[คำที่ ๓๕๖] อกุสลเหตุ
โดย Sudhipong.U  21 มิ.ย. 2561
หัวข้อหมายเลข 32476

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกุสลเหตุ

คำว่า อกุสลเหตุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - กุ- สะ- ละ- เห – ตุ] มาจากคำว่า อกุสล (อกุศล,สภาพธรรมที่ไม่ดี) กับคำว่า เหตุ (สภาพที่เกื้อหนุนให้เกิดขึ้นเป็นไป, เหตุ) รวมกันเป็น อกุสลเหตุ เขียนเป็นไทยได้ว่า อกุศลเหตุ แปลว่า สภาพที่เกื้อหนุนให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป, เหตุของอกุศล เป็นคำที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ๓ ประเภท คือ โลภะ ความติดข้อง โทสะ ความโกรธ ความขุ่น เคืองใจ และ โมหะ ความไม่รู้ เป็นมูลรากหรือเป็นเหตุให้อกุศลจิตและเจตสิกธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น และเมื่อสะสมมากขึ้น เป็นปัจจัยให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้

ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ แสดงถึงอกุศลเหตุ ไว้ ดังนี้ คือ

“อกุศลเหตุ ๓ เป็นไฉน ? คือ อกุศลเหตุ คือ โลภะ อกุศลเหตุ คือ โทสะ อกุศลเหตุ คือ โมหะ เหล่านี้ เรียกว่า อกุศลเหตุ ๓”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น อุปการะเกื้อกูลแก่บุคคลผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟังเหมือนกันหมด ถ้าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ไม่เคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงเลย ย่อมไม่มีโอกาสได้ฟัง เฉพาะผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว เท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา และสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะพระธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ยากที่จะได้ฟังแล้ว ก็ยังยากที่จะเข้าใจอีกด้วย ต้องอาศัยกาลเวลาในการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้ว กว้างขวางครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งจะต้องมีความละเอียดว่า ในที่นั้นๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเข้าใจถึงธรรมอะไร ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงเลย เพราะเหตุว่า พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แม้แต่ธรรมที่เป็นเหตุหรือเป็นที่ตั้งของอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ อกุศลเหตุ นั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มี จริงๆ

อกุศลเหตุ ได้แก่ ธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกื้อหนุนให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ โลภะ โทสะ และ โมหะ

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ โทสะ เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ โมหะ เป็นความหลง ไม่รู้ความจริง ในฐานะของผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อยู่ ยากที่จะพ้นไปได้จริงๆ อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ทั้งความยินดีพอใจติดข้อง และไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี โลภะเป็นพื้นอยู่นั่นเอง มีโลภะติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนาตามที่ติดข้องก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ และทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ปราศจากโมหะเลย โมหะ เป็นสภาพธรรมไม่รู้ความจริง เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตทุกประเภท เกิดเพราะโมหะ หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลอะไรในชีวิต เป็นต้น, สาเหตุหลักที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะยังมีโมหะอยู่นั่นเอง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้, ในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว โมหะ จึงเกิดกับขณะจิตมากมายอย่างนับไม่ถ้วน และไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะที่ไม่รู้ความจริง นั่นแหละ คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ปราศจากโมหะเลย

เวลาที่อกุศลเหตุเหล่านี้ เกิดขึ้น ก็ทำให้จิตเป็นอกุศลและเป็นที่ตั้งหรือนำมาซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายในขณะนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะใดที่มีโลภะ ความติดข้องต้องการในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นหนึ่งในอกุศลเหตุ ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะโลภะเท่านั้น แต่มีอหิริกะ ความไม่ละอายต่ออกุศลธรรม อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศลธรรม โมหะ ความหลง ความไม่รู้ และอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไม่สงบ เกิดร่วมด้วย การฟังพระธรรมก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นต่อไปว่า ขณะใดที่โลภะเกิดขึ้น บางครั้งก็มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เกิดร่วมด้วย บางครั้งก็มีความสำคัญตน (มานะ) เกิดร่วมด้วย นี้คือความเป็นจริงของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ในขณะที่โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ เกิดขึ้น บางครั้งก็นำมาซึ่งอิสสา ความริษยา ทนไม่ได้ที่เห็นผู้อื่นได้ดีมีความสุข บางครั้งก็นำมาซึ่งมัจฉริยะความตระหนี่ไม่อยากให้สมบัติของตนทั่วไปกับผู้อื่น บางครั้งก็นำมาซึ่งกุกกุจจะ ความเดือดร้อนรำคาญใจในกุศลที่ไม่ได้ทำหรือเดือดร้อนรำคาญใจเพราะได้กระทำอกุศลกรรมลงไปแล้ว เพราะมีสภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ โทสะ สำหรับโมหะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ความจริง เกิดแล้วมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอหิริกะ ความไม่ละอายต่ออกุศลธรรม อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศลธรรม อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไม่สงบ เมื่อมีโมหะที่ใด ต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และธรรมอื่นๆ ตามควรแก่อกุศลจิตขณะนั้นเกิดร่วมด้วย ทั้งหมด เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ในชีวิตประจำวันอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมาก กุศลจิตเกิดน้อยมาก ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีอกุศลเหตุ เกิดร่วมด้วยตามควรแก่อกุศลจิต นั้นๆ เพราะได้สะสมอกุศลมาอย่างเหนียวแน่นและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงและไม่มีทางที่จะเห็นโทษของอกุศลได้ ในแต่ละวันมีแต่โอกาสของอกุศลเกิดพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และย่อมจะไม่มีปัญญาที่จะดับอกุศลเหล่านั้นได้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ดำเนินตามหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ที่จะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ