ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “มุสาวาท”
โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย
มุสาวาท เป็นคำภาษาบาลี อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า มุ-สา-วา-ทะ อ่านตามภาษาไทยว่า มุ-สา-วาด มาจากคำว่า มุสา (เท็จ,ไม่จริง) + วาท (การพูด) รวมกันเป็น มุสาวาท แปลว่า การกล่าวเท็จ หรือ การพูดเท็จ ซึ่งเป็นการพูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง บุคคลผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ชื่อว่า เป็นคนพูดเท็จ ดังข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า
“บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ท่ามกลางสมาคมก็ดี อยู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขานำไปถามเป็นพยานว่ามาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดก็จงบอกสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่ารู้บ้าง เมื่อรู้ก็บอกว่าไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่าไม่เห็นบ้าง ย่อมกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ”
และ อีกข้อความหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นคนพูดเท็จ ได้อย่างชัดเจน คือ
“บรรดาคำพูด ๑๐ คำ คำสัตย์แม้สักคำหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด บุคคลผู้เห็นปานนี้ ชื่อว่า ผู้มักพูดเท็จ”
(จาก ...ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
มุสาวาท หมายถึง การพูดคำที่ไม่จริงด้วยเจตนาที่จะให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งไม่จริง หรือที่เข้าใจกันง่าย ๆ คือ การพูดเท็จ, มุสาวาทเป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ ผิดศีล ๕ ด้วย เมื่อสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์แล้ว ย่อมทำให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น กล่าวคือ ผลอย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ได้รับความทุกข์ทรมานมากมายแสนสาหัส ถ้าเป็นผลอย่างเบา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้รับคำพูดที่ไม่จริงจากผู้อื่น
จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน มุสาวาท ได้ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมากมายทีเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว คำจริง หรือ ความจริง เป็นคำที่น่าจะพูดได้ง่ายกว่าคำเท็จ แต่บุคคลผู้สะสมมาอย่างนี้กลับไม่พูดความจริง พูดแต่คำเท็จ คนพูดเท็จจึงน่ากลัวมาก เพราะเขาสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งตรงกับความจริงที่ว่า บุคคลผู้มักพูดเท็จ ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่น เป็นไม่มี เพราะเหตุว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะต้องพูดเท็จ เขายังพูดได้ จึงไม่ต้องพูดถึงอกุศลกรรมอย่างอื่นที่เขาจะไม่ทำ
จึงเป็นเครื่องเตือนสำหรับทุกคนเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิตโดยประการทั้งปวง เพราะธรรมดาของปุถุชน มักไหลไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมล่วงศีลได้ ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยจริงๆ ดังนั้น อกุศลแม้เล็กน้อย ก็พึงเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ควรที่จะมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล และถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แม้แต่มุสาวาท ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น ก็ไม่ควรทำ และถ้าถึงขั้นที่ทำลายหรือหักรานประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว ยิ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่คุ้มเลย กับการกระทำอกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ตนเองกระทำ ย่อมให้ให้ผลเป็นทุกข์แก่ตนเองโดยส่วนเดียวเท่านั้น
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ