๗. ภวสูตร ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งภพทั้ง ๓
โดย บ้านธัมมะ  22 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38704

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 424

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๗. ภวสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งภพทั้ง ๓


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 424

๗. ภวสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งภพทั้ง ๓

[๕๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุจักไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 425

อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ.

อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล.

จบภวสูตรที่ ๗

อรรถกถาภวสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภวสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

เจตนาเป็นเหตุทำกรรม ชื่อว่า เจตนา. ความปรารถนาที่จะทำกรรม ชื่อว่า ความปรารถนา. คำที่เหลือมีเนื้อความเช่นเดียวกับสูตรก่อนทั้งนั้นฉะนี้แล.

จบอรรถกถาภวสูตรที่ ๗