สามารถเจริญสติได้หรือไม่ เพราะมีน้องที่มีปัญหาทางด้านจิตเวช ทำไมถึงพูดจารู้เรื่อง ถูกต้อง เหมือนคนปกติ แต่เวลาให้ทำงานต่างๆ กลับทำไม่ค่อยได้ สมาธิสั้น แถมรู้มาก เอาเปรียบคนอื่นอีก คืองานที่พอช่วยได้ก็ไม่ช่วย บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง
ผู้ที่มีปัญหาทางจิตมีหลายระดับหลายประเภทถ้าบุคคลใดฟังพระธรรมและศึกษา พระธรรมเข้าใจ รู้คำสุภาษิต รู้คำทุพภาษิตได้ บุคคลนั้นย่อมอบรมเจริญปัญญาได้ ตามสมควรแก่ฐานะ
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่กระทู้นี้ครับ
คนที่มีอาการทางจิตสามารถศึกษาธรรมได้หรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ถ้าหากมองตามความเป็นจริงในเรื่องของสภาพธัมมะแล้วนั้น ปุถุชนก็ยังเป็นผู้ป่วยทางจิต จิตเป็นอกุศลก็ชื่อว่าป่วยทางจิต แต่สำหรับบุคคลที่ป่วยทางจิต ที่เป็นโรคจิตทางโลกนั้น เกิดจากอกุศลมีกำลังเกิดบ่อย ทั้งอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านเกิดมาก ทั้งโมหมูลจิตก็เกิดบ่อยมาก เป็นต้น จึงแสดงอาการป่วยเป็นโรคจิต หรือบุคคลที่สะสมความ เคยชินในทางอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งบ่อยๆ ซ้ำซาก ก็ทำให้ป่วยเป็นโรคจิต แต่อย่างไรก็ตาม อกุศลก็สะสมส่วนของอกุศล กุศลก็สะสมส่วนของกุศล (ปัญญา) เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถที่จะอบรมปัญญาได้ แต่ถ้าเหตุปัจจัยไม่พร้อม แม้คนที่ไม่ป่วย เป็นโรคจิต เป็นคนปกติทั่วไปทางโลกที่เข้าใจกัน ก็ไม่สามารถฟังพระธรรมรู้เรื่อง เพราะไม่ได้สะสมความเข้าใจมา แถมเข้าใจธรรมผิดหนักกว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิตอีกต่างหากครับ ดังนั้น เราจึงไม่รู้การสะสมของแต่ละคนเลยที่ได้สะสม ทั้งในเรื่องของปัญญาและอกุศล ครับ
ไม่ควรถือประมาณเอาเองในบุคคลอื่น เพราะเราไม่รู้สิ่งที่สะสมมาของสัตว์โลก
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๒๔๑
ข้อความบางตอนจาก...
มิคสาลาสูตร
ว่าด้วยไม่ให้ถือประมาณให้บุคคลว่าเสื่อมหรือเจริญ แต่ให้ถือประมาณธรรม
ใคร่เล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้นอกจากตถาคต ดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าประมาณในบุคคลและอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้.
ขณะที่เป็นอกุศล เช่น ถีนมิทธ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ป่วยไข้
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๕๔
อธิบายนีวรณโคจฉกะ
ว่าด้วยถีนมิทธนิทเทส
พึงทราบวินิจฉัยในถีนมิทธนิทเทสแห่งนีวรณโคจฉกะ ต่อไป. บทว่า จิตฺตสฺส อกลฺยตา (ความไม่สมประกอบแห่งจิต) คือภาว แห่งคนป่วยไข้. จริงอยู่ คนป่วยไข้ ตรัสเรียกว่า อกลฺยโก (ผู้มีสุขภาพไม่ดี) แม้ในวินัยก็กล่าวไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถ ดังนี้.
ความป่วยไข้คือขณะที่มีกิเลส ขณะเป็นกุศลไม่มีกิเลส ไม่ป่วยไข้
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๒๖
อธิบายคำว่า กุศล
บัณฑิตพึงทราบธรรมที่ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่าไม่มีโรค เพราะ ความไม่มีความกระสับกระส่ายด้วยกิเลส ไม่มีความป่วยไข้คือกิเลส ไม่มีพยาธิ คือกิเลสในอรูปธรรมเลย เหมือนคำที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่า ไม่มีโรค เพราะไม่มีความกระสับกระส่ายในร่างกาย เพราะไม่มีความป่วยไข้ ในร่างกาย เพราะไม่มีพยาธิในร่างกาย ดุจในคำว่า ความไม่มีโรคมีแก่ท่าน ผู้เจริญบ้างแลหรือ.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ธรรมะรักษาได้ทุกโรค อย่างเช่น นางปฏาจาราสูญเสียพ่อ แม่ พี่ชาย สามี และลูก ๒ คนในวันเดียวกัน ท่านก็เสียใจจนขาดสติเป็นบ้า ภายหลังได้มาฟังธรรมะจาก พระพุทธเจ้าก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน และออกบวช ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ค่ะ
ขออนุโมทนาครับ