ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า "จิต" เพราะกระทำให้วิจิตร
ข้อความในอัฏฐสาลินีอรรถกถา มีว่า ชื่อว่า "จิต" เพราะกระทำให้วิจิตรอย่างไร จริงอยู่ ธรรมดาว่าความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก ธรรมดาว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้นๆ ก็เป็นความวิจิตร คือเป็นความงดงามอย่างยิ่งทีเดียว พวกช่างลวดลาย เมื่อกระทำกิจกรรมนั้นย่อมเกิดจิตตสัญญาว่า รูปทั้งหลายชนิดต่างๆ เขาพึงกระทำ ณ ตรงนี้โดยอุบายอย่างนี้ การกระทำให้วิจิตรทั้งหลายที่ให้สำเร็จกิจ มีการเขียน มีการลงสี การทำสีให้เรืองรอง และการสลับสี เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่งในความวิจิตร คือ ลวดลายย่อมสำเร็จมาจากการกระทำอันวิจิตรนั้น เพราะฉะนั้น ศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก อันจิตนั่นเองคิดว่ารูปนี้จงอยู่บนรูปนี้ รูปนี้จงอยู่ใต้ รูปนี้จงอยู่ตรงข้างทั้งสองดังนี้ แล้วจึงกระทำเหมือนรูปอันวิจิตร ที่เหลือย่อมพึงสำเร็จได้ด้วยกรรมอันช่างคิดไว้ แม้จิตที่ให้สำเร็จความวิจิตรนั้นก็ชื่อว่าจิต อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรด้วยการกระทำนี้ดังพรรณนามาฉะนี้
อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นเองชื่อว่า วิจิตร แม้กว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้น เพราะให้สำเร็จจิตรกรรมตามที่จิตคิดทุกชนิด
นี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย คือ ความวิจิตรของจิตรกรรม แต่ความวิจิตรของกรรมที่ทุกท่านกระทำในวันหนึ่งๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ที่เป็นกุศลกรรม เป็นทานบ้าง ศีลบ้าง เป็นการอบรมเจริญภาวนาบ้าง หรือที่เป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาตบ้าง อทินนาทานบ้าง ก็ย่อมจะวิจิตรมากมาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเป็นลักษณะของจิตซึ่งวิจิตร รูปธาตุภายนอกที่วิจิตรโดยเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เป็นดอกไม้ ใบไม้ พันธุ์ต่างๆ เป็นวัตถุ ภูเขา แม่นํ้าต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดเพราะส่วนผสมของธาตุดิน นํ้า ไฟ ลม ซึ่งมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ไหลหรือเกาะกุม เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ระดับต่างๆ ทำให้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิจิตรต่างๆ แต่สิ่งที่วิจิตรกว่ารูปธาตุภายนอกก็คือ จิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตร
อกุศลกรรมที่วิจิตรเป็นปัจจัยให้สัตว์ดิรัจฉานมีรูปร่างวิจิตรต่างๆ กันมาก บางประเภทก็มี ๒ เท้า บางประเภทก็มี ๔ เท้า บางประเภทก็มีเท้ามาก บางประเภทก็ไม่มีเท้าเลย บางประเภทก็อยู่ในนํ้า บางประเภทก็อยู่บนบก และกุศลกรรมที่วิจิตรก็ทำให้มนุษย์วิจิตรต่างกันไปโดยเพศ โดยรูปร่างหน้าตา ซึ่งทำให้เกิดโวหาร คือ คำพูดที่แสดงลักษณะอาการของสภาพธรรมทั้งหลายตามที่ปรากฏ คำพูดมีมาก ภาษาที่พูดถึงสิ่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรมากเพียงไรก็ทำให้เกิดโวหารเพื่อที่จะเรียกสิ่งที่ปรากฏที่วิจิตรเพียงนั้น และคำพูดก็ไม่มีวันหมด ไม่มีวันจบ เพราะว่าสิ่งซึ่งจิตกระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงต้องบัญญัติคำพูดเรียกสิ่งที่จิตทำให้วิจิตรมากขึ้นๆ
ในวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะเห็นอะไร หรือว่าไม่ว่าจะพูดอะไร ย่อมแสดงให้เห็นความวิจิตรของจิตซึ่งกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้วิจิตร พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงลักษณะของจิตในขณะนี้เมื่อเห็นความวิจิตรต่างๆ ซึ่งจิตกระทำให้วิจิตร จิตในขณะนี้เดี๋ยวนี้เองกำลังกระทำให้วิจิตรต่อไปข้างหน้าอีก และไม่ควรคิดถึงความวิจิตรของสิ่งภายนอกที่จิตกระทำให้วิจิตรเท่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นไปในขณะนี้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การที่จะรู้ลักษณะของจิตต้องรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังนึกคิด ซึ่งต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร
ทุกท่านคิด ขณะที่จิตคิดถึงเรื่องใด เรื่องนั้นก็มีชั่วขณะที่จิตกำลังคิดนึกถึงเรื่องนั้น จิตเป็นสภาพคิด ถ้าไม่พิจารณาจิตในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือกำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังได้กลิ่นเดี๋ยวนี้ กำลังลิ้มรสเดี๋ยวนี้ กำลังกระทบสัมผัสโผฏฐัพพะ หรือกำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ แล้วจะรู้ลักษณะของจิตได้ขณะไหน
ข้อความในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๕๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตที่ชื่อว่าจรณะ (เที่ยวไป) เธอทั้งหลาย เห็นแล้วหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้ว พระเจ้าข้า
จิตเที่ยวไปอย่างไร ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ทุกท่านรู้สึกว่าจะชอบเที่ยว ไม่มีใครชอบอยู่ซํ้าซากจำเจที่หนึ่งที่ใด เพราะว่าต้องการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสโผฏฐัพพะต่างๆ ฉะนั้น จิตจึงเกิดขึ้นเที่ยวไปในอารมณ์ทางทวารต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่อยู่นิ่ง มีจิตของใครอยู่นิ่งๆ ได้บ้าง ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดแล้วก็ดับไป นั่นคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตชื่อว่าจรณะ แม้นั้นแล เธอทั้งหลายคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิต (เป็นเครื่องคิด) นั้นแหละวิจิตรกว่าจรณจิตแม้นั้น เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้หมู่อันหนึ่งอื่น ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่าจิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียนเมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณนั่นแหละให้เกิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้าฯ
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้าฯ
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่ากิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีฯ
จบสูตรที่ ๒
ช่างเขียนรูปอาศัยสีเขียนรูปต่างๆ กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเป็นรูปต่างๆ ฉันใด ขณะนี้จิตของแต่ละท่านก็เหมือนกับช่างเขียนซึ่งกำลังเขียนรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต
ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่วิจิตรที่ได้กระทำนานมาแล้วฉันใด จิตซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรอยู่ในขณะนี้ก็จะกระทำให้คติ เพศ รูปร่างสัณฐาน ลาภ ยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ วิจิตรต่างๆ ในกาลข้างหน้า ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ซึ่งกำลังเขียนสภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่าวิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ จิตก็เกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่ แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหูแล้ว ก็ยังมีจิตที่คิดนึกไกลออกไป แล้วแต่ว่าจะคิดท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้าง หรืออาจจะกำลังคิดทำอะไรที่วิจิตรให้เกิดขึ้นในขณะนั้น
ข้อความในคัททูลสูตรที่ ๑ ข้อ ๒๕๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ย่อมวิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้นเอง เวลายืน ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
ช่างเขียนยึดถือจิตรกรรมที่เขียนขึ้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด จิตของปุถุชนซึ่งยังยึดถือในรูปว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็จะยังคงยึดถือต่อไปทุกภพ ทุกชาติ เหมือนกับช่างเขียนซึ่งยึดถือในจิตรกรรมที่ตนเขียนขึ้น ฉันนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนเมื่อยืนก็ย่อมยืนอยู่ใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยความเป็นตัวตน ตราบนั้น
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ