๖. อุทัญจนีชาดก ว่าด้วยหญิงโฉด
โดย บ้านธัมมะ  18 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35494

[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 405

๖. อุทัญจนีชาดก

ว่าด้วยหญิงโฉด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 405

๖. อุทัญจนีชาดก

ว่าด้วยหญิงโฉด

[๑๐๖] "หญิงโฉดผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉัน ผู้มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข จะขอน้ำมันหรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานภรรยา".

จบ อุทัญจนีชาดกที่ ๖

อรรถกถาอุทัญจนีชาดกที่ ๖

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการเล้าโลมของถุลกุมาริกา (หญิงสาวเจ้าเนื้อ) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สุขํ วต มํ ชีวนฺตํ" ดังนี้.

เนื้อเรื่องจักแจ่มแจ้งในจูฬนารทกัสสปชาดก เตรสกนิบาต นั่นแล ก็พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอกระสันจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามต่อไปว่า จิตของเธอปฏิพัทธ์ในอะไรเล่า เธอกราบทูลว่า ในหญิงสาวเจ้าเนื้อนางหนึ่ง พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ นางนี้เคยทำความฉิบหายให้เธอ แม้ในกาลก่อนเธออาศัยนางนี่


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 406

ถึงความเสื่อมจากศีล เที่ยวซบเซาไป ต่ออาศัยบัณฑิตจึงได้ความสุข แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

เมื่อเรื่องในอดีตตั้งแต่คำว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี เป็นต้น ก็จักแจ่มแจ้งในจูฬนารทกัสสปชาดกเหมือนกัน ก็ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือผลาผลมาในเวลาเย็น เปิดประตูบรรณศาลาเข้าไป ได้พูดคำนี้กะดาบสน้อยผู้บุตรว่า พ่อเอ๋ย ในวันอื่นๆ เจ้าหักฟืน ตักน้ำดื่มไว้ ก่อไฟไว้ แต่วันนี้ไม่ทำแม้สักอย่างเดียว เหตุไรเล่าเจ้าจึงมีหน้าเศร้า นั่งซบเซาอยู่ ดาบสน้อยตอบว่า ข้าแต่พ่อ เมื่อท่านพ่อไปหาผลาผล หญิงคนหนึ่งมาเล้าโล้มกระผมชวนให้ไปด้วย แต่กระผมผัดไว้ว่า ต่อท่านพ่ออนุญาตแล้วจึงจักไป จึงยังไม่ได้ไป กระผมให้นางนั่งรออยู่ที่ตรงโน้นแล้วกลับมา คราวนี้กระผมจักไปละครับ ท่านพ่อ พระโพธิสัตว์ทราบว่า เราไม่อาจเหนี่ยวรั้งเขาไว้ได้ จึงอนุญาต โดยสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นจงไปเถิดพ่อ แต่เขาพาเจ้าไปแล้ว เมื่อใดนางอยากกินปลา กินเนื้อ หรือมีความต้องการเนย เกลือ และข้าวสารเป็นต้น เมื่อนั้นนางจักเคี่ยวเข็ญเจ้าว่า จงไปหาสิ่งนี้ๆ มาให้ ตอนนั้นเจ้าจงนึกถึงคุณของพ่อ แล้วพึงหนีมาที่นี่เถิด ดาบสได้ไปถิ่นมนุษย์กับนาง ครั้งนั้นนางก็ให้เขาตกอยู่ในอำนาจของตน ต้องการสิ่งใดๆ ก็ใช้ให้ไปหาสิ่งนั้นๆ มา เช่นสั่งว่า จงไปหาเนื้อมา จงไปหาปลามา คราวนั้นเขาก็ได้คิดว่า นางนี่เคี่ยวเข็ญ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 407

ให้เราทำอย่างกับเป็นทาสกรรมกรของตน แล้วหนีมาสู่สำนักของบิดา ไหว้บิดาแล้ว ทั้งๆ ที่ยืนอยู่นั่นแหละ กล่าวคาถานี้ ความว่า.

"หญิงโฉดผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉัน ผู้มีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข จะขอน้ำมันหรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานภรรยา" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ วต มํ ชีวนฺตํ ความว่า ท่านพ่อขอรับ หญิงนั้นทำผมผู้เคยเป็นอยู่สบายในสำนักของท่านพ่อ ให้เดือดร้อน.

บทว่า ปจมานา ความว่า ถูกมันทำให้เดือดร้อน บังคับเคี่ยวเข็ญ ต้องการจะกินสิ่งใดๆ ก็เคี่ยวเข็ญเอาสิ่งนั้น หญิงชื่อว่า อุทัญจนี เพราะนำไปด้วยหม้อ.

บทว่า อุทญฺจนี นี้ เป็นชื่อของหญิงผู้ตักตวงน้ำจากตุ่มหรือจากบ่อ ก็หญิงประเภทอุทัญจนีนั้น ต้องการสิ่งใดๆ ก็จะใช้ให้หาสิ่งนั้นๆ มาให้จงได้ ดุจตักตวงเอาน้ำด้วยหม้อ.

บทว่า โจริํ ชายปฺปวาเทน ความว่า หญิงโฉดนางหนึ่ง อ้างตนเป็นภรรยา โอ้โลมกระผมด้วยคำอันอ่อนหวาน พาไปในถิ่นมนุษย์ มันต้องการน้ำมันหรือเกลืออย่างหนึ่งอย่างใด จะเคี่ยวเข็ญขอสิ่งนั้นๆ ทุกอย่าง ให้นำมาให้ เหมือนเป็นทาสเป็นกรรมกร เหตุนั้น กระผมจึงบอกเล่ากล่าวโทษของมันไว้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 10 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 408

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ก็ปลอบดาบสน้อยนั้นว่า ช่างมันเถิดพ่อ มาเถิด เจ้าจงเจริญเมตตากรุณาไว้เถิด แล้วบอกพรหมวิหาร ๔ ให้ บอกกสิณบริกรรมให้ ไม่นานนักดาบสน้อยนั้นก็ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดได้ เจริญพรหมวิหารแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก พร้อมด้วยบิดา.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงในโสดาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า ถุลกุมาริกาในครั้งนั้น ได้มาเป็นถุลกุมาริกาในบัดนี้ ดาบสน้อย ได้มาเป็นภิกษุผู้กระสัน ส่วนดาบสผู้บิดา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอุทัญจนีชาดกที่ ๖