ลักษณะของเวทนาที่ได้แสดงไว้ ๙ ประการ
โดย สารธรรม  24 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44156

มีลักษณะของเวทนาที่ได้แสดงไว้ ๙ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา มีสติ ไม่หลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คือ เห็นเวทนาในเวทนา ไม่ใช่เห็นตัวตน เห็นสัตว์ บุคคลในเวทนา

ประการที่ ๒ หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา

ประการที่ ๓ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

ประการที่ ๔ หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส

คำว่า “มีอามิส” หมายความว่าเวทนานั้นอาศัยกามคุณ คือ อาศัยตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกเป็นสุข หูได้ยินเสียงที่พอใจเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข จมูกรู้กลิ่นที่พอใจในขณะใดเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ลิ้นกระทบมีการรู้รสที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข กายได้กระทบสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข เหล่านี้ คือ เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส นี่เป็นประการที่ ๔

ประการที่ ๕ หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส

สำหรับสุขเวทนาที่ไม่มีอามิสนั้น หมายความถึงสุขเวทนาที่ไม่ได้อิงอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

ประการที่ ๖ หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

ประการที่ ๗ หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส คือ ทุกขเวทนาในขณะนั้นไม่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

ประการที่ ๘ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส

ประการที่ ๙ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

ท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกด้วย เพราะการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้จะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะละการหลงผิดยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ ตราบใดที่ไม่รู้ชัด ยังสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมไม่หมดการยึดถือในสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้าง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 111