ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 20 ส.ค. 62
สภาพธรรมที่เป็นฌาน คือสภาพธรรมที่เพ่งอารมณ์ หรือเผาปฏิปักษ์ธรรม มี ๗ คือ วิตก ๑ เป็นวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ รวม ๗ นี้เป็นฌานปัจจัย
เวทนาก็เป็นฌานปัจจัย เพราะเหตุว่าเวลาที่เวทนาเกิดนี้รู้สึกอย่างไร สำคัญไหมคะ โทมนัสเกิด ไม่พอใจเลย เดือดร้อน เผาความสุขทั้งหมดที่มี จะมีทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไรก็ตาม ไม่ช่วยให้ความรู้สึกนั้นเป็นสุขได้ขณะที่โทมนัสเวทนาเกิด
เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของโทมนัสเวทนาเป็นฌานปัจจัย ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิดก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเผา ขณะนั้นเป็นฌาน เป็นฌานปัจจัย ทำให้จิตซึ่งเกิดร่วมด้วยมีสภาพที่โทมนัส ไม่เป็นสุข เผาไหม้ เดือดร้อน
ถ้าเป็นโสมนัสเวทนาก็ตรงกันข้าม เวลาที่โสมนัสเวทนาเกิด เผาสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโสมนัสเวทนา กำลังเป็นทุกข์ พอมีข่าวที่เป็นสุข โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น หมดแล้วทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่ก็หมดไป เพราะฉะนั้นเรื่องของเจตสิกนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดกับจิต แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะทำให้จิตแต่ละประเภทมีกิจการงานหน้าที่ต่างๆ กัน แม้แต่สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกมากกว่าเพียง ๗ ดวง คือ ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิกซึ่งเป็นฌานปัจจัย จึงทำให้ทำกิจปฏิสนธิได้
www.dhammahome.com
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ
🌱ชาวพุทธเห็นอะไร เห็นพระพุทธรูป หรือเห็นพระพุทธเจ้า!!
🌲ปัญญายังบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า
🌳ผู้มีปัญญา กุศลทุกขั้นเจริญ
🌴ถ้าชาวพุทธไม่รู้จักธรรมะ จะชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาหรือเปล่า!!
🌵ชาวพุทธต้องรู้จักธรรมะ เข้าใจธรรมะ และต้องฟังธรรมะ ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องของตนเอง
🌿ฟังธรรมะเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงขณะนี้ เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ทวนกระแส เราอาจจะเห็นว่า ธรรมทั้งหลายเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตน แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาไม่สามารถจะเห็นถึงความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับไป เป็นทุกข์เพราะอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะไม่มีผู้ใดสามารถจะบังคับบัญชา และเป็นเพียงธรรมและธาตุที่เกิดจากปัจจัยนั่นเอง
บ้านธัมมะ ๒๕ พ.ค. ๕๔
www.dhammahome.com
อวิชชาเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขาร/กุศลกรรม ได้ ๒ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย
ต้องเข้าใจว่า ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรมก็เป็นเหตุ หมายความว่า โดยสภาพไม่ใช่วิบากไม่ใช่ผล เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ธรรมะนั้นยังเป็นเหตุให้เกิดผล ก็หมายความว่า เพราะยังมีอวิชชา ทำให้กุศลนั้นๆ สามารถให้ผลได้ แต่เพราะเหตุว่า เวลาที่กรรมจะให้ผล ต้องมีกิเลสด้วย ถ้าการกระทำนั้นไม่มีกิเลส ไม่ให้ผลเลย อย่างการกระทำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ว่าท่านจะแสดงความอนุเคราะห์คนอื่น ด้วยการแสดงธรรมหรือด้วยการช่วยเหลือก็ตาม ไม่มีกิเลสใดๆ เลย เพราะฉะนั้น กรรมนั้นๆ เมื่อไม่มีกิเลสร่วมด้วย ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดผล
🍁ยังมีกิเลสอยู่ จึงเป็นกรรม🍁
บ้านธัมมะ ๒๐ เม.ย. ๕๔
www.dhammahome.com
ถ. คิดมีจริง แต่ว่าสิ่งที่คิดไม่จริงหรือคะ
ต. ลองคิดสิคะ คิดถึงอะไร
ถ. คิดถึงเรื่องราว
ต. เรื่องอะไร
ถ. เรื่องที่กำลังสงสัย
ต. เรื่องนั้นอยู่ที่ไหน
ถ. หาไม่เจอ
ต. ถ้าไม่คิดจะมีไหมคะ
ถ. ถ้าไม่คิดก็ไม่มี
ต. เพราะฉะนั้นมีเมื่อคิด แต่เพียงเป็นเรื่องที่คิด ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นรู้เรื่อง แต่ไม่ใช่เห็นขณะนี้ แล้วรู้ว่าเป็นธรรมะที่กำลังมีจริงๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เกิดแล้วปรากฏแล้ว มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็จิตเห็นก็เกิด แล้วเห็นแล้วด้วย นี่คือธรรมะที่เกิดแล้วรู้ว่าอะไรมีจริง อะไรไม่มีจริง!!!
ถ. ขณะที่คิด สภาพธรรมก็คือสภาพคิด
ต. ถูกต้อง โดยมากคนจะสงสัยมาก เพราะเคยคิดแล้วก็ไม่รู้ว่าคิดเป็นยังไง!! ภาวะจริงๆ ของคิดเป็นยังไง!! แต่ลองเทียบเคียง เห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น มีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่เวลาเกิดความคิด สิ่งนั้นกำลังมีจริงเหมือนสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาหรือเปล่า!!เหมือนเสียงที่กำลังปรากฏ เหมือนกลิ่นที่กำลังปรากฏหรือเปล่า!! เพราะฉะนั้นก็เป็นคิดเรื่องราวของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน นั่นเอง
ถ. สภาพที่เป็นธรรมะคือสภาพคิดเท่านั้นใช่ไหม
ต. ขณะที่กำลังคิดนะคะ "พระนครสาวัตถี" ที่นี่กรุงเทพฯ แล้วก็คิดถึงพระนครสาวัตถี แต่เวลาที่อยู่ที่นั่น ไม่ใช่แล้วใช่ไหม แต่ก็ยังคิดคำว่า "พระนครสาวัตถี" เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม คิดเป็นคิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏเป็นเสียงให้ได้ยินจริงๆ โดยไม่ต้องคิด
บ้านธัมมะ ๓๐ มี.ค. ๕๔
www.dhammahome.com
มาร ๕ ได้แก่
๑.ขันธมาร ขันธ์เป็นมาร เพราะขันธ์คือสภาพธรรมที่เกิดดับ ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นขันธ์ ๕ มารก็ไม่มี ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้ว สภาพธรรมนั้นแหละเป็นมาร เพราะเกิดและดับ ไม่สิ้นสุด เห็นความไม่มีสาระของขันธ์หรือยัง ควรจะถึงการสิ้นสุดไหม!! ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ มองไม่เห็นเลยว่าการมีสภาพธรรมเกิดดับไปเรื่อยๆ ไม่ดีอย่างไร ไม่มีเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ!!เห็นภาระ เห็นความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเป็นไปไหม!!!
๒.กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิต ขณะนี้มีกิเลสอกุศลเกิด ยับยั้งไม่ได้และไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีปัจจัยให้เกิด ถ้าไม่รู้จักกิเลสแล้วจะละได้อย่างไร!!
๓.อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารคือสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ เจตนา เป็นเหตุให้ต้องวนเวียนในสังสารวัฏฏ์
๔.มัจจุมาร มารคือความตาย ตายด้วยอำนาจของกรรมและสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ทันที หมดโอกาสที่จะทำความดีและหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม
๕.เทวบุตรมาร คือ เทวดาผู้ขัดขวางความดี เพราะอำนาจแห่งอกุศลกรรมที่ได้สะสมมา จึงทำให้เทวดาเป็นเทวบุตรมาร คอยขัดขวางในการกระทำความดีของผู้อื่น
บ้านธัมมะ ๑๓ เม.ย. ๕๔
www.dhammahome.com
การปฏิบัติธรรม คือ ขณะใดที่มีความเข้าใจสภาพธรรม หรือเข้าใจเรื่องที่ได้ฟัง ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นเรื่องละทั้งหมด ทั้งอกุศลและกุศล
บ้านธัมมะ ๑๖ มี.ค. ๕๔
www.dhammahome.com
บ่นเพ้อธรรม
มีการกล่าวแต่ชื่อ แต่เรื่องราว แต่ไม่เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่บ่นเพ้อคือ ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ
ขณะใดที่พูดแล้วเข้าใจ เพ้อหรือเปล่า!! ขณะใดที่พูดแล้วไม่เข้าใจ เพ้อหรือเปล่า!!
ฟังและพิจารณาได้ด้วยตนเอง
บ้านธัมมะ ๙ มี.ค. ๕๔
www.dhammahome.com
ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง
ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง อดทนที่จะเข้าใจว่าอกุศลที่เกิดแล้วเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา
ขณะนี้เห็นปรากฏ อดทนฟังให้เข้าใจว่าเห็นเป็นธรรมะและทุกอย่างที่มีจริงๆ ขณะนี้ว่าเป็นธรรมะ
แม้ยากที่จะเข้าใจ ก็อดทนว่าเป็นสิ่งที่จะรู้ได้จริงๆ อดทนจนดับกิเลสได้หมด
บ้านธัมมะ ๒ มี.ค. ๕๔
www.dhammahome.com
ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลายที่ได้อบรมแล้ว สามารถจะเห็นได้ คือ สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก แล้วยังจะต้องการอะไรกับสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ด้วยเหตุนี้ถ้ามีความรู้อย่างนี้ จึงสามารถละความต้องการหรือความติดข้อง ที่ต้องการให้มีสภาพนั้นๆ เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่ตลอดเวลา
เชิญคลิกฟัง www.dhammahome.com/audio/topic/6076
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูป ไม่ใช่สิ่งที่ควรละ แต่กิเลสที่ติดข้องในสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะต้องละ และจะละได้เพราะปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาย่อมละไม่ได้ ตัวเราพยายามละก็ไม่ได้ ถ้าเราพยายามละได้ทุกคนคงละได้กันทั้งหมดแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงหนทางเพื่อการละกิเลสไว้ คือ การอบรมเจริญปัญญา ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์จึงละกิเลสได้ทั้งหมด
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติม
จะละ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ได้เด็ดขาดได้อย่างไร
ธรรมะวันนี้ สี่คำ
#วิสภาคารมณ์ อารมณ์อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
#ฉันทราคะ โลภเจตสิกที่เกิดร่วมกับฉันทะเจตสิก หรือความติดข้องด้วยอำนาจกับความยินดี
#อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นผิด คิดว่าตายแล้วขาดสูญ
#อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ โลภเจตสิก
บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ