การอุทิศบุญกุศล
โดย แสงจันทร์  26 ส.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 19583

เจริญพรทุกท่าน อาตมาสงสัย

๑.เรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศล นอกจากพวกปรทัตตุปชีวิกเปรต สัตว์อื่นสามารถรับส่วนบุญที่เราอุทิศให้ได้หรือไม่ เช่นเรานั่งสมาธิแล้ามีปีติมีสุขเกิดขึ้นเลยอุทิศส่วนบุญกุศลที่เกิดจากการปฏิบัติให้สัพพสัตว์ หรือเวลาเราเข้าใกล้ครูบาอาจารย์บ้างท่านเรารู้สึกมีความสูขร่มเย็นแสดงว่าบุญท่านถึงเราหรือเปล่า

๒ .การแผ่เมตตาในพรหมวิหาร๔ กับอัปปมัญญา๔ ต่างหรือเหมือนกันอย่าไร

และขออภัยที่ใช้นามแฝงแต่แรก คืออาตมาพึ่งบวชใหม่กลัวใช่คำในการสนทาไม่เหมาะสมและยากให้ท่านทั้งหลายแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เท่านั้น



ความคิดเห็น 1    โดย แสงจันทร์  วันที่ 26 ส.ค. 2554

เสริมอีกหน่อยนะ ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมพระบิดา ทรงยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระหัตถ์เบื้องขวา อาพาธข้างขวาก็ทุเลาลง พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่เบื้องซ้าย อาพาธกล้าด้านซ้ายก็เพลาลง พระราหุลเถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง อย่างนี้จะเรียกว่าบุญสามารถอุทิสแผ่ถึงกันหรือเปล่า

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑.เรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศล นอกจากพวกปรทัตตุปชีวิกเปรต สัตว์อื่นสามารถรับ

ส่วนบุญที่เราอุทิศให้ได้หรือไม่ เช่นเรานั่งสมาธิแล้ามีปีติมีสุขเกิดขึ้นเลยอุทิศส่วนบุญ

กุศลที่เกิดจากการ ปฏิบัติให้สัพพสัตว์ หรือเวลาเราเข้าใกล้ครูบาอาจารย์บ้างท่านเรา

รู้สึกมีความสูขร่มเย็นแสดงว่า บุญท่านถึงเราหรือเปล่า

-------------------------------------------------------------------

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ก่อนอื่นเราจะต้องแยกระหว่าง บุญที่เป็นการอุทิศส่วนกุศล กับ บุญที่เกิดจากการ

อนุโมทนาบุญครับ

ควรเข้าใจครับว่า การอุทิศส่วนกุศล คือ การที่บุคคลนั้นทำบุญและมีจิตปรารถนาดี

อุทิศส่วนบุญที่ตัวเองได้ทำให้กับผู้อื่นครับ ในฐานะที่สามารถล่วงรู้ได้ครับ ซึ่งสัตว์อื่นที่

สามารถจะอยู่ในฐานะที่ได้รับ คือ เปรต เทวดา ส่วนภูมิที่เป็น นรก สัตว์เดรัจฉาน ไม่

อยู่ในฐานะที่จะรู้ในการอุทิศส่วนกุศลและอนุโมทนาได้ครับ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงว่า

ฐานะที่สัตว์จะได้รับส่วนกุศล คือ เปรต ครับ

ซึ่งเราจะต้องเข้าใจการได้รับส่วนบุญ จากผู้อุทิศให้นั้นเป็นอย่างไรคัรบ

การอุทิศส่วนกุศลและการที่บุคคลจะได้รับกุศลนั้น ไม่เหมือนกับ การที่บุคคลจะให้

ของ และบุคคลนั้นจะได้รับของ ไม่ใช่ลักษณะนั้นครับ แต่ที่สำคัญเราจะต้องเข้าใจพื้น

ฐานของธรรมว่า กุศลของใครก็ของคนนั้น ไม่ใช่ว่า กุศลของเรา หรือ ใครจะทำให้คน

อื่นๆ ได้รับผลของกุศลได้ครับ ดังนั้นเมื่อเป็นไปตามกฎของกรรม การจะได้รับผลของ

บุญ ได้รับสิ่งที่ดี จะต้องเป็นกุศล เป็นบุญของบุคคลนั้นเองครับ เรื่องการอุทิศส่วน

กุศลก็เช่นกันครับ ผู้ที่มีจิตอุทิศ มีเจตนาที่เป็นกุศล เป็นกุศลของบุคคลนั้นที่ตั้งใจบอก

บุญ อุทิศให้สัตว์ที่สามารถล่วงรู้ อยู่ในฐานะที่จะรับได้ คือ เปรต เทวดา กุศลเป็นของผู้

อุทิศ แต่หากสัตว์นั้น ไม่อนุโมทนาแม้รู้อยู่ กุศลของสัตว์นั้นไม่เกิด แม้จะหยิบยื่นให้ ก็

ไม่ได้รับผลของบุญนั้นครับ ดังนั้นการที่เปรต หรือ เทวดา จะได้รับผลของบุญ ก็ต้อง

เป็นกุศลของเปรต หรือ เทวดาที่เกิดเองครับ จึงจะได้รับผลของกรรมดี ดังนั้นเมื่อเปรต

ล่วงรู้และอนุโมทนา การอนุโมทนา ยินดีในกุศลที่ญาติทำ กุศลจิตของเปรต หรือ

เทวดาเกิดแล้วครับ เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลของตนเองเกิด จึงทำให้ได้รับผลของกุศลที่

เกิดจากจิตของตนเองครับ โดยมีการที่ญาติบอกให้รู้ในกุศลที่ทำเป็นปัจจัย กุศลของ

ตนเองเท่านั้นที่จะทำให้ตนเองได้รับผลของกรรมที่ดีครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2554

ดังนั้นสัตว์จะรับส่วนบุญได้ ก็ต้องเกิดจิตที่เป็นกุศล อนุโมทนาในกุศลที่เราอุทิศให้

ครับ แต่ถ้าสัตว์นั้นไม่อนุโมทนา แม้ผู้นั้นจะมีบุญมากมายเท่าไหร่ นั่นเป็นบุญของเรา

ไม่ใช่ของเขา เขาไม่อนุโมทนา ไม่เกิดกุศลจิตของตนเอง ก็ไม่ได้รับผลของบุญครับ

ส่วนกรณีที่อยู่ใกล้ใครเป็นสุข ร่มเย็น ตามที่กล่าวแล้วครับ บุญของใครก็ของคนนั้น

ครับ ไม่สามารถให้ต่อกันได้เลย ต้องเป็นกุศลจิตของบุคคลนั้นเองที่เกิดขึ้นครับ ซึ่งแม้

พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีการบำเพ็ญบารมี มีบุญมาสูงสุดกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่พระองค์

ก็ไม่สามารถที่จะห้ามอกุศลจิตของใคร และห้ามกุศลจิตของใครได้ครับ แม้พวกอัญ

เดียรถีย์จะได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ก็เกิดความรังเกียจไม่ชอบ ด่าว่าเป็นสมณะศีรษะโล้น

ไม่มีจิต ร่มเย็น เป็นสุข เป็นต้น หากว่าบุญของอีกคนสามารถจะช่วยอีกคนได้ พระ

พุทธเองค์ผู้สะสมบุญมามหาศาล ก็คงจะช่วยสัตว์โลกได้มากมาย แม้พวกที่เห็นผิด

ด้วยครับ ดังนั้นกุศลคือการอุทิศ เกิดจากจิตที่ดีของเราเอง แต่ผู้ใดจะเกิดกุศลหรือไม่นั้น

เป็นการสะสมมาของบุคคลนั้นเองครับ ว่าจะเป็นกุศลหรือ อกุศลครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2554

๒ .การแผ่เมตตาในพรหมวิหาร๔ กับอัปปมัญญา๔ ต่างหรือเหมือนกันอย่าไร

และขออภัยที่ใช้นามแฝงแต่แรก คืออาตมาพึ่งบวชใหม่กลัวใช่คำในการสนทาไม่เหมาะ

สมและอยากให้ท่านทั้งหลายแสดง ความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เท่านั้น

------------------------------------------------------------------------------

กราบนมัสการครับ ในเรื่อง การแผ่เมตตาในพรหมวิหาร๔ กับอัปปมัญญา๔ เมตตาได้

ในความเป็นจริง เราจะต้องเข้าใจคำว่าแผ่เมตตาก่อนครับ เช่น เรากล่าวบทสวดว่า ให้

แผ่เมตตากับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในความเป็นจริงในเรื่องการที่จะแผ่เมตตาได้ หรือ แผ่

พรหมวิหาร 4 ได้นั้น ผู้นั้นจะต้องอบรมจนถึงได้ฌานแล้วครับ ถึงจะแผ่กับสรรพสัตว์ทั้ง

หลายได้จริง คือ มีจิตเมตตากับสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดได้จริงคัรบ ไม่ใช่ว่าจะแผ่กับ

สรรพสัตว์ทั้งหลายได้เพียงบทสวด หรือสวดคำนั้นครับ เพราะในชีวิตประจำวันก็มีคน

ที่ชอบ หรือ ไม่ชอบ ก็ยังไม่เมตตา หรือ กรุณา มุทิตา อุเบกขา กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ได้จริง ดังนั้นการจะแผ่ได้ ในอรรถกถาคือต้องมีกำลังถึงฌานครับ คือ มีใจเมตตา กรุณา

มุทิตาและอุเบกขากับสรรพสัตว์ทั้งหลายได้หมดจริง ซึ่งข้อความก็มีแสดงว่า การจะ

เจริญเมตตา เป็นต้น ต้องเจริญกับคนในครอบครัว หรือ คนที่เป็นอาจารย์ เป็นเบื้องต้น

ครับ ถึงจะค่อยๆ มีกำลังถึงคนรอบข้างได้ครับ

ดังนั้น ถ้าเป็นอัปปมัญญา 4 คือ การแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปทั่วทุกทิศ

คือ ทั่วไปทั้งหมดในสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงต้องได้ฌานครับ แม้แต่คำว่า การแผ่เมตตา

ในพรหมวิหาร ๔ ก็มุ่งหมายถึง ผู้ที่ได้ฌานแล้วในพรหมวิหาร จึงแผ่ได้ ก็มีนัยเดียวกับ

อัปปมัญญาเช่นกันครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

จากข้อความที่พระคุณเจ้ายกมาที่ว่า

เสริมอีกหน่อยนะ ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมพระบิดา ทรงยกพระหัตถ์ลูบที่พระ

ปฤษฎางค์ พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระหัตถ์เบื้องขวา อาพาธข้างขวาก็

ทุเลาลง พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่เบื้องซ้าย อาพาธกล้าด้านซ้ายก็เพลา

ลง พระราหุลเถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง

อย่างนี้จะเรียกว่าบุญสามารถอุทิสแผ่ถึงกันหรือเปล่า

-----------------------------------------------------------

กระผมยังไม่ทราบ และยังอ่านไม่เจอในพระไตรปิฎกและอรรถกถา รบกวนพระคุณเจ้า

ยกข้อความนี้ในพระสูตรไหนด้วยครับ กราบนมัสการครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 5    โดย แสงจันทร์  วันที่ 27 ส.ค. 2554

น่าจะอยู่ใน หนังสือปฐมสมโพธิ หรือไม่ก็ในหนังสือพุทธประวัติ หาไม่เจอเหมือนกัน พบแต่ข้อความในเว๊บต่างๆ ดังนี้

ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี ทรงทราบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ซึ่งประทับอยู่กบิลพัสดุ์นคร ทรงประชวรหนัก อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกตเวทีตาธรรม จึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย

ขณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับการบีบคั้นจากอาพาธกล้า เกิดทุกขเวทนายิ่งนัก มีพระอาการทุรนทุรายหมดสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ ตั้งพระทัยอธิษฐานพระจิตบำบัดโรคาพาธ แล้วทรงลูบลงที่พระเศียรพระเจ้าสุทโธทนะ ขณะนั้นอาพาธกล้าก็ทุเลาลงด้วยพระบารมี พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระหัตถ์เบื้องขวา อาพาธข้างขวาก็ทุเลาลง พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่เบื้องซ้าย อาพาธกล้าด้านซ้ายก็เพลาลง พระราหุลเถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง พระเจ้าสุทโธทนะทรงพระสำราญพระกายคลายความทุกข์เวทนาอันสาหัส ทรงลุกขึ้นประทับนั่งถวายบังคมพระบรมศาสดา ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณ ที่เสด็จมาทรงอนุเคราะห์

พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดให้พระพุทธบิดาบรรลุพระอรหัตตผล แต่ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาเห็นชนมายุของพระองค์ถึงอวสานสุดสิ้นเพียงนั้นแล้ว ก็ทูลลาพระบรมศาสดาเสด็จนิพพาน และลาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วพระองค์ก็เสด็จนิพพานด้วยอุปปาทิเสสนิพพาน

พระบรมศาสดาทรงเคารพในขัตติยประเพณีนิยม ทรงเป็นประธานอำนวยการพระศพในฐานะที่พระองค์เป็นพระโอรส และเป็นพระญาติผู้ใหญ่ จึงโปรดให้พระมหากัสสปเถระเจ้า ให้ไปตรวจดูที่ประดิษฐานจิตรกาธาร เพื่อถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา และโปรดให้พระสารีบุตรเถระเจ้า เป็นภาระจัดถวายน้ำสรงพระศพพระพุทธบิดา ตามขัตติยประเพณี เมื่อเจ้าพนักงานอัญเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ พระจิตรกาธารที่จัดถวายสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์แล้ว บรรดาพระประยูรญาติทั้ง 6 พระนคร คือ เมืองกบิลพัสดุ์ ๑ เมืองเทวหทะ ๑ เมืองโกลิยะ ๑ เมืองสักกะ ๑ เมืองสุปวาสะ ๑ เมืองเวระนคร ๑ ก็ประชุมกันบำเพ็ญกุศลมหายัญญ์ อุทิศถวายด้วยความเคารพ และความอาลัยอย่างยิ่ง

ครั้นได้เวลา พระบรมศาสดาก็ทรงเป็นประธานจุดเพลิงถวายพระศพพระพุทธบิดา บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายพากันโศกเศร้าพิลาปไห้ ปริเทวนาการ พระบรมศาสดาจาร์ย ก็ทรงตรัสธรรมิกถาเล้าโลม ระงับความเศร้าโศกแห่งมหาชนโดยควรแก่อุปนิสสัย. หรือจะเป็นไปได้ไหมว่าบุญสามารถถ่ายทอดทางความรู้สึกถึงกันได้

เจริญพร


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 27 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลอุปการะเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่อกุศลธรรม, กุศล ซึ่งเป็นความดีในชีวิตประจำวันสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นประโยชน์ของกุศลมากน้อยแค่ไหน การอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศลก็เพื่อให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนาซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ ดังนั้น ทั้งการอุทิศส่วนกุศล และการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ล้วนเป็นกุศลทั้งนั้น ควรที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน สำหรับในเรื่องของพรหมวิหาร ๔ กับ อัปปมัญญา ๔ องค์ธรรมเหมือนกัน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่กำลังต่างกัน เพราะในชีวิตประจำวันสภาพธรรมฝ่ายดี คือ เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนความหวังดี ความปรารถนาต่อผู้อื่น กรุณา ความสงสารปรารถนาที่จะให้ผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข และ อุเบกขา คือ ความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโลภะและโทสะ ทั้งหมดนี้เป็นพรหมวิหารธรรม ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น โดยมีพื้นฐานมาจากความมีเมตตา ซึ่งเมื่อมีเมตตาแล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุขก็ไม่ริษยา และเมื่อเราได้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่แล้ว เขายังไม่พ้นจากทุกข์ ก็เป็นผู้มีใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว เข้าใจในความที่สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน แต่ยังไม่มีกำลังถึงขั้นที่จะต้องแผ่ไปโดยไม่เจาะจง เพราะอัปปมัญญา เป็นเรื่องของความสงบแนบแน่นของจิต ที่เป็นฌานจิต จึงจะสามารถ แผ่ไปไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ไม่เลือก ไม่เจาะจง ได้

ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม ในเรื่องของเมตตา คือ เมตตา เมตตา เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่ควรมี ควรอบรมให้มีขึ้นแทนที่จะโกรธกันหรือไม่พอใจกัน เมตตาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าความโกรธ (ถ้าไม่ได้สะสมมา ก็ไม่ง่าย) เพราะโกรธต้องหาเรื่องที่จะต้องโกรธ ย้อนคิดถึงเรื่องที่ทำให้ตนเองโกรธ แต่ถ้าเป็นเมตตาแล้ว ใจเบาสบาย ไม่หนักด้วยอำนาจของโทสะ ในชีวิตประจำวัน ยังไม่มีเมตตาที่มีกำลังจนกระทั้งถึงเมตตาฌาน ก็ยังไม่สามารถแผ่ได้ และที่สำคัญ เมตตา ไม่ใช่เรื่องท่อง ไม่ได้อยู่ที่คำแผ่ แต่สามารถอบรมเจริญได้ในชีวิตประจำวัน โดยเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับทุกคน มีความหวังดี ไม่หวังร้าย ต่อผู้อื่น ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 8    โดย wannee.s  วันที่ 27 ส.ค. 2554

อยู่ที่การสะสม ชาตินี้เป็นมนุษย์ ถ้าเห็นใครทำความดี ทำกุศล แล้วยินดี อนุโมทนาใน

บุญกุศลที่เขาทำ ก็สะสมเป็นอุปนิสัยในภพหน้า เช่น ถ้าสมมติไปเกิดเป็นเทวดา เห็น

ใครทำกุศลก็อนุโมทนายินดีในกุศลที่เขาทำได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อุทิศส่วนกุศลให้ และ

ผู้ ทีมีปกติเจริญเมตตา ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุข เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย

ค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 กราบนมัสการครับ

จากข้อความที่พระคุณเจ้ายกมานั้น อยู่ในหนังสือพุทธประวัติ ที่แต่งมารุ่นหลังครับ ซึ่ง

ไม่มีข้อความเหล่านี้ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้อธิบายไว้ในเรื่องนี้ครับ อย่างไรก็

ตาม คงต้องอธิบายถึงเรื่องของเหตุผลและกระผมจะขอยกข้อความในพระไตรปิฎก มา

อธิบายในแต่ละส่วนครับ

ประเด็นแรก เรื่องการรักษาโรค บรรเทาโรค ตามที่ได้ยกข้อความมา ว่า พระพุทธเจ้า

ลูบส่วนนี้ของพระบิดา ก็หายโรค บรรเทาลง พระอานนท์ลูบ ส่วนนี้ก็บรรเทาลง จากที่

กระผมไดอ้อ่านพระไตรปิฎกมานั้น พระพุทธองค์และสาวก ไม่มีการบรรเทาอาการรักษา

ของผู้ป่วยไข้ด้วยวิธีนี้ครับ มีแต่การแสดงธรรมให้ฟังและท่านเหล่านั้นก็โรคหายไปครับ

หรือ แม้แสดงธรรมก็มีอาการของโรคกำเริบ รุนแรงเหมือนเดิม ขอยกตัวอย่างนะครับ

อย่างเช่น ท่านพระฉันนะ ป่วย อาพาธรุนแรงมาก ท่านพระสารีบุตรและพระจุนทะไป

เยี่ยม และก็ถามถึงอาการของโรคว่าเป็นอย่างไรบ้าง พระฉันนะกล่าวว่า รุนแรงมาก ทน

ไม่ได้ ท่านพระจุนทะกับท่านพระสารีบุตร แม้ตัวพระจุนทะเองก็ไมได้ลูบตัวท่านพระ

ฉันนะให้โรคทุเราลงครับ แต่ท่านเหล่านั้นแสดงธรรมให้พระฉันนะให้ข้าใจครับ

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านป่วยหนัก ใกล้ตาย ท่านพระสารีบุตรและ

พระอานนท์ก็ไปเยี่ยม ถามถึงอาการ ท่านก็กล่าวว่า รุนแรง ทนไม่ได้ ท่านพระอานนท์ก็

ไมได้ลูบตัวท่านเพื่อให้หายโรค หากบุญส่งต่อกันได้จริง ให้หายโรคได้ ท่านก็ต้องช่วย

ท่านอนาถ โดยลูบตัว แต่ไม่ได้ทำอย่างนั้นครับ ท่านแสดงธรรมให้ท่านอนาถะฟัง คือ

ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรม และพระอานนท์ด้วยครับท่านเกดิปิติปราโมทย์ที่ได้ฟังครับ

และก็ไม่นานก็สิ้นชีวิต

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ท่านปูติคัตติสสเถระ ท่านป่วยเพราะกรรมเก่าของท่าน ทำให้ตัว

เน่าเฟะ ได้รับทุกขเวทนา พระพุทธเจ้า ไมได้ลูบตัวของท่านให้บรรเทาโรคครับ

พระองค์เห็นภิกษุทั้งหลายทอดทิ้งท่าน พระองค์จึงปรารภที่จะอาบน้ำให้กับท่านพระปูติ

คัตติสสเถระ พระองค์เป็นผู้อาบน้ำให้ เมื่อร่างกายท่านเบา พระองค์ก็ไมได้ลูบตัว แต่

พระองค์แสดงธรรมอีกเช่นกันครับ ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานครับ


ความคิดเห็น 10    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2554

และอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ ท่านพระมหากัสสปะ ป่วยได้รับทุกขเวทนากล้า

รุนแรงมาก และท่านก็เป็นพระอรหันต์แล้วด้วยครับ พระพุทธเจ้าไมได้ไปลูบตัวท่าน

พระมหากัสสปะ ให้ทุกขเวทนาให้เบาลง แต่พระองค์แสดง โพชฌงค์ 7 ให้ท่านพระ

มหากัสสปะได้ฟัง เมื่อท่านฟังจบ ท่านหายจากโรคเลยครับ ซึ่งทำไมถึงหายจากโรค

ครับ ไม่ใช่เพราะบุญของผู้อื่น แต่เป็นจิตที่ดีของท่านเองที่เกิดขึ้น ดังในอรรถกถา

อธิบายไว้ครับว่า ตามธรรมดา จิตโดยทั่วไปเมื่อเกิดขึ้น จะต้องมีรูปที่เกิดพร้อมจิต

เรียกว่า จิตตชรูป ดังนั้นขณะที่ท่านพระมหากัสสปะที่ท่านมีความเข้าใจธรรม เมื่อท่าน

ได้ฟังโพชฌงค์ 7 ท่านมีความเข้าใจ ขณะที่เข้าใจ จิตที่ดีเกิดขึ้นใช่ไหมครับ ประกอบ

ด้วยปัญญา นี่คือจิตที่ดีของท่านเองเกิดขึ้น ไม่ใช่บุญของผู้อื่นทำให้นะครับ เมื่อจิตที่ดี

เกิดขึ้น รูปที่ดี จิตตชรูปก็เกิดขึ้น ทำให้โลหิตของท่านผ่องใส โรคจึงสงบครับ เพราะ

จิตตชรูปที่ดี ที่เกิดจากจิตที่ดี คือ จิตที่เข้าใจธรรม ปิติ ปราโมทย์เมือ่ได้ฟังโพชฌงค์ 7

ครับ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า การหายจากโรค เพราะจิตที่ดี เกิดขึ้นด้วย

จิตของตนเองครับ

ดังนั้นถ้าเรามั่นคงในเรื่องกฎแห่งกรรม คือ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็น

เผ่าพันธ์ ใครทำดี ผู้นั้นเองย่อมได้ดี แต่ไม่ใช่คนนี้ทำดี เลยทำให้อีกคนเลยได้ดีด้วย

เพราะคนนั้นทำดี ไม่ใช่ครับ หากเราเข้าใจเหตุผลตรงนี้ ก็จะทำให้เข้าใจว่า บุญของ

ใครของคนนั้น ส่งต่อกันไม่ได้ ต้องเป็นกุศลจิตของคนนั้นเองทีเกิดขึ้น เพราะแม้ผู้ที่

อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า เกลียดชัง พระพุทธเจ้าก็มีครับ ด่าว่าพระพุทธเจ้าก็มีครับ ทั้งๆ ที่

พระองค์ทำบุญมามากมาย ถ้าช่วยได้ด้วยการคนที่ทำบุญมาก ก็ข่วยให้คนนั้น มีบุญด้วย

เกิดบุญด้วย นั่นก็ไม่ใช่ครับ แล้วแต่ว่าเขาสะสมความเห็นผิดหรือถูกมาครับ ทำให้เป็น

กุศล หรือ อกุศลตามการสะสมครับ และเมื่อดูเหตุการณ์ ประเพณีในปัจจุบัน เวลาใคร

ทำบุญ เช่น ถวายของพระ อีกคนก็เอามือจับตัวคนที่ถวาย อีกคนก็จับต่อคนอีกคน ต่อๆ

กันไป บุญจึงไมได้อยู่ที่การรับส่งต่อกัน แต่อยู่ทีใจของแต่ละคน จะเป็นกุศลหรือไม่ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย แสงจันทร์  วันที่ 27 ส.ค. 2554

ขอเจริญพรและอนุโมทนา ในกุศลวิริยะของทุกๆ ท่าน ที่ค้นคว้าหาข้อมูลคำตอบที่ชัดเจน

มาให้ แต่คราวหน้าขออนุญาติใช้นามแฝงไม่แสดงตนนะ จะได้สนทนาได้ถนัดๆ หน่อย ไม่

ได้มีจุดประสงค์อื่นแต่เพื่อความเข้าลึกซึ้งในหลักธรรม เพราะเชื่อว่านอกจากพวกท่านแล้ว

น้อยคนที่จะตอบปัญหาโดยมีข้อมูลหลักฐานอธิบายได้ขนาดนี้

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ความคิดเห็น 12    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 27 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย วิริยะ  วันที่ 27 ส.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 14    โดย pat_jesty  วันที่ 28 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ