[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 529
ตติยปัณณาสก์
อาปายิกวรรคที่ ๒
๓. อัปปเมยยสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๓ จําพวก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 529
๓. อัปปเมยยสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวก
[๕๕๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร คือ (สุปฺปเมยฺย) คนประมาณง่าย (ทุปฺปเมยฺย) คนประมาณยาก (อปฺปเมยฺย) คนประมาณไม่ได้
คนประมาณง่ายเป็นอย่างไร? บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นคนหยิ่ง ยกตัวเอง หลุกหลิก ปากกล้า พูดพล่าม ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ใจไม่มั่นคง วอกแวก มีอินทรีย์อันเปิดเผย (คือ ไม่สำรวมอินทรีย์) นี่เรียกว่า คนประมาณง่าย
คนประมาณยากเป็นอย่างไร? บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นคนไม่หยิ่ง ไม่ยกตัว ไม่หลุกหลิก ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ใจมั่นคง แน่วแน่ มีอินทรีย์อันสำรวม นี่เรียกว่า คนประมาณยาก.
คนประมาณไม่ได้เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว นี่เรียกว่า คนประมาณไม่ได้.
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก.
จบอัปปเมยยสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 530
อรรถกถาอัปปเมยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอัปปเมยยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้:-
บุคคล ชื่อว่า สุปฺปเมยฺโย เพราะประมาณได้โดยง่าย. ชื่อว่า ทุปฺปเมยฺโย เพราะประมาณได้โดยยาก. ชื่อว่า อปฺปเมยฺโย เพราะไม่อาจประมาณได้. บทว่า อุนฺนโฬ ได้แก่ บุคคลผู้เป็นเหมือนไม้อ้อที่พุ่งขึ้น อธิบายว่า ยกมานะที่ว่างเปล่าขึ้นตั้งไว้. บทว่า จปโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความหลุกหลิก มีการตกแต่งบาตรเป็นต้น. บทว่า มุขโร ได้แก่ คนปากจัด. บทว่า วิกิณฺณวาโจ ได้แก่ คนผู้ไม่สำรวมถ้อยคำ. บทว่า อสมาหิโต ได้แก่ ผู้ไม่มีจิตเป็นสมาธิ. บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตเปลี่ยว เปรียบเหมือนแม่โคและเนื้อป่าตัวตื่นเตลิด. บทว่า ปากตินทฺริโย ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์อันเปิดเผย. บทที่เหลือในพระสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาอัปปเมยยสูตรที่ ๓