๘. นิคัณฐสูตร ว่าด้วยปัญหา ๑๐ ข้อของนิครณฐนาฏบุตร
โดย บ้านธัมมะ  30 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37531

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 165

๘. นิคัณฐสูตร

ว่าด้วยปัญหา ๑๐ ข้อของนิครณฐนาฏบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 165

๘. นิคัณฐสูตร

ว่าด้วยปัญหา ๑๐ ข้อของนิครณฐนาฏบุตร

[๕๗๗] ก็สมัยนั้นแล นิครณฐนาฏบุตรได้ไปถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก. จิตตคฤหบดีได้สดับข่าวว่า นิครณฐนาฎบุตรได้มาถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก. ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีพร้อมด้วยอุบาสกหลายคนเข้าไปหานิครณฐนาฏบุตรแล้ว ได้ปราศรัยกับนิครณฐนาฏบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครณฐนาฏบุตรได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านย่อมเชื่อต่อพระสมณโคดมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับวิตกวิจารมีอยู่หรือ. จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ว่า สมาธิอันไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่.

[๕๗๘] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐนาฏบุตรแลดูบริษัทของตนแล้วจึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรงไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด. จิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางลมได้ด้วยข่าย หรือจิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่าพึงกั้นกางกระแสน้ำคงคาได้ด้วยฝ่ามือของตน จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านย่อมเข้าใจเป็นไฉน คือ ญาณกับศรัทธาอะไรประณีตกว่ากัน.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 166

นิครณฐ. ดูก่อนคฤหบดี ญาณนั่นแหละประณีตกว่าศรัทธา.

จิตต. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานอันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เพราะปีติสิ้นไป ฯลฯ เข้าตติยฌาน ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าจตุตถฌาน. ฯลฯ เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จักไม่เชื่อสมณะหรือพราหมณ์ใดๆ ว่าสมาธิอันไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่.

[๕๗๙] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐนาฏบุตรได้แลดูบริษัทของตนแล้วจึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทราบคำที่ท่านพูดเมื่อสักครู่นี้แหละว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด และทราบคำที่ท่านพูดเดี๋ยวนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนั้นเป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด ถ้าคำพูดครั้งก่อนของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งหลังของท่านก็ผิด ถ้าคำพูดครั้งหลังของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งก่อนของท่านก็ผิด ก็ปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้ย่อมมาถึงแก่ท่าน เมื่อท่านเข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านั้น ก็เชิญบอกกับนิครณฐ์บริษัท. ปัญหา ๑๐ ข้อนี้ คือ ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 167

ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔ ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕ ปัญหา ๖ อุเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗ ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘ ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙ ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ ครั้นจิตตคฤหบดีได้ถามปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้กะนิครณฐนาฏบุตรเสร็จแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป.

จบ นิคัณฐสูตรที่ ๘

อรรถกถานิคัณฐสูตรที่ ๘

พึงทราบวินิจฉัยในนิคัณฐสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้.

บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า ถามว่า จิตตคฤหบดี เป็นอริยสาวกชั้นอนาคามีบุคคล ผู้มีอาคมอันถึงแล้ว รู้คำสอนแจ่มแจ้งแล้ว เหตุไรจึงเข้าไปหานิครนถ์เปลือยกายไม่มีมิ่งขวัญเล่า. ตอบว่า เพื่อปลดเปลื้องการว่าร้าย และเพื่อความรุ่งเรืองวาทะ. ได้ยินว่า พวกนิครนถ์ ย่อมเข้าไปว่าร้ายว่า พวกสาวกของสมณโคดมเป็นเช่นตอไม้ตะเคียนอันแข็ง ย่อมไม่ทำปฏิสันถารกับใครเลย จิตตคฤหบดีเข้าไปหาแล้ว เพื่อปลดเปลื้องการว่าร้ายนั้น และคิดว่า เราจักยกวาทะกับนิครนถ์นั้นดังนี้. บทว่า น ขฺวาหํ เอตฺถ ภนฺเต ภควโค สทฺธาย คจฺฉามิ ท่านแสดงว่า บุคคลใด ย่อมไม่ทำให้แจ้งด้วยญาณ บุคคลนั้น พึงไปด้วยความเชื่อต่อบุคคลอื่นว่า ได้ยินว่าสิ่งนั่น เป็นอย่างนั้น แต่สิ่งนั้นอันเราทำให้แจ้งแล้วด้วยญาณ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อนี้ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 168

บทว่า อปโลเกตฺวา ความว่า น้อมกายเข้าไป ยืดท้อง ชูคอ เพ่งดูไปในทิศทั้งปวง. บทว่า พาเธตพฺพํ มญฺเยฺย ความว่า จิตตคฤหบดีนั้น พึงเข้าใจว่า พึงห้ามลม หรือพึงผูกไว้ด้วยตาข่าย โดยประการที่ลมจะออกไปไม่ได้ฉะนั้น.

บทว่า สหธมฺมิกา คือพร้อมด้วยเหตุ. บทว่า ปมํ ปฏิหเรยฺยาสิ สทฺธึ นิคฺคณฺปริสาย ความว่า เมื่อท่านรู้เนื้อความแห่งปัญหาเหล่านั้นแล้ว พึงบอกกับนิครนถ์บริษัทก่อน ท่านมายังสำนักของเราผู้สนับสนุนแล้ว พึงประกาศให้บริษัทรู้ว่าตนมาแล้ว ดังนี้. บทว่า เอโก ปญฺโห คือมรรคปัญหาหนึ่ง. อธิบายว่า การแสวงหาปัญหาหนึ่ง. บทว่า เอโก อุทฺเทโส คือ อะไร ชื่อว่าหนึ่ง. หนึ่งนี้ คืออุเทศ. บทว่า เอกํ พฺยากรณํ ความว่า คำนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ชื่อว่า ไวยากรณ์หนึ่ง. พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงอย่างนี้.

จบ อรรถกถานิคัณฐสูตรที่ ๘