กราบเรียนถามท่านอาจารย์ที่เคารพ
จาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 192
มีการเปรียบเทียบอุเบกขาที่อาศัยเรือน กับแมลงวันตอมงบน้ำอ้อย
ข้อความนี้มีความสอดคล้องกันอย่างไรหรือคะ
รบกวนท่านอาจารย์ได้อธิบายเพื่อความเข้าใจในหัวข้อนี้ยิ่งขึ้นไปอีกได้หรือเปล่าคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อุเบกขาอาศัยเรือน หมายถึง เวทนาเจตสิก ที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดขึ้นกับโลภมูลจิต โดยที่ติดข้องกับ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นกามคุณ ๕ และ อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ได้ยินเสียง ก็ติดข้องในเสียงที่ได้ยิน แต่เป็นเพียงความรู้สึกเฉยๆ ในขณะนั้น แต่ อาศัยเรือน คือ กามคุณ คือ เสียง ติดข้องในเสียงนั้น เปรียบเหมือน แมลงวันตอมงบน้ำอ้อย แมลงวัน ติดข้องในน้ำอ้อย วนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่ห่างจากน้ำอ้อย ฉันใด โลภะที่เกิดขึ้น ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ดูเหมือนไม่มีอะไร เพราะ ดูไม่ติดข้อง เพราะไม่แสดงกำลังของความติดข้องมากเท่าโสมนัส แต่ ก็วนเวียนไม่ห่างไปจากรูป เสียง กลิ่น รส ... แม้ความรู้สึกเฉยๆ แต่ก็ติดข้องแล้ว ครับ เหมือนแมลงวันที่ตอมงบน้ำอ้อย ไม่สามารถห่างไปได้เลย เพราะ ความติดข้องในงบน้ำอ้อยนั้น
ขออนุโมทนา
... แม้ความรู้สึกเฉยๆ แต่ก็ติดข้องแล้ว ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและทุกท่านๆ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) ติดข้องในอะไร? ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวทนาที่เกิดร่วมกับโลภะ มีทั้งที่เป็นอุเบกขา และ โสมนัส อย่างหนึ่งอย่างใด แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจสำหรับผู้ที่ยังมีโลภะอยู่เท่านั้น จะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจสำหรับผู้ที่ดับโลภะได้แล้ว
เป็นความจริงที่ว่า เมื่อโลภะเกิดขึ้นเป็นไป ก็ผูกไว้กับสิ่งที่ติดข้องนั้น ไม่ปล่อย ไม่สละ ไม่ยอมให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะขณะที่โลภะเกิดขึ้นนั้น กุศลธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงนี้ละเอียดเหลือเกินนะคะ ลำพังปัญญาของดิฉันที่มีอยู่น้อยนิดนี้ ประโยคเปรียบเทียบเพียงสั้นๆ (อุเบกขาที่อาศัยเรือน-แมลงวันตอมงบน้ำอ้อย) ไม่อาจอ่านแล้วเข้าใจได้เองเลย
ต้องขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา ทุกๆ ท่านที่ช่วยอธิบายและยกตัวอย่างให้ดิฉันได้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมะได้ชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ
โลภะ ความยินดีติดข้อง ในพระไตรปิฎกท่านแสดงไว้หลายอย่าง บางครั้งท่านก็เปรียบเหมือนลิงติดตัง เอามือหนึ่งแกะออก อีกมือหนึ่งก็ติด เอาเท้าไปแกะออก เท้าอีกข้างหนึ่งก็ติด เอาปากไปแกะออก ปากก็ติด สุดท้ายก็ติดหมดเลย นอกจากปัญญาเท่านั้น ที่จะละโลภะได้ ค่ะ