ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรค ได้กล่าวถึงอุเทศวารกถา อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ต่อไปก็เป็น ธาตุมนสิการบรรพ
ธาตุมนสิการบรรพ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบธาตุมนสิการบรรพ
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ
ถ้าตรวจสอบเทียบเคียงในพระไตรปิฎก เป็นปกติทุกอย่าง จะเป็นสติระลึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรช้าๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติ
สำหรับโดยความเป็นธาตุ มีปรากฏให้รู้ได้ที่กายนี้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไประลึกถึงโดยความเป็นปฏิกูล
คำว่า ธาตุ หมายความถึงสภาพที่มีปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงของธาตุนั้นๆ
ธาตุดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ธาตุดินมีลักษณะแข็ง ธาตุไฟ มีลักษณะเย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะตึงหรือไหว
เดินเมื่อยๆ เข้ามีตึงระลึกรู้ได้ เป็นธาตุแต่ละชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล สำหรับธาตุมนสิการบรรพก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นสมถกัมมัฏฐานก็ได้ เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ได้ เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของสมถภาวนาทั้งหมดนั้น เพื่อให้จิตแน่วแน่ตั้งมั่นคงอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อรู้ชัด แล้วละ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 94