ความห่วงใยในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ
โดย สารธรรม  13 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43827

ต่อไปประการที่ ๘ อาพาธปลิโพธ ซึ่งได้แก่การเจ็บไข้ได้ป่วย ความกังวลห่วงใยในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานเลย ถ้าผู้นั้นเข้าใจเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่เข้าใจ อะไรๆ ก็ดูจะเป็นเครื่องกั้นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่อยู่ก็กั้น ญาติพี่น้องก็กั้น การงานก็กั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกั้น ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมด ไม่ให้มีสติเกิดขึ้นได้เลย นั่นเป็นเรื่องของผู้ที่ไม่รู้ นั่นเป็นเรื่องของผู้ที่ไม่เข้าใจ แต่ว่าผู้ที่มีความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะไม่มีอุปสรรค จะไม่มีอะไรกั้น

ความเข้าใจเป็นอาหาร โยนิโสมนสิการในขณะที่ฟังแล้วเกิดความเข้าใจ เป็นปัจจัยทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้

เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านได้พิจารณาว่าอะไรที่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติ โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้น มีตา ก็มีโรคตา มีหู ก็ต้องมีโรคหู มีจมูก ก็ต้องมีโรคจมูก มีลิ้น ก็ต้องมีโรคลิ้น มีกาย ก็ต้องมีโรคกาย เป็นของธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงให้เห็นว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานสำหรับผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คิลายนสูตร มีข้อความว่า

... ... ... ... ...

เสียดายไหมถ้าจะต้องจากโลกนี้ ยังเสียดาย เพราะฉะนั้น ถ้าป่วยหนัก ก็คงจะต้องอาศัยพระสูตรนี้ คือ คิลายนสูตร แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานอยู่เนืองๆ สูตรนี้ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะยังไม่ประจักษ์ในสภาพธรรมจนกระทั่งไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์

จากสูตรนี้คงจะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่เป็นไข้หนักก็เจริญสติปัฏฐานได้ ละสักกายะได้ แต่การที่จะละได้นั้น ไม่ใช่ว่านึกละ พอได้ฟังก็นึกละสักกายะ ขันธ์ ๕ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ไม่เป็นไปอย่างที่คิดเลย เพราะการที่จะละได้จริงๆ นั้น ต้องอาศัยเหตุ คือ การเจริญปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติ ระลึกรู้ลักษณะของขั้นธ์ ๕ ที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญานั้นจะเจริญคมกล้า รู้ชัด แล้วจึงจะละได้

ที่มา และ รับฟังเพิ่มเติม ...

อาพาธปลิโพธ ความกังวลในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ