ภิกษุ กอดคฤหัสถ์เพศชายในลักษณะเอ็นดูลูกศิษย์ เหมือนพ่อลูก ลักษณะนี้ละเมิดพระวินัยหรือไม่ ข้อไหน อย่างไร ขอหลักฐานในพระไตรปิฎกด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แม้ว่าจะไม่ได้มีพระวินัยบัญญัติ บัญญัติไว้โดยตรงในเรื่องของการที่ภิกษุสวมกอดคฤหัสถ์เพศชาย ด้วยความเอ็นดู ว่าเป็นอาบัติอะไร แต่ที่น่าพิจารณา คือ สภาพจิตใจกลับกลอกมาก เป็นไปอย่างรวดเร็ว ใครจะรู้ใจใครในขณะนั้นได้ ถ้าประกอบด้วยความกำหนัดยินดี ชุ่มด้วยราคะ ภิกษุจับต้องกายของชาย ในขณะนั้น ก็มีโทษ ผิดพระวินัย เป็นอาบัติทุกกฏ เป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่ไม่ดี เป็นการกระทำที่แย้งกับกุศล เป็นการกระทำที่ไม่สามารถก้าวไปสู่การรู้แจ้งความจริงได้ ตามข้อความในพระวินัยปิฎก ดังนี้
[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๑๓๑
บุรุษ หนึ่ง ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นบุรุษ มีความกำหนัด และถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง ซึ่งกายนั้นของบุรุษ ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฎ
บุรุษ หนึ่ง ภิกษุมีความสงสัย มีความกำหนัด และถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง ซึ่งกายนั้นของบุรุษด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๑๓๑
บุรุษ ๒ คน ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นบุรุษทั้งสองคน มีความกำหนัด และถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง ซึ่งกายนั้นของบุรุษทั้งสองคน ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฎ ๒ ตัว
บุรุษ ๒ คน ภิกษุมีความสงสัยบุรุษทั้งสองคน มีความกำหนัด และถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง ซึ่งกายนั้นของบุรุษทั้งสองคน ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ดังนั้น จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ก็ควรที่จะได้คำนึงถึงอยู่เสมอว่าเพศภิกษุเป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง มีความประพฤติที่งดงาม ทางกาย ทางวาจา ซึ่งมาจากจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจะต้องฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ควรจะมีความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร และที่สำคัญ ไม่ควรประพฤติคลุกคลีกับหมู่คณะด้วย เพราะทั้งหมดที่เป็นความประพฤติไม่เหมาะไม่ควร นั้น คือ การหลั่งไหลมาของอกุศล ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น ครับ
...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ หนึ่งใน ๑๐ ข้อ ซึ่งเป็นประการแรกด้วยคือ บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว กิริยาอาการใดๆ ของสมณะ เราต้องทำกิริยาอาการนั้นๆ
ข้อคิดเห็นคือ ผู้ที่บวชเข้ามาเป็นภิกษุเป็นการแสดงให้เห็นความเป็นเพศของสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) เพราะฉะนั้นจึงมีความประพฤติกิริยาอาการเพื่อขัดเกลากิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) เป็นไปตามธรรมวินัยเพื่อดับกิเลส
ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ว่า ภิกษุที่ประพฤติตามพระธรรมวินัย จะมีกาย วาจา ใจ ที่งดงาม เปรียบเหมือนพระอรหันต์ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ