ไม่บิณฑบาต
โดย nongnooch  30 ส.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23468

ดิฉันเคยถามภิกษุที่ท่านมีสำนักอยู่ตามป่าเขาว่าทำไมท่านไม่เดินบาตร เพราะ

เท่าที่ดิฉันศึกษาพระวินัยมาก็คือกิจสงฆ์ต้องโปรดญาติโยมไม่ใช่หรือคะ ท่านตอบว่า

แถวนี้เขาไม่ใส่บาตร แล้วมีโรงครัวที่ทำเป็นโรงทานมีเตาไฟเป็นต้น โดยบางครั้งมี

ญาติโยมมาทำอาหารถวาย บางครั้งพระทำเอง อย่างนี้จะผิดวินัยไหมคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับเพศคฤหัสถ์ ก็ต้องมีการเลี้ยงชีพ นั่นคือ การประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อที่

จะดำรงชีวิตของตนเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีความสุข แม้เพศบรรพชิต

มีพระภิกษุ ท่านก็ต้อง เลี้ยงชีพ ด้วยอาชีพที่ถูกต้องสมควรกับเพศพระภิกษุ แต่ไม่ใช่

ดังเช่นคฤหัสถ์ ครับ นั่นคือ การบิณฑบาต ได้อาหารมาด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วยการ

เลียบเคียง แต่แสวงหาก้อนข้าว ด้วยการเดินไปตามตรอก สถานที่เหมาะสมด้วย

กิริยาที่สมควร เป็นต้น อันเหมาะกับเพศพระภิกษุ นี่คือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องของเพศ

พระภิกษุ การไม่บิณฑบาต ด้วยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องอาบัติ ครับ

ซึ่งพระภิกษุไม่ว่ารูปใด แม้แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ก็เสด็จบิณฑบาต เพราะเป็น

วัตรข้อปฏิบัติที่สมควร ดังนั้น พระภิกษุทุกรูป ไม่เว้นว่าใครเลย ก็ควรเป็นผู้เลี้ยงชีพ

ด้วยสุจริต คือ การบิณฑบาต เพราะ ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้สมควรกับ

เพศด้วย ดังเช่น พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่

เมืองกบิลพัสด์ เมื่อรุ่งเช้า พระพุทธเจ้าเสด็จเดินบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะ เห็น

พระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาต ขออาหาร เกิดความละอายใจ เสียใจ เหมือนกับว่าไป

ขออาหารคนอื่นเขาทาน ทั้งๆ ที่ ตัวเอง เป็นลูกกษัตริย์ พระเจ้าสุทโธทนะ รีบไปเข้า

เฝ้าพระพุทธเจ้าและได้กล่าวว่า ทำไม พระองค์ทำให้ วงศ์ของหม่อมฉันได้รับความ

อับอาย ในการเที่ยวขออาหารคนอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า วงศ์ของมหาบพิตรก็อย่าง

หนึ่ง วงศ์ของอาตมาก็อย่างหนึ่ง เป็นคนละวงศ์กัน คือ เป็นคนละเพศกันแล้ว คือ

คฤหัสถ์ กับ บรรพชิต ดังนั้น บรรพชิต แสวงหาอาหารโดยการเที่ยวไปตามตรอก ด้วย

ปลีแข้ง จึงสมควรกับวงศ์อาตมา พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ณ ที่นั้น พระเจ้าสุทโธทนะ

พระราชบิดา บรรลุเป็นพระโสดาบัน

จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึง การประพฤติอันสมควร กับเพศบรรพชิต พระภิกษุ

แม้แต่พระพุทธเจ้า ยังแสวงหาก้อนข้าวดวยการเที่ยวบิณฑบาต จะกล่าวไปใยถึงภิกษุ

รูปอื่นๆ ครับ ก็ควรเป็นผู้แสวงหาอาหารด้วยความสุจริต ด้วยการบิณฑบาตครับ ไม่ใช่

ฝากผู้อื่นไปแทน นอกเสียจากเหตุจำเป็นบางอย่าง ครับ

พระภิกษุ ไม่ต้องไปบิณฑบาต ในกรณีที่ คฤหัสถ์นิมนต์ ไปฉันที่วัดหรือที่อื่น ก็ไม่

ต้องบิณฑบาต หากฝนตก ก็สามารถกางร่มได้ แต่ถ้าป่วยก็อนุญาตไว้ ครับ และ ถ้า

สถานที่นั้น เป็นที่ที่มีภัยต่างๆ ทีเกิดขึ้น มี สงคราม หรือ ภัยร้ายแรง ก็ไม่ต้อง

บิณฑบาตได้ ครับ นี่คือมีเหตุจำเป็นจึงไม่บิณฑบาต

พระภิกษุ ควรเป็นผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน การไม่บิณฑบาต ทั้งๆ ที่มีแรง

ไม่ได้อยู่ในกรณียกเว้นใด การไม่บิณฑบาต เพราะความเกียจคร้าน ย่อมต้องอาบัติ

และเสื่อมจากคุณธรรมได้ ครับ และการที่พระทำอาหารก็เป็นอาบัติครับ ซึ่งการหุง

ต้ม การประกอบอาหาร เป็นกิจของคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม พระภิกษุเป็นบรรพชิต

เป็นนักบวช ไม่ควรทำกิจเหมือนคฤหัสถ์ การหุงต้มประกอบอาหารเป็นเรื่องยุ่งยาก

เป็นเครื่องกังวลมีกิจมาก ถ้าพระภิกษุมัวไปทำอาหารอยู่ ย่อมไม่มีเวลาศึกษาพระ

ธรรมวินัย ไม่มีเวลาเจริญสมณธรรมเพื่อการบรรลุธรรม ครับ

เชิญคลิกอ่านได้ที่...

ห้ามพระภิกษุฉันอามิส และหุงต้มเอง [มหาวรรค]

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย nongnooch  วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 30 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบิณฑบาต เป็นวัตรของพระภิกษุซึ่งเป็นเพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์อย่าง

สิ้นเชิงเพราะเพศพระภิกษุไม่สามารถประกอบอาชีพการงานเหมือนอย่างคฤหัสถ์แล้ว

ทุกๆ วันพระภิกษุจึงมีวัตรที่จะต้องบิณฑบาต กรณีที่ไม่ออกบิณฑบาต ก็ต่อเมื่อมี

คฤหัสถ์นิมนต์ให้ไปฉันภัตาหารในบ้าน ตลอดจนถึงในขณะที่อาพาธ, เมื่อออก

บิณฑบาตก็จะต้องมีการประพฤติตามพระวินัยด้วย เพราะก็มีหลายสิกขาบททีเดียวที่

เกี่ยวเนื่องกับการบิณฑบาต สำหรับการหุงต้มอาหาร พระภิกษุไม่สามารถกระทำได้

ตลอดจนถึงไม่สามารถสะสมอาหารไว้ฉันวันต่อไปด้วย เพราะความเป็นบรรพชิต จะ

ต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าคฤหัสถ์เป็นผู้ประกอบอาหารถวาย

หรือ สามเณรประกอบอาหารถวาย พระภิกษุเป็นผู้รับภายในกาลตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง

อย่างนี้ ไม่ผิดพระวินัย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 31 ส.ค. 2556

การแสวงหาของพระ คือ การเดินบิณฑบาต แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังบิณฑบาต ค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย orawan.c  วันที่ 30 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ