การคะนองมือ คะนองเท้า หรือการบิดกายของภิกษุนี้ ในที่แห่งภิกษุนี้นั่งแล้ว มิได้มี."


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 387

ภิกษุควรเป็นผู้สงบ

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ พึงเป็นผู้สงบทางทวารทั้งหลายมีกายทวารเป็นต้นโดยแท้ เหมือนสันตกายเถระฉะนั้น" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๙. สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปสนฺโตติ วุจฺจติ.

"ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ ผู้ตั้งมั่นดีแล้ว มีอามิสในโลกอันคายเสียแล้ว เราเรียกว่า ผู้สงบระงับ."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตกาโย เป็นต้น ความว่า ชื่อว่า ผู้มีกายสงบแล้ว เพราะความไม่มีกายทุจริตทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น. ชื่อว่า ผู้มีวาจาสงบแล้ว เพราะความไม่มีวจีทุจริตทั้งหลาย มีมุสาวาทเป็นต้น, ชื่อว่า มีใจสงบแล้ว เพราะความไม่มีมโนทุจริตทั้งหลายมี อภิชฌาเป็นต้น, ชื่อว่า ผู้ตั้งมั่นดีแล้ว เพราะความที่ทวารทั้ง ๓ มีกายเป็นต้นตั้งมั่นแล้วด้วยดี, ชื่อว่า มีอามิสในโลกอันคายแล้ว เพราะความที่อามิสในโลกเป็นของอันตนสำรอกเสียแล้วด้วยมรรค ๔, พระศาสดาตรัสเรียกว่า "ชื่อว่าผู้สงบ" เพราะความที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นในภายในสงบระงับแล้ว.

ในกาลจบเทศนา พระเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว, เทศนาได้เป็นประโยชน์แม้แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระสันตกายเถระ จบ.